เจลแอลกอฮอล์ ตัวช่วยสำคัญในการช่วยให้เราปลอดภัยจากเชื้อโควิด-19 แต่จะใช้อย่างไรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด มาดู 5 คำแนะนำ และ 5 ข้อควรระวังในการใช้กันดีกว่า
เจลแอลกอฮอล์ ใช้อย่างไรให้ช่วยป้องกันโควิด-19
ไอเทมประจำกายของผู้คนในยุคโควิด-19 นั้น เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้กันไปเสียแล้ว คงหนีไม่พ้น เจลแอลกอฮอล์ ที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าหน้ากากอนามัยที่ช่วยป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 จากละอองน้ำลายของคนรอบข้าง และสำหรับเจลแอลกอฮอล์นั้นเป็นตัวช่วยฆ่าเชื้อโรคจากการที่เราสัมผัสสิ่งของอยู่เสมอ ซึ่งการใช้เจลแอลกอฮอล์จะสะดวกในสถานการณ์ที่ไม่สามารถหาสบู่ หรือน้ำสำหรับล้างมือได้ แต่จะใช้อย่างไรให้ถูกวิธี และให้ได้ประโยชน์มากที่สุด ทีมแม่ ABK ขอเสนอ 5 คำแนะนำ และ 5 ข้อควรระวังในการใช้เจลแอลกอฮอล์มาฝากกัน
5 คำแนะนำวิธีใช้เจลแอลกอฮอล์อย่างไร ? ให้ช่วยป้องกันโควิด-19
1. เจลแอลกอฮอล์ที่ฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ต้องมีความเข้มข้น 70% ขึ้นไป ให้สังเกตที่ข้างบรรจุภัณฑ์
วิธีเลือกซื้อเจลแอลกอฮอล์ ให้มีคุณภาพ และช่วยถนอมมือ
- ดูเลข อย. ควรสังเกตเลขที่ขึ้นทะเบียนกับ อย. ซึ่งจะอยู่บนบรรจุภัณฑ์ ซึ่งหากมีเลข อย.ที่ถูกต้อง ก็มั่นใจได้
- สังเกตส่วนผสมของ เจลแอลกอฮอล์หรือ สเปรย์แอลกอฮอล์ ที่คุณเลือกว่าต้องเป็นเอทิลแอลกอฮอล์ และไม่มีส่วนผสมของเมทิลแอลกอฮอล์ที่เป็นอันตราย
- ต้องมีเอทิลแอลกอฮอล์ ปริมาณ 75 % ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ทางการแพทย์กำหนดว่าฆ่าเชื้อโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ซึ่งถ้าหากคุณใช้เอทิลแอลกอฮอล์ ในปริมาณที่ไม่ถึง ก็อาจไม่ได้ช่วยลดการสะสมของเชื้อโรค
- ในเมื่อเจลแอลกอฮอล์นั้น เป็นไอเทมที่เราต้องหยิบมาใช้อยู่บ่อยครั้ง ดังนั้นเราควรเลือกใช้แอลกอฮอล์ Food grade เกรดที่ดีที่สุด เพราะจะทำให้ไม่ระคายเคืองผิว ช่วยฆ่าเชื้อไวรัส แบคทีเรีย และเชื้อโรคต่างๆ ตามมือและสิ่งของเครื่องใช้ และจะดีมากหากผลิตภัณฑ์นั้นมีสารสกัดที่ช่วยบำรุงผิว เพื่อถนอมมือให้นุ่ม ไม่แห้งกร้าน แม้จะใช้บ่อยแค่ไหน
- กลิ่นหอมชวนใช้ ช่วยให้รู้สึกสดชื่น สะอาด ก็จะช่วยให้การล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ของเราน่าใช้มากยิ่งขึ้น
2.เมื่อเปิดใช้แล้ว จะมีอายุการใช้งานประมาณ 28 วัน เพราะความเข้มข้นจะต่ำลงจนไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้
How to เก็บรักษาเจลแอลกอฮอล์อย่างไรให้ถูกวิธี
- เก็บแอลกอฮอล์เจลในบริเวณที่ไม่ถูกแสงแดดหรือร้อนจัด เพื่อป้องกันแอลกอฮอล์ระเหย
- เก็บให้ห่างจากเปลวไฟ เพราะแอลกอฮอล์สามารถติดไฟได้
- เก็บให้พ้นมือเด็ก และสัตว์เลี้ยง
- แอลกอฮอล์เจลมีอายุการใช้งานประมาณ 3 ปี หรือตามที่ผู้ผลิตระบุที่ผลิตภัณฑ์ แต่เมื่อเปิดใช้แล้วจะมีอายุการใช้งานประมาณ 3 เดือน
