อันตรายหากลูกมีอาการ ภูมิแพ้เฉียบพลันรุนแรงในเด็ก
อาการหนึ่งที่มักพบได้ในเด็กแทบทุกคนคืออาการภูมิแพ้ ไม่ว่าจะเป็นแพ้อากาศ แพ้ไรฝุ่น เกสรดอกไม้ แพ้ฝุ่น เกิดผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง แพ้อาหาร ซึ่งในเด็กหลาย ๆ คนอาการแพ้อาจไม่รุนแรงมากนัก แต่ก็มีกรณีที่ลูกน้อยของบางบ้านเกิดอาการ ภูมิแพ้เฉียบพลันรุนแรงในเด็ก มีอาการหนักจนถึงกับต้องเข้าพบคุณหมอโดยด่วน อาการนี้เกิดจากสาเหตุใด จะป้องกันและรักษาได้อย่างไร มาดูกันค่ะ
ภูมิแพ้เฉียบพลันรุนแรงในเด็ก
พญ.จินตนา ชาตรูปวิจิตร กุมารเวชศาสตร์อนุสาขาโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน โรงพยาบาลพญาไท ได้ให้ข้อมูลว่า Anaphylaxis คือภาวะภูมิแพ้เฉียบพลันรุนแรง ที่อาจถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้ จะมีอาการปรากฏหลายระบบ นอกจากอาการผื่นลมพิษทั่วไป เช่น ระบบทางเดินหายใจ จะมีอาการหอบเหนื่อย เขียว เนื่องจากมีหลอดลมตีบ อาการในส่วนระบบทางเดินอาหาร อาจคลื่นไส้อาเจียน หรือในเด็กเล็กอาจจะซึมลง หรือหงุดหงิดไม่สบายตัว
สาเหตุของภาวะ ภูมิแพ้เฉียบพลันรุนแรงในเด็ก เกิดจากอะไร
ภูมิแพ้เฉียบพลันในเด็ก สาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากการแพ้อาหาร ซึ่งมีหลายชนิด เช่น นมวัว ไข่ หรือแป้งสาลี เป็นต้น
ผู้ป่วยบางราย อาจจะมีอาการแพ้เฉียบพลันรุนแรง จากสาเหตุอื่นได้ เช่น แพ้ยา โดยเฉพาะ ยาชนิดฉีด หรือ การโดนแมลงบางชนิดกัด หรือต่อย
การตรวจวินิจฉัย หรือหาสาเหตุ จะเป็นการซักประวัติ ตรวจร่างกายอย่างละเอียดโดยแพทย์ ร่วมกับการตรวจทดสอบภูมิแพ้ ซึ่งแพทย์มักแนะนำให้ผู้ป่วยทุกรายตรวจหาสาเหตุของภาวะภูมิแพ้เฉียบพลันรุนแรง เพื่อการหลีกเลี่ยงอย่างถูกวิธี รวมถึงทราบการดูแลเบื้องต้นหากมีอาการแพ้เฉียบพลันรุนแรง
ตัวกระตุ้นการแพ้
สิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดการแพ้แบบเฉียบพลันรุนแรง ที่พบได้ ได้แก่
- การแพ้อาหารบางชนิด เช่น ถั่ว อาหารทะเล
- การแพ้ยาบางชนิด เช่น ยาปฏิชีวนะ ยาแอสไพริน ยาแก้ปวด
- การแพ้แมลงสัตว์กัดต่อย
- การแพ้ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากน้ำยางของพืช เช่น ถุงมือยาง ลูกโป่ง เป็นต้น
อาการภูมิแพ้เฉียบพลันที่สังเกตได้
อาการที่บ่งบอกว่าเป็นภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลัน ได้แก่
- ผื่นแดงตามผิวหนัง ลมพิษ มีอาการคัน ผิวหนังแดง หรือซีด
- วิงเวียนศีรษะ หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ปวดท้อง หรือท้องเสีย
- ความดันโลหิตลดต่ำลง
- ลิ้น ปาก หรือคอบวม
- หายใจติดขัด
- อาจมีเสียงดังหวีด ๆ
- รู้สึกเหมือนมีสิ่งอุดตันในลำคอ กลืนลำบาก
- แน่นหน้าอก ใจสั่น
- ชีพจรอ่อน หัวใจเต้นเร็ว
- ไอ จาม น้ำมูกไหล
การแพ้แบบเฉียบพลันในเด็ก มักมีสาเหตุมาจากการแพ้อาหารเป็นหลัก ส่วนในผู้ใหญ่มักเกิดจากการแพ้ยารวมถึงสาเหตุอื่น ๆ
การตรวจวินิจฉัย ทำได้อย่างไรบ้าง
ในส่วนของการวินิจฉัยเบื้องต้น กรณีภาวะภูมิแพ้เฉียบพลันรุนแรง (Anaphylaxis) แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ และประวัติจากการสัมผัส ร่วมกับการตรวจวินิจฉัย ด้วยการตรวจทดสอบภูมิแพ้ ต่ออาหาร ยา หรือ แมลงที่สงสัย ซึ่งมีการตรวจได้ 2 แบบ คือ
