พ่อแม่ระวัง! เช็ก 5 สัญญาณเตือน มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ - Amarin Baby & Kids
มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ

พ่อแม่ระวัง! เช็ก 5 สัญญาณเตือน มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ

Alternative Textaccount_circle
event
มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ

พ่อแม่ระวัง! เช็ก 5 สัญญาณเตือน มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ

มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ คือ ภาวะที่เซลล์เยื่อบุผิวด้านในของกระเพาะปัสสาวะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วผิดปกติจนกลายเป็นเนื้อร้าย ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปัสสาวะปนเลือด เจ็บขณะปัสสาวะ และเจ็บปวดบริเวณอุ้งเชิงกราน ทีมกองบรรณาธิการ ABK อยากชวนคุณแม่คุณพ่อมาดู 5 สัญญาณเตือนของโรคนี้กันค่ะ

สถิติผู้ป่วย มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ

จากข้อมูลทะเบียนมะเร็งประเทศไทย โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบว่า แต่ละปีมีจำนวนผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะปัสสาวะเพศชายและเพศหญิงรายใหม่ประมาณ 1,900 และ 600 คนตามลำดับ

สาเหตุ

มะเร็งกระเพาะปัสสาวะเป็นโรคที่ไม่มีสาเหตุแน่ชัด แต่ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่

  • เพศชาย มีแนวโน้มพบโรคนี้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง
  • อายุมากกว่า 40 ปี
  • สูบบุหรี่ หรือสูดดมควันบุหรี่มือสอง รวมทั้งทำงานกับสารเคมีอันตรายที่อาจก่อมะเร็ง เช่น สารหนู สีย้อม สีทาบ้าน สิ่งทอ ยาง หนัง เป็นต้น เนื่องจากกระเพาะปัสสาวะ ต้องสัมผัสกับสารพิษที่ร่างกายขับออกมาทางปัสสาวะ
  • ดื่มน้ำน้อย หรือรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง
  • ติดเชื้อ หรือระคายเคืองในกระเพาะปัสสาวะแบบเรื้อรัง เช่น เป็นนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ ใส่สายสวนปัสสาวะค้างไว้เป็นเวลานาน ติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ หรือติดเชื้อปรสิตบางชนิด เช่น พยาธิใบไม้ในเลือด ซึ่งมักทำให้เป็นมะเร็งชนิดที่ลุกลามและรักษาได้ยาก
  • เคยใช้ยาเคมีบำบัด เช่น ไซโคลฟอสฟาไมด์ หรือเคยเข้ารับการบำบัดรักษามะเร็งด้วยรังสีบริเวณอุ้งเชิงกราน
  • มีประวัติบุคคลในครอบครัว ป่วยเป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ หรือมะเร็งลำไส้ใหญ่ชนิดถ่ายทอดทางพันธุกรรม
เช็ก 5 สัญญาณเตือน มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
พ่อแม่ระวัง! เช็ก 5 สัญญาณเตือน มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ

5 สัญญาณเตือนเสี่ยง มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ

โดยทั่วไปแล้ว อาการบ่งชี้สำคัญของโรคในระบบทางเดินปัสสาวะนั้น ส่วนใหญ่จะคล้ายกันคือ “อาการปัสสาวะผิดปกติ” ควรสังเกตุ 5 สัญญาณ ดังนี้

  • ปัสสาวะเป็นเลือดมักจะเป็นๆ หายๆ แต่ไม่มีอาการเจ็บปวดร่วมด้วย ซึ่งจะแตกต่างจากโรคอื่นที่จะมีอาการปวดร่วมด้วย และนี่ถืออาการที่พบได้บ่อยที่สุดในกลุ่มผู้ป่วยโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
  • อาการผิดปกติของการถ่ายปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะบ่อย กลั้นปัสสาวะไม่ได้ หรือปัสสาวะแสบขัด ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ของอาการเหล่านี้ คือ การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
  • มีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
  • หากมะเร็งแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น อาจมีอาการปวดหลังส่วนล่าง ปวดกระดูกร่วมด้วย
  • มะเร็งในระยะแรก มักจะตรวจร่างกายไม่พบความผิดปกติ แต่ในระยะที่มีการแพร่กระจาย อาจจะตรวจพบว่ามีไตโตเนื่องจากการอุดตันท่อไตของมะเร็ง มีตับโตจากการกระจายไปยังตับ คลำพบต่อมน้ำเหลือง หรือมีขาบวม ถ้ามีการกระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง

ระยะของมะเร็ง

มะเร็งกระเพาะปัสสาวะมี 4 ระยะ ซึ่งแต่ละระยะมีระดับความรุนแรงแตกต่างกัน ดังนี้

  • ระยะที่ 1 เกิดเนื้อมะเร็งเฉพาะบริเวณเยื่อบุภายในกระเพาะปัสสาวะ
  • ระยะที่ 2 มะเร็งบางส่วน ลุกลามเข้าสู่ชั้นกล้ามเนื้อของกระเพาะปัสสาวะ แต่ยังคงจำกัดอยู่ภายในกระเพาะปัสสาวะ
  • ระยะที่ 3 มะเร็งลุกลามเข้าสู่ผนังกระเพาะปัสสาวะ และเซลล์มะเร็งลุกลามไปยังเนื้อเยื่อรอบ ๆ กระเพาะปัสสาวะ
  • ระยะที่ 4 มะเร็งลุกลามเข้าสู่ต่อมน้ำเหลือง และแพร่กระจายสู่อวัยวะอื่น ๆ เช่น ต่อมน้ำเหลือง กระดูก ตับ หรือปอด