**หากแอลกอฮอล์เจลหมดอายุหรือเก็บไม่ถูกวิธี ไม่ได้ส่งผลทำลายผิว เพียงแต่ประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อโรคหรือไวรัสจะลดลง
ข้อมูลอ้างอิงจาก www.vejthani.com
3.เมื่อทาเสร็จแล้ว ควรรอให้เจลแห้งก่อน เชื้อไวรัสจึงจะตายสนิท
แพทย์หญิงปิยนิตย์ ธรรมาภรณ์พิลาศ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค กล่าวว่า วิธีการล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้นตั้งแต่ 70% ขึ้นไป สามารถฆ่าเชื้อไวรัสโควิด 19 ได้ทุกสายพันธุ์ เชื้อจะตายทันที ข้อสำคัญคือ ต้องใช้ขณะมือแห้ง และไม่เปื้อนคราบสิ่งสกปรกอื่นๆ การใช้แอลกอฮอล์ขณะมือเปียก จะทำให้ฤทธิ์ของแอลกอฮอล์เจือจางลง จนฆ่าเชื้อไวรัสไม่ได้
ข้อมูลอ้างอิงจาก กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
4.ส่วนผสมต้องเป็น ‘เอทิลแอลกอฮอล์ (Ethyl alcohol)’ เท่านั้น ให้ระวังเจลปลอมที่นำ ‘เมทิลแอลกอฮอล์ (Methyl alcohol)’ มาใช้เป็นส่วนผสม เพราะเป็นสารที่มีพิษต่อร่างกายอย่างรุนแรง ห้ามนำมาใช้โดยเด็ดขาด
เอทิลแอลกอฮอล์กับเมทิลแอลกอฮอล์
ชื่อ “แอลกอฮอล” (Alcohol) นี้น่าจะเป็นที่คุ้นเคยมาก น่าจะมาความรู้จักถึงคุณและโทษของมัน เพราะ “ความไม่รู้” นี่เองที่เป็นสาเหตุของอันตราย แอลกอฮอลเป็นชื่อเรียกกลุ่มสารกลุ่มหนึ่งที่มีคุณสมบัติคล้ายกัน ที่รู้จักกันมากที่สุดคือ “เมทานอล” (Methanol) และ “เอทานอล” (Ethanol) หรือที่เรียกกันว่า “เอทิล แอลกอฮอล” (Ethyl) และ “เมทิล แอลกอฮอล” (Methyl) ตามลำดับ
สารทั้ง 2 สามารถละลายในน้ำได้ดีเหมือนกัน ละลายไขมันได้ มีที่ใช้ต่างกันแต่อาจจะใช้แทนกันได้ในบางกรณี ขณะที่บางกรณีถ้าใช้แทนกันจะเกิดอันตรายถึงตายได้ ดังเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า เวลาเราพูดถึงแอลกอฮอลมักจะนึกถึงเหล้า แอลกอฮอลในเหล้าคือเอทานอลซึ่งเป็นตัวเดียวกับแอลกอฮอลล้างแผล และแอลกอฮอลในของหมักดองต่าง ๆ ถ้าต้องการซื้อเอทานอลก็ไปที่ร้านขายยา ส่วนเมทานอลนั้นใช้เป็นตัวทำละลาย เช่นใช้ผสมในทินเนอร์ ดังนั้นถ้าจะซื้อเมทานอลก็จะได้จากร้านขายวัสดุก่อสร้าง
สารทั้งสองจะมีอะไรหลาย ๆ อย่างคล้ายกัน แต่ความเป็นพิษต่อร่างกายต่างกันมาก โรคพิษสุราเรื้อรังและตับอักเสบ เป็นอาการพิษของผู้เสพสุราเป็นระยะเวลานาน นั่นคืออาการพิษเรื้อรังที่เกิดจากเอทานอล แต่พิษเฉียบพลันที่เกิดจากการกินเข้าไปมาก ๆ ในครั้งเดียวก็คืออาการเมานั่นเอง แต่สำหรับเมทานอลพิษจะรุนแรงกว่า ผู้ป่วยอาจถึงขั้นตาบอดและตายได้ถ้าดื่มเข้าไป
ข้อมูลอ้างอิงจาก องค์การสุรา กรมสรรพสามิต
5.แนะนำให้ซื้อขวดใหญ่ แล้วนำมาถ่ายใส่ขวดเล็กสำหรับพกพา จะช่วยประหยัดมากกว่า
นอกจากการซื้อขวดใหญ่จะมีราคาถูกกว่าแล้ว การถ่ายแอลกอฮอล์มาใช้ทีละน้อย ๆ ส่วนที่เหลือเราก็สามารถนำไปเก็บให้พ้นแสงแดด และมีอุณหภูมิที่พอเหมาะได้ ก็จะช่วยถนอมคุณภาพของแอลกอฮอล์นั้นให้ใช้ไปได้นาน และมีประสิทธิภาพเต็มที่อีกด้วย