- การทดสอบทางผิวหนังแบบสะกิด (Skin prick Test)
- การเจาะเลือดเพื่อตรวจหา specific IgE
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากภาวะภูมิแพ้เฉียบพลันรุนแรง หรือ Anaphylaxis เป็นการแพ้ที่รุนแรงอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ เบื้องต้นเมื่อผู้ป่วยมีอาการมาพบแพทย์ แพทย์จะให้ยารักษาอาการฉับพลันทันทีก่อน หลังจากนั้นจะพิจารณาหาสาเหตุของอาการภูมิแพ้ฉับพลันต่อในขั้นตอนถัดไป ในกรณีที่ต้องการตรวจวินิจฉัยด้วยการทดสอบทางผิวหนัง แพทย์จะนัดให้มาทดสอบอีกครั้งประมาณ 4-6 สัปดาห์ เพื่อได้ผลการตรวจที่แม่นยำต่อไป
การป้องกันภาวะ ภูมิแพ้เฉียบพลันรุนแรงในเด็ก ทำได้อย่างไร
- หลีกเลี่ยงสาเหตุ ที่ทำให้เกิดอาการภูมิแพ้เฉียบพลันรุนแรงอย่างจริงจัง เพราะการแพ้ลักษณะนี้ เป็นการแพ้ที่อันตรายถึงชีวิต
- ในคนไข้ที่ได้รับการวินิจฉัย ว่าเป็นภูมิแพ้เฉียบพลันรุนแรง ควรพกยาที่ใช้รักษา กรณีเกิดอาการฉับพลันติดตัวตลอดเวลา รวมถึงได้รับคำแนะนำเกี่ยววิธีการใช้อย่างถูกต้อง
- นัดติดตามอาการภูมิแพ้ กับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ทุก ๆ 3-6 เดือน เพื่อตรวจเช็กในเรื่องยา และสอบถามถึงอาการเกิดซ้ำของโรค และพิจารณาการตรวจเลือดซ้ำ เพื่อตรวจสอบว่า ลูกหายจากอาการภูมิแพ้หรือยัง ถ้ามีแนวโน้มการหายจากภูมิแพ้ จะทดสอบการแพ้ เช่น การแพ้อาหาร หรือยา แพทย์จะให้ทดสอบโดยการรับประทานอาหารที่แพ้ซึ่งทำในโรงพยาบาล เพื่อเป็นการยืนยันการหายจากโรค เพื่อให้ลูก กลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติได้ต่อไป
- ในกรณีลูกยังเป็นเด็กเล็ก เมื่อไปโรงเรียน จะมีข้อแนะนำ การติดแท็กป้าย การแจ้งคุณครู ในเรื่องการใช้ยา และการดูแลเด็ก เช่น การพกบัตรแพ้ยา การรักษาต้องใช้ยาอะไร การฉีดยาให้เด็ก ในกรณีเด็กโตต้องได้รับการฝึกให้ฉีดยาด้วยตนเอง
รักษาภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลัน
การรักษาภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลัน หลัก ๆ คือ การใช้ยา Epinephrine ซึ่งปกติจะใช้วิธีฉีดเข้าที่กล้ามเนื้อต้นขา ร่วมกับประเมินอาการของผู้ป่วย ส่วนวิธีรักษาอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับอาการแพ้ และการตอบสนองของผู้ป่วย หากเคยแพ้ในระดับที่ไม่รุนแรงมาก่อน ควรหมั่นสังเกตอาการผิดปกติ
ผู้ที่มีประวัติแพ้สารก่อภูมิแพ้ชนิดใดก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงและป้องกันตนเองจากสารนั้น ๆ เพื่อไม่ให้อาการแพ้รุนแรงขึ้น ผู้ที่แพ้อาหาร ควรอ่านฉลากส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ หรือสอบถามคนขายก่อนซื้อมารับประทานเสมอ ส่วนผู้ที่เสี่ยงมีอาการแพ้ หรือต้องการทราบความเสี่ยงในการแพ้สารใด ๆ อาจป้องกันได้โดยเข้ารับการตรวจหาสารก่อภูมิแพ้ที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย
ขอบคุณข้อมูลจาก
โรงพยาบาลพญาไท , โรงพยาบาลกรุงเทพ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
แยกให้ออก ภูมิแพ้ ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่กับโควิด -19 อาการ ต่างกันยังไง?