เช็คด่วน!! 12 พฤติกรรมเข้าข่ายเป็นโรคซึมเศร้า
โรคร้ายที่ทำลายชีวิตผู้คนไม่ได้มีแต่โรคทางกาย แต่ยังมีโรคทางจิตที่ค่อย ๆ กัดกร่อนกำลังใจในการมีชีวิตอยู่ของผู้ป่วยไปทีละน้อย นั่นคือโรคซึมเศร้า ที่ผ่านมาคุณแม่ ๆ และคุณพ่ออาจได้รู้จักโรคนี้ผ่านข้อมูลโรคซึมเศร้าหลังคลอดที่มักเกิดกับคุณแม่มือใหม่มาบ้างแล้ว วันนี้ทีมบรรณาธิการ ABK ได้นำ 12 พฤติกรรมเข้าข่ายเป็นโรคซึมเศร้า มาให้คุณพ่อคุณแม่ได้เช็คกันว่า ตัวเองหรือคนรอบข้างมีพฤติกรรมเข้าข่ายบ้างไหม เพื่อการรักษาที่ทันท่วงทีนะคะ
สาเหตุของโรคซึมเศร้า
- กรรมพันธุ์ มีส่วนเกี่ยวข้องสูงในโรคซึมเศร้า โดยเฉพาะในกรณีของผู้ที่มีอาการเป็นซ้ำหลาย ๆ ครั้ง
- สารเคมีในสมอง พบว่าระบบสารเคมีในสมองของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า เปลี่ยนแปลงไปจากปกติอย่างชัดเจน โดยมีสารที่สำคัญ ได้แก่ ซีโรโทนิน (serotonin) และนอร์เอพิเนฟริน (norepinephrine) ลดต่ำลง รวมทั้งอาจมีความผิดปกติของเซลล์รับสื่อเคมีเหล่านี้ ปัจจุบันเชื่อว่าเป็นความบกพร่องในการควบคุมประสานงานร่วมกัน มากกว่าเป็นความผิดปกติที่ระบบใดระบบหนึ่ง
- ลักษณะนิสัย บางคนมีแนวคิดที่ทำให้ตนเองซึมเศร้า เช่น มองตนเองในแง่ลบ มองอดีตเห็นแต่ความบกพร่องของตนเอง หรือ มองโลกในแง่ร้าย เป็นต้น บุคคลเหล่านี้ เมื่อเผชิญกับสถานการณ์ที่กดดัน เช่น ตกงาน หย่าร้าง ถูกทอดทิ้ง ก็มีแนวโน้มที่จะเกิดอาการซึมเศร้าได้ง่าย ซึ่งหากไม่ได้รับการช่วยเหลือที่เหมาะสม อาการอาจมากจนกลายเป็นโรคซึมเศร้าได้
แบบประเมิน พฤติกรรมเข้าข่ายเป็นโรคซึมเศร้า
12 พฤติกรรมเข้าข่ายเป็นโรคซึมเศร้า
- ขาดความสนใจ หรือความเพลิดเพลินในการทำกิจกรรมต่าง ๆ
- มีปัญหาในการทำงาน และการใช้ชีวิตในสังคม
- เบื่ออาหาร หรืออยากอาหารมากขึ้น
- มีความคิด หรือพยายามฆ่าตัวตาย
- เหนื่อย และอ่อนเพลียตลอดเวลา
- รู้สึกตัวเองไร้ค่า
- รู้สึกเศร้า ท้อแม้สิ้นหวัง
- นอนมาก หรือน้อยกว่าปกติ
- เก็บตัว แยกตัวออกจากสังคม
- รู้สึกผิด และโทษตนเองตลอดเวลา
- เคลื่อนไหวช้าลง หรือกระสับกระส่าย
- ความสามารถในการคิด และการตัดสินใจน้อยลง
เรื่องควรรู้เกี่ยวกับการรักษาด้วยยา
- อาการของโรคไม่ได้หายทันทีที่กินยา โดยเฉพาะอาการซึมเศร้า ส่วนใหญ่จะใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ขึ้นไปอาการจึงจะดีขึ้นอย่างเห็นชัด โดยทำให้ผู้ป่วยหลับได้ดีขึ้น เจริญอาหารขึ้น เริ่มรู้สึกมีเรี่ยวแรงมากขึ้น ความรู้สึกกลัดกลุ้มจะเริ่มลดลง
