เช็ค 8 พฤติกรรม โนโมโฟเบีย โรคติดมือถือคุณเป็นไหม
ปัจจุบันโทรศัพท์มือถือ กลายเป็น ปัจจัยที่ 5 ของมนุษย์ไปแล้ว เนื่องจาก คุณพ่อคุณแม่แทบทุกคน ต้องใช้ โทรศัพท์มือถือ หรือสมาร์ทโฟน เป็นเครื่องมือสื่อสารในชีวิตประจำวัน หลาย ๆ คน จับมือถือตั้งแต่ตื่นนอน ระหว่างวันก็ใช้สื่อสารงาน พูดคุยส่วนตัว เล่นเกม หรือเล่นโซเชียลมีเดียต่าง ๆ จนอาจทำให้เกิดอาการ “เสพติดโทรศัพท์มือถือ” ได้ ซึ่งถือว่าเป็นโรคยุคใหม่ที่เรียกว่า โนโมโฟเบีย คุณพ่อคุณแม่มาเช็คดูค่ะว่า 8 พฤติกรรม ที่แสดงว่าเป็นโนโมโฟเบีย มีอะไรบ้าง และพฤติกรรมนี้ส่งผลอะไรต่อชีวิตเราบ้าง
โนโมโฟเบีย คืออะไร
โนโมโฟเบีย(Nomophobia ) ในทางการแพทย์ นับว่าเป็นอาการ กลัวการขาดโทรศัพท์ ซึ่งยังไม่นับว่าเป็น “โรค” โดยคำว่า โน ( No ) แปลว่า ไม่ คำว่า โม ( Mo- ) ย่อมาจาก โมบายโฟน (Mobile Phone) หรือโทรศัพท์มือถือ ส่วนคำว่า โฟเบีย ( Phobia ) แปลว่า ความกลัว หรืออาการหวาดกลัวสิ่งใดสิ่งหนึ่งไป เมื่อนำ 3 คำนี้มารวมกันว่าโนโมโฟเบีย จึงหมายถึง อาการกลัวการขาดโทรศัพท์มือถือ นั่นเอง
แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต อธิบายคำว่า “โนโมโฟเบีย” ในนิยามทางการแพทย์นั้นไม่ใช่โรค แต่เป็นกลุ่มอาการ เพราะมีการสังเกตพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของคนหรือสังคม เวลามีการเปลี่ยนแปลงบางอย่างเกิดขึ้นมักจะมีคำเรียกเฉพาะ อย่างเช่น อาการติดสมาร์ทโฟน เป็นไปตามเทคโนโลยีที่เข้ามาใหม่ ซึ่งคำว่า “โนโม” เป็นคำที่ใช้เรียกแทนโมบายโฟน ส่วนคำว่า “โฟเบีย” แปลว่ากังวลอย่างมากต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือกังวลมากเกินกว่าเหตุ จึงเรียกรวมกันเป็น “โนโมบายโฟนโฟเบีย” แต่เราเรียกกันสั้น ๆ ว่า “โนโมโฟเบีย” มาจากการที่โทรศัพท์มือถือเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง ของชีวิตประจำวัน และเราเกิดความกังวลใจว่า ถ้าไม่มีโทรศัพท์แล้ว จะทำอย่างไร ควรรีบเช็กตัวเองก่อนเกิดผลกระทบ
เช็ค 8 พฤติกรรม เข้าข่ายกลุ่มอาการโนโมโฟเบีย
พฤติกรรมที่เข้าข่ายกลุ่มอาการโนโมโฟเบีย คือ
1. พกโทรศัพท์มือถือติดตัวตลอดเวลา
2. เช็กข้อความในโทรศัพท์มือถือตลอดเวลา แม้กระทั่งได้ยินเสียงคล้าย ๆ เสียงข้อความเข้า ถ้าไม่ได้ตรวจดูโทรศัพท์จะมีอาการกระวนกระวายใจ ไม่สามารถทำงาน หรือปฏิบัติภารกิจตรงหน้าได้สำเร็จ ต้องดูหน้าจอโทรศัพท์ เพื่อเช็กข้อความก่อน
3. จับมือถือตั้งแต่ตื่นนอน จนกระทั่งหลับ
