วิธีสังเกตอาการ ลูกเป็นไส้ติ่งอักเสบ หรือไม่
สำหรับอาการปวดท้องในเด็กที่พบบ่อยนั้นพบว่า เด็กส่วนใหญ่ปวดท้องธรรมดาไม่ได้เป็นอาการของไส้ติ่งอักเสบแต่อย่างใด ซึ่งอาการปวดท้องที่ว่านั้นไม่มีอันตรายถึงชีวิต แต่ถ้าหากลูกเริ่มมีอาการปวดท้องบริเวณสะดือ แล้วลามไปที่ท้องด้านขวา อาจเกิดจากไส้ติ่งอักเสบได้ ซึ่งเป็นภาวะที่ไส้ติ่งที่มีลักษณะเป็นกระเปาะเล็ก ๆ คล้ายนิ้วมือที่ติดอยู่กับลำไส้ใหญ่บริเวณท้องด้านขวาล่างเกิดการอักเสบ โดยไส้ติ่งอักเสบมักเกิดในเด็กที่มีอายุ 8 – 19 ปี และมักเกิดจากการติดเชื้อในท้องแล้วลามไปไส้ติ่งหรือจากไส้ติ่งอุดตัน
อาการที่พบ ได้แก่
- ลูกมีอาการปวดตลอดเวลา หรืออาจมีปวดมากเป็นพัก ๆ แต่ไม่มีช่วงที่หายปวดไปเลย และอาการปวดจะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามเวลาที่ผ่านไป
- ลูกมักจะปวดมากขึ้นถ้ามีการเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น พลิกตัว หรือเดิน เด็กอาจจะเดินงอตัวให้เจ็บน้อยลง
- ผู้ป่วยมักมีอาการเบื่ออาหาร ท้องอืด
- มีอาการคลื่นไส้อาเจียน หรือถ่ายเหลวร่วมด้วย
- และเมื่อปวดท้องไปสักระยะหนึ่งก็จะเริ่มมีไข้ขึ้นในระยะแรกอาจเป็นไข้ต่ำแต่ถ้าทิ้งไว้ก็จะมีไข้สูงมากขึ้น
- ถ้าไส้ติ่งของลูกเกิดการแตก อาการปวดก็จะแพร่กระจายไปปวด ณ ตำแหน่งอื่น ๆ ของช่องท้องด้วย