อาเจียนหนัก เกิดจากอะไร - Amarin Baby & Kids

อาเจียนหนัก เกิดจากอะไร

Alternative Textaccount_circle
event

อาการอาเจียนเกิดจากหลายสาเหตุ ทั้งในและนอกระบบทางเดินอาหาร หรืออาจเกิดจากปัญหาทางจิตใจ หากอาเจียนรุนแรงจะเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ขาดอาหาร ขาดน้ำ เสียสมดุลเกลือแร่ในเลือด จนเด็กมีอาการซึม ต้องแก้ไขด้วยการให้น้ำเกลือทดแทน
ถ้าเป็นการอาเจียนแบบเฉียบพลัน (เป็นไม่นาน เมื่อหายแล้วไม่กลับมาเป็นซ้ำๆ อีก)มักเกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารเช่น อาหารเป็นพิษ ลำไส้อักเสบ หรือมีภาวะลำไส้อุดตันเพราะลำไส้กลืนกัน อวัยวะในช่องท้องอักเสบ เช่น ไส้ติ่งอักเสบ ตับอักเสบ
แต่อาการของลูกคุณแม่น่าจะเป็นการอาเจียนแบบเรื้อรังมากกว่า (เป็นมานานแล้วพอดีขึ้นเป็นปกติ ก็กลับมาเป็นใหม่ซ้ำๆ)คุณแม่ไม่ได้บอกอายุลูกมาด้วย หมอจึงขอตอบกว้างๆ ว่า สาเหตุอาจเกิดจาก
– ความผิดปกติของลำไส้แต่กำเนิด เช่นลำไส้อยู่ผิดตำแหน่ง ลำไส้ตีบแคบเป็นบางส่วน ลำไส้บีบตัวช้าผิดปกติ กล้ามเนื้อหูรูดที่หลอดอาหารทำงานผิดปกติ โรคแผลในกระเพาะอาหาร วินิจฉัยได้โดยการเอกซเรย์การกลืนหรือสวนแป้ง การส่องกล้องตรวจทางเดินอาหาร และการทำอัลตราซาวนด์ช่องท้อง รักษาได้โดยการผ่าตัดหรือใช้ยา
– หากเป็นทารกหรือเด็กเล็ก อาจมีประวัติภูมิแพ้ในครอบครัว หรือตัวเด็กเองมีอาการภูมิแพ้ทางระบบอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น มีผื่นแพ้แพ้อากาศ ไซนัส และหอบหืด ซึ่งเด็กมักเริ่มมีอาการอาเจียนหลังเปลี่ยนจากนมแม่เป็นนมวัวได้ไม่นาน อาจมีอาการปวดท้องและถ่ายเหลวด้วยก็ได้ วินิจฉัยได้โดยการให้งดนมวัวสักระยะเพื่อดูว่าอาการดีขึ้นหรือไม่ แล้วลองกลับมากินใหม่เพื่อพิสูจน์ ส่วนการทดสอบทางผิวหนังหรือเจาะเลือดจะไม่แม่นยำแบบ 100 เปอร์เซ็นต์เต็ม
– ความผิดปกติของสมอง เช่น มีเนื้องอกซึ่งทำให้ความดันในสมองเพิ่มขึ้น หรือมีเนื้องอกอยู่ในตำแหน่งศูนย์ควบคุมการอาเจียนพอดี เด็กมักมีอาการซึมและปวดศีรษะ อาจตรวจพบความผิดปกติทางระบบประสาทและจอประสาทตา วินิจฉัยได้โดยการทำคอมพิวเตอร์สมอง
– ความผิดปกติทางเมแทบอลิก ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรมที่ถ่ายทอดโดยยีนด้อยพบได้ไม่บ่อยนัก เกิดจากการขาดเอนไซม์สำคัญที่ควบคุมการทำงานของเซลล์ในร่างกายทำให้เด็กเติบโตช้า ดูดนมไม่เก่ง พัฒนาการช้า อาจเป็นโรคลมชัก ตับโต และกล้ามเนื้ออ่อนแรงด้วย มักมีประวัติการเสียชีวิตของพี่น้องตั้งแต่ยังเล็กโดยไม่ทราบสาเหตุ แม่มีประวัติแท้งบ่อย หรือพ่อแม่เป็นเครือญาติกัน (เพราะต่างคนต่างมียีนด้อยชนิดเดียวกันเมื่อยีนด้อยมาเจอกับยีนด้อยจึงมีโอกาสเป็นโรคทางพันธุกรรมได้ง่ายขึ้น)
– เป็นโรค Cyclic Vomiting Syndromeซึ่งพบบ่อยในเด็กวัย 2 – 7 ขวบ เด็กจะมีอาการอาเจียน ปวดท้อง คลื่นไส้ หน้าซีดปวดศีรษะ ซึม เบื่ออาหาร อาจมีอาการนานเป็นชั่วโมงหรือหลายวัน แล้วหายเป็นปกติดีระยะหนึ่ง จากนั้นจะกลับมาอาเจียนเหมือนเดิมอีกทุกๆ หลายสัปดาห์หรือหลายเดือน เมื่อตรวจร่างกายและตรวจทางลำไส้จะไม่พบความผิดปกติ ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอน แต่ถือว่าเป็นโรคกลุ่มเดียวกับไมเกรน มักมีประวัติไมเกรนหรืออาเจียนแบบเดียวกันในครอบครัว ในรายที่เป็นบ่อยกว่าเดือนละ 1 ครั้ง อาจพิจารณาใช้ยาป้องกัน คล้ายการป้องกันไมเกรน และหลีกเลี่ยงอาหารบางอย่างที่กระตุ้นให้เกิดอาการ เช่น ช็อกโกแลตและเนยแข็ง

 

 

บทความโดย: แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจกุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด
ภาพ : shutterstock

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up