4. ใช้โทรศัพท์ระหว่างทานข้าว เข้าห้องน้ำ ขับรถ นั่งรอรถโดยสารประจำทาง และรถไฟฟ้า
5. เมื่อหาโทรศัพท์ไม่เจอ หรือลืมโทรศัพท์ จะรู้สึกมีความกังวลใจมาก ตื่นตระหนกตกใจมาก
6. ไม่เคยปิดโทรศัพท์มือถือเลย
7. ใช้เวลาพูดคุยกับเพื่อนในโลกออนไลน์ มากกว่าคุยกับเพื่อนที่นั่งอยู่ตรงหน้า
8. ห้ามใจไม่ให้เล่นโทรศัพท์ภายใน 1 ชั่วโมงไม่ได้
โนโมโฟเบียเสี่ยงอีกสารพัดโรค
นิ้วล็อก
เกิดจากการใช้มือกด จิ้ม สไลด์หน้าจอติดต่อกันนานเกินไป ทำให้มีอาการนิ้วชา ปวดข้อมือ เส้นเอ็นข้อมืออักเสบ ถ้ารู้สึกว่าตัวเองนิ้วมือเริ่มแข็ง กำแล้วเหยียดขึ้นไม่ได้ เป็นสัญญาณบอกให้รีบไปพบแพทย์
อาการทางสายตา
เกิดจากการเพ่งสายตาจ้องหน้าจอเล็กๆ นานเกินไปทำให้สายตาล้า เกิดอาการตาแห้ง ซึ่งหากปล่อยไว้นานจะทำให้จอประสาทตาและวุ้นในตาเสื่อมได้
ปวดเมื่อยคอ บ่า ไหล่
เนื่องจากคนส่วนใหญ่เวลาเล่นโทรศัพท์มักจะก้มหน้า ค้อมตัวลง ทำให้คอ บ่า ไหล่ เกิดอาการเกร็ง เลือดไหลเวียนไม่สะดวก หากเล่นเป็นเวลานานๆ อาจมีอาการปวดศีรษะตามมา
หมอนรองกระดูกเสื่อมสภาพก่อนวัยอันควร
จากการนั่งผิดท่า นั่งเกร็งเป็นเวลานานๆ และทำเป็นประจำจนเป็นนิสัย หากเป็นหนักจนมีอาการปวดมากขึ้นจะต้องทำการผ่าตัดรักษา
โรคอ้วน
แม้จะไม่ได้เกี่ยวข้องกับการใช้สมาร์ทโฟนนานๆ โดยตรง แต่ถ้าเราติดมือถือขนาดหนัก นั่งเล่นทั้งวันจนแทบจะไม่ลุกเดินไปไหน ร่างกายก็จะไม่เกิดการเผาผลาญ อาหารที่เราทานเข้าไปก็จะเป็นไขมันไปสะสมตามส่วนต่างๆ ของร่างกายจนเกิดภาวะโรคอ้วน
ผลเสียหรือผลกระทบต่อสุขภาพกาย
เรื่องสายตา ที่ใช้งานหนัก ยิ่งถ้าบางคนอยู่ในที่แสงไม่พอและใช้งานโทรศัพท์มือถือที่ต้องใช้แสงจ้าด้วยยิ่งมีปัญหามากขึ้นกับสายตา อาการปวดเมื่อยคอ บ่าไหล่ เพราะเวลาใช้งานโทรศัพท์จะเกิดอาการเกร็งโดยไม่รู้ตัว ถ้าเล่นนานๆ จะมีอาการปวดศีรษะตามมา และปัญหาเรื่องสมาธิเพราะตัวภาพและจอจะรบกวนทำให้ระบบสมาธิลดลง ฉะนั้นในเด็กจึงแนะนำว่าไม่ควรเล่นมากเกินไป เนื่องจากอยู่ในวัยที่กำลังพัฒนาสมาธิ ส่งผลให้มีปัญหาในเรื่องสมาธิสั้น ส่งผลให้เด็กหลายคนอารมณ์ร้อนและขี้หงุดหงิดมากขึ้น
ขอบคุณข้อมูลจาก
PPTV HD, Rama Channel , โรงพยาบาล จุฬารัตน์ 3 อินเตอร์, MW Wellness
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
ระวัง! พ่อแม่ติดมือถือ สื่อสารกับลูกน้อยลง ส่งผลเสียกว่าที่คิด!
แนะวิธี แก้ปัญหาลูกติดมือถือ ด้วยแอพพลิเคชัน NetCare พ่อแม่ทำได้แค่ปลายนิ้ว