ที่มา : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
5 ข้อควรระวังในการใช้แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อโควิด-19
1.ไม่ควรวางแอลกอฮอล์บริเวณที่มีเปลวไฟ เนื่องจากแอลกอฮอล์สามารถติดไฟได้ แอลกอฮอล์มีคุณสมบัติเป็นของเหลวไวไฟ มีจุดวาบไฟ 17 องศาเซลเซียส และแอลกอฮอล์ความเข้มข้น 70% จะลุกติดไฟเองเมื่ออุณหภูมิมากกว่า 363 องศาเซลเซียส
2.ไม่ควรแบ่งแอลกอฮอล์สำหรับการฆ่าเชื้อใส่ในขวดน้ำ เพราะอาจมีผู้เข้าใจผิดว่าเป็นน้ำดื่มได้ เพราะแอลกอฮอล์มีลักษณะใสไม่มีสี เมื่อแบ่งบรรจุในขวดน้ำ อาจมีผู้เข้าใจผิด และเนื่องจากแอลกอฮอล์สำหรับการฆ่าเชื้อที่มีการจำหน่ายในท้องตลาดจะมีความเข้มข้น 70-90% ซึ่งเป็นปริมาณความเข้มข้นแบบบริสุทธิ์ซึ่งสูงกว่าที่พบในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั่วไป ทำให้ผู้ดื่มมีภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษ และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
3.ไม่ควรเก็บแอลกอฮอล์ไว้ในรถที่จอดตากแดด เพราะในรถอุณหภูมิสูงจะทำให้แอลกอฮอล์ระเหย และประสิทธิภาพลดลงจนไม่สามารถฆ่าเชื้อโรคได้ จากการทดสอบของ บริษัท นิสสันมอเตอร์ จำกัด ประเทศญี่ปุ่น พบว่า หากจอดรถไว้กลางแดด และอากาศข้างนอกรถอยู่ที่ 35
องศาเซลเซียส อุณหภูมิภายในห้องโดยสารรถยนต์จะสูงถึง 70 องศาเซลเซียส ซึ่งใกล้เคียงกับจุดเดือดของแอลกอฮอล์ (แอลกอฮอล์ 70% มีจุดเดือด 78.5 องศาเซลเซียส) จึงทำให้แอลกอฮอล์ระเหย จนมีความเข้มข้นลดลง และทำให้ประสิทธิภาพในการทำลายเชื้อโรคลดลงไปด้วย อย่างไรก็ตามการเก็บแอลกอฮอล์ในรถไม่สามารถทำให้แอลกอฮอล์ลุกติดไฟเองได้ (แอลกอฮอล์จะลุกติดไฟเองเมื่ออุณหภูมิมากกว่า 363 องศาเซลเซียส)
4.ไม่ฉีดสเปรย์แอลกอฮอล์ในที่แคบ แม้ว่าแอลกอฮอล์ 70 % จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำความสะอาด และฆ่าเชื้อโควิด19 ที่แนะนำให้ใช้กับผิวหนัง แต่การฉีดสเปรย์ในที่แคบเกินไปจะทำให้เกิดการฟุ้งของสเปรย์อาจฟุ้งโดนใบหน้า เข้าตา และหายใจเข้าไป จะทำให้เกิดการระคายเคือง และแสบร้อนบริเวณดังกล่าวได้
5.ไม่ควรใช้เจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์บริเวณผิวบอบบาง เช่น ใบหน้า รอบดวงตา บริเวณที่ผิวอักเสบหรือมีบาดแผล เพราะจะทำให้เกิดการระคายเคือง และแสบร้อนบริเวณดังกล่าวได้ แม้ว่าแอลกอฮอล์ จะเป็นผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดฆ่าเชื้อที่มีความปลอดภัย และแนะนำให้ใช้กับผิวหนัง แต่บริเวณใบหน้า ดวงตา เยื่อบุจมูก เป็นผิวหนังที่มีความบอบบาง หากสัมผัสแอลกอฮอล์โดยตรงจะทำให้เกิดระคายเคืองตา ผิวหนัง จมูก อาจเกิดการอักเสบได้ นอกจากนี้ การสูดหายใจเข้าไปจะทำให้ระคายเคืองจมูก และลำคอ
ข้อมูลอ้างอิงจาก กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่