ระยะที่ 2 ระยะช็อกและมีเลือดออก
อาการนี้จะพบในช่วงระหว่างวันที่ 3 – 7 ของการป่วย อาการไข้ของผู้ป่วยจะเริ่มลดลง แต่กลับอาเจียน ปวดท้องบ่อยขึ้น ซึมมากขึ้น ตัวเย็น มือเท้าเย็น กระสับกระส่าย เหงื่อแตก ปัสสาวะออกน้อย ชีพจรเต้นแผ่วแต่เร็ว และความดันต่ำ ซึ่งเป็นภาวะช็อก และหากไม่ได้รับการรักษาภายใน 1 – 2 วัน อาจทำให้เสียชีวิตได้
นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจมีอาการเลือดออกตามผิวหนัง เลือดกำเดาไหล อาเจียนเป็นเลือดหรือสีกาแฟ ถ่ายเป็นเลือด ซึ่งหากอยู่ในภาวะนี้ อาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากขึ้น และถ้ายังไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาจเสียชีวิตภายใน 24 – 27 ชั่วโมง แต่หากผู้ป่วยสามารถประคองอาการให้ผ่านพ้นระยะนี้มาได้ ก็จะเข้าสู่ระยะที่ 3 ของโรคไข้เลือดออก
ระยะที่ 3 ระยะฟื้นตัว
ในผู้ป่วยที่ไม่มีอาการช็อก หรือช็อกไม่รุนแรง และได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาการของผู้ป่วยจะฟื้นตัวสู่สภาพปกติ โดยผู้ป่วยจะรู้สึกตัวและร่าเริงขึ้น เริ่มกินอาหารได้ โดยอาการจะดีขึ้นตามลำดับภายในช่วงระยะ 7 – 10 วัน หลังจากผ่านพ้นระยะที่ 2 ของโรค
ภาวะช็อก ของอาการไข้เลือดออก ที่พ่อแม่ต้องระวัง!
ซึ่งสิ่งที่ทำให้โรคไข้เลือดออกเป็นโรคที่น่ากลัว เป็นเพราะหากลูกมีอาการรุนแรงถึงขั้นช็อกนั้นเป็นช่วงเวลาที่ ไข้ลด ตัวเย็น แต่ลูกจะมีสติพูดจารู้เรื่อง ทำให้พ่อแม่นึกว่าปลอดภัยเพราะไข้ลดลงแล้วและไม่พาไปพบแพทย์ แต่แท้ที่จริงผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลียมากเนื่องจากกำลังอยู่ในภาวะช็อกนั่นเอง!!!
และในบางครั้งกว่าคุณพ่อคุณแม่จะพาไปพบแพทย์ก็อาจมีภาวะช็อกนาน และมีภาวะแทรกซ้อนคือ ตับ/ไตวายหรือมีเลือดออกมากแล้ว ซึ่งสาเหตุหลักของการเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกก็มาจากภาวะช็อกนานนั่นเอง
อาการที่บ่งชี้ว่าควรมาพบแพทย์ทันที
ไข้ลดต่ำลงหรือไม่มีไข้แต่ยังอ่อนเพลีย ไม่สามารถทำกิจกรรมตามปรกติ หรือไม่สามารถรับประทานอาหารได้ อาการนำของภาวะช็อกที่ต้องสังเกตและพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลทันทีโดยเฉพาะเวลาไข้ต่ำลงหรือไม่มีไข้ ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียนหรือปวดท้องมาก กระสับกระส่าย มีเลือดออกมาก เช่น เลือดกำเดา หรือถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ กระหายน้ำตลอดเวลา ปัสสาวะน้อยลงหรือไม่ถ่ายปัสสาวะนานเกิน 4-6 ชั่วโมง
สำหรับเด็กทารกที่ป่วยเป็นไข้เลือดออกอาจจะสังเกตอาการยากกว่าในเด็กโตและผู้ใหญ่ อย่างไรก็ตาม หากพบว่ามีไข้ควรสังเกตว่ามีจุดเลือดออกแดงๆตามผิวหนังหรือไม่ มีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องหรือไม่ ถ้ารับประทานอาหารได้น้อยหรือไม่ได้ควรพาไปพบแพทย์ทันที
ทั้งนี้ไม่ควรให้ยาลดไข้สูงและแอสไพริน เพราะอาจทำให้เป็นแผลและเลือดออกในกระเพาะอาหารมาก ควรกระตุ้นให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารอ่อนๆ หรือดื่มนม น้ำผลไม้ น้ำข้าว หรือน้ำเกลือแร่ ไม่ควรดื่มน้ำเปล่าเพราะขาดแร่ธาตุและพลังงาน
และหากลูกมีไข้เกิน 3 วัน ควรพาไปพบแพทย์ แพทย์จะตรวจร่างกายโดยละเอียด รัดแขนแน่นๆ เพื่อหาจุดเลือดออก และต้องมีการตรวจเลือดเบื้องต้นเพื่อการวินิจฉัยและติดตามอย่างถูกต้อง
การป้องกันลูกน้อยจากโรคร้ายที่มาจากยุงลาย
ทั้งนี้หากช่วงที่มีฝนตกค่อนข้างยาวนาน ก็ทำให้เกิดแหล่งน้ำขังต่างๆ ซึ่งจะเป็นแหล่งแพร่กระจายพันธุ์ของยุงลายได้เป็นอย่างดี แต่คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถช่วยกันหยุดโรคไข้เลือดออกได้ด้วยตัวเอง
เพราะเนื่องจากยุงลายตัวเมียนั้นเมื่อไปกัดเด็กที่ป่วยเป็นไข้เลือดออกก็จะรับเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคไข้เลือดออกเข้าสู่ตัว และเมื่อไปกัดเด็กคนอื่นอีกจะก็ทำให้เด็กที่ถูกกัดนั้นติดเชื้อไวรัสและป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก ซึ่งยุงลายตัวเมียนั้นจะมีอายุ 45-60 วัน ซึ่งอาจเป็นระยะเวลาที่ไม่นาน แต่สิ่งที่น่ากังวลกว่าคือยุงลายนั้นสามารถที่จะแพร่ขยายพันธุ์ได้โดยวางไข่มากถึง 50-150 ฟอง หรือยุงลายตัวเมียเพียงตัวเดียวจะสามารถให้กำเนิดลูกยุงได้ถึง 500 ตัว
ดังนั้นการสกัดกั้นการแพร่พันธุ์ของยุงลายจึงเป็นวิธีการที่ได้ผลมากที่สุดในการลดการระบาดของโรคไข้เลือดออก ซึ่งยุงลายจะวางไข่ในแหล่งน้ำสะอาดที่มีสภาพขังนิ่ง โดยมีจุดเสี่ยงทั้งหมด 7 แห่งด้วยกัน ดังนี้
อ่านต่อ >> “จุดเสี่ยง 7 ที่ที่มียุงลายอยู่ พ่อแม่ต้องรีบทำลาย” คลิกหน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่