การรักษา

การรักษามะเร็งกระเพาะปัสสาวะขึ้นอยู่กับชนิดและระยะของโรค รวมทั้งสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วยด้วย ซึ่งแพทย์มักใช้หลายวิธีร่วมกันเพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดี โดยมีรายละเอียด ดังนี้

เคมีบำบัด เป็นการใช้ยารักษาโรคมะเร็ง แพทย์มักใช้ยาอย่างน้อย 2 ชนิดร่วมกัน โดยแพทย์จะฉีดยาเข้ากระเพาะปัสสาวะผ่านทางสายสวนเพื่อรักษามะเร็งระยะเริ่มต้น หรือฉีดเข้าหลอดเลือดดำร่วมกับผ่าตัดเพื่อเพิ่มโอกาสในการรักษามะเร็งให้หายขาด และอาจใช้ร่วมกับการรักษาแบบรังสีบำบัดในกรณีที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมะเร็งลุกลามไปทั่วร่างกาย

ภูมิคุ้มกันบำบัด หรือยาฆ่าเซลล์มะเร็ง มักใช้รักษาหลังจากตัดเนื้อมะเร็งในกระเพาะปัสสาวะออกแล้วเพื่อลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำ โดยแพทย์จะฉีดวัคซีนบีซีจี (BCG) ซึ่งใช้ป้องกันวัณโรค หรืออินเตอร์เฟอรอน (Interferon Alfa-2b) ซึ่งเป็นโปรตีนที่ร่างกายใช้ต่อสู้กับเชื้อโรคโดยเฉพาะไวรัส เพื่อกระตุ้นเซลล์ภูมิคุ้มกันของร่างกายให้ต่อสู้กับเซลล์มะเร็ง หรือให้ยาฆ่าเซลล์มะเร็งเข้ากระเพาะปัสสาวะผ่านทางสายสวนแล้วทิ้งไว้ประมาณ 2 ชั่วโมง จากนั้นจึงให้ผู้ป่วยปัสสาวะออกมา และผู้ป่วยจะต้องรักษาด้วยวิธีนี้ทุกสัปดาห์เป็นเวลาอย่างน้อย 6 สัปดาห์ติดต่อกัน นอกจากนี้ แพทย์อาจฉีดแอนติบอดีชนิดสังเคราะห์ (Atezolizumab) เข้าหลอดเลือดดำเพื่อรักษามะเร็งที่ไม่สามารถรักษาด้วยเคมีบำบัด หรือมะเร็งที่ลุกลามไปทั่วร่างกาย

การผ่าตัด เพื่อกำจัดเนื้อมะเร็งในกระเพาะปัสสาวะและอวัยวะใกล้เคียง ซึ่งมี 2 วิธี ได้แก่

  • การผ่าตัดด้วยการส่องกล้องผ่านท่อปัสสาวะ มักใช้รักษามะเร็งระยะเริ่มต้น โดยแพทย์จะใช้อุปกรณ์รวมทั้งเลเซอร์ตัดเนื้อมะเร็งในกระเพาะปัสสาวะออกมาเพื่อตรวจหาระยะการลุกลามของเนื้อมะเร็งหรือเพื่อทำลายก้อนเนื้อมะเร็ง โดยแพทย์อาจใช้ยาชาเฉพาะที่หรือยาสลบในการผ่าตัด และอาจฉีดยาเคมีบำบัดร่วมด้วยหลังผ่าตัดเสร็จ
  • การผ่าตัดกระเพาะปัสสาวะผ่านช่องท้อง มักใช้รักษามะเร็งแบบลุกลามเข้าสู่ผนังกระเพาะปัสสาวะและเนื้อเยื่อหรืออวัยวะในบริเวณใกล้เคียง โดยแพทย์อาจต้องตัดกระเพาะปัสสาวะบางส่วน หรือตัดกระเพาะปัสสาวะรวมทั้งอวัยวะใกล้เคียงออก เช่น ท่อไต ต่อมน้ำเหลืองบริเวณอุ้งเชิงกราน ต่อมลูกหมาก ต่อมสร้างน้ำเลี้ยงอสุจิ มดลูก รังไข่ และช่องคลอดบางส่วน นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจต้องเข้ารับการผ่าตัดสร้างกระเพาะปัสสาวะเทียม ซึ่งมักใช้บางส่วนของลำไส้ทดแทนเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถระบายปัสสาวะออกจากร่างกายได้ โดยใช้สายสวนผ่านทางผนังหน้าท้องหรือใช้สายสวนผ่านท่อปัสสาวะ
  • รังสีบำบัด มักใช้รักษาหลังจากผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัดแล้ว หรือใช้ร่วมกับเคมีบำบัดในกรณีที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ โดยแพทย์อาจใช้วิธีวิเคราะห์ตำแหน่งของก้อนมะเร็งจากภาพถ่ายซีที สแกน หรือเอ็มอาร์ไอ แล้วฉายรังสีพลังงานสูงทำลายเซลล์มะเร็งในบริเวณที่ต้องการรักษา

      

ขอบคุณข้อมูลจาก

pobpad , โรงพยาบาลพญาไท 3, ศูนย์ศรีพัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

กระเพาะปัสสาวะอักเสบตอนท้อง อันตราย ดูแลอย่างไร

แม่แชร์ลูก ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ เพียงเพราะล้างไม่ถูกวิธี

ทำไมคนท้อง ปัสสาวะบ่อย “ฉี่”แบบไหนไม่ปกติ แม่ต้องระวัง!

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up