- ยาทุกชนิดทำให้เกิดอาการข้างเคียงได้ ควรแจ้งแพทย์ทุกครั้งหากเกิดอาการใดๆ ที่ไม่แน่ใจว่าเป็นอาการข้างเคียงหรือไม่
- ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่ไม่กล้ากินยามากตามที่แพทย์สั่ง เช่น แพทย์สั่งกิน 4 เม็ดก็กินแค่ 2 เม็ด หรือกินบ้างหยุดกินบ้าง เพราะกลัวว่าจะติดยา ถ้าขาดยาแล้วมีอาการไม่สบาย นั่นเป็นเพราะว่ายังไม่หายจากอาการของโรค การกิน ๆ หยุด ๆ หรือกินไม่ครบขนาดกลับจะยิ่งทำให้การรักษาไม่ได้ผลดี และรักษายากมากขึ้น
- ยาแก้ซึมเศร้ามีอยู่หลายตัว ขึ้นอยู่กับว่าผู้ป่วยคนไหนจะถูกกับยาตัวไหน ขึ้นอยู่กับว่าแพทย์มีความชำนาญ คุ้นเคยกับการใช้ยาตัวไหน ถ้าแพทย์รักษาไประยะหนึ่งแล้ว และเห็นว่าให้ยาในขนาดที่พอเพียงแล้ว ผู้ป่วยยังอาการดีขึ้นไม่มาก ก็อาจเปลี่ยนไปใช้ยาตัวอื่นต่อไป
ผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวอย่างไรบ้าง
- การออกกำลังกาย นอกจากจะช่วยทางร่างกายแล้ว จิตใจก็ยังจะดีขึ้นด้วย ในผู้ที่อาการซึมเศร้าไม่มาก จะรู้สึกว่าจิตใจคลายความเศร้า และแจ่มใสขึ้นได้ จะช่วยให้หลับได้ดีขึ้น การกินอาหารดีขึ้น การขับถ่ายดีขึ้น ถ้าได้ออกกำลังกายร่วมกับผู้อื่นด้วยก็จะยิ่งช่วยเพิ่มการเข้าสังคม ไม่รู้สึกว่าตนเองโดดเดี่ยว
- อย่าตั้งเป้าหมายในการทำงานและการปฏิบัติตัวที่ยากเกินไป การกระตุ้นตนเองมากไปกลับยิ่งจะทำให้ตัวเองรู้สึกแย่ที่ทำไม่ได้อย่างที่หวัง
- เลือกกิจกรรมที่ทำให้เกิดความรู้สึกที่ดีๆ เช่น ไปเที่ยวชายทะเล ชวนเพื่อนมาที่บ้าน พยายามทำกิจกรรมที่ทำร่วมกับคนอื่นมากกว่าที่จะอยู่คนเดียว กิจกรรมที่สร้างสรรค์ จะทำให้มีความรู้สึกที่ดีขึ้น
- อย่าตัดสินใจเรื่องที่สำคัญต่อชีวิตขณะที่อยู่ในภาวะซึมเศร้า เช่น การหย่า การลาออกจากงาน เพราะอาจทำให้การตัดสินใจผิดพลาดไปได้ ควรเลื่อนการตัดสินใจไปก่อน หากจำเป็น ก็ควรปรึกษาผู้ใกล้ชิดหลาย ๆ คนให้ช่วยคิด
- ให้แยกแยะปัญหาให้เป็นส่วนย่อยๆ จัดเรียงลำดับความสำคัญว่าเรื่องไหนควรทำก่อนหลัง แล้วลงมือทำไปตามลำดับ จะพอช่วยให้รู้สึกว่าตนเองยังทำอะไรได้อยู่
ญาติควรดูแล หรือปฏิบัติต่อผู้ป่วยอย่างไร
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก