ยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก ยาแก้คัดจมูก ยาสำหรับเด็กทั้งสามชนิดรักษาอาการใกล้เคียงกัน แต่จะมีข้อบ่งใช้ต่างกันหรือไม่ สิ่งไหนควรระวัง มาพบคำตอบได้จากคุณหมอกันดีกว่า
หมอแนะ!! ยาแก้แพ้ ยาคัดจมูก ยาลดน้ำมูกใช้ต่างกันอย่างไร
หน้าฝน ดูแลสุขภาพดีอย่างไร ก็ไม่พ้นเด็ก ๆ ต้องมีอาการป่วยกันได้ ช่วงอากาศเปลี่ยนแปลง เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวฝน ทั้งเด็กเล็ก เด็กโต ต่างพากันป่วยบ่อย สารพัดโรค แต่ที่พบกันมากเห็นจะเป็นหวัด คัดจมูก มีน้ำมูก แม้จะเป็นโรคทั่วไปที่พบกันได้บ่อย แต่อาการของโรคหวัดนี้ก็ทำเอาคุณพ่อคุณแม่ปวดหัวไปตาม ๆ กัน นอกจากการดูแลรักษาลูกน้อยตามอาการเมื่อป่วยแล้ว ยาก็เป็นอีกตัวช่วยที่ดีตัวหนึ่งที่ทำให้ลูกลดอาการทรมานลงได้ แต่การใช้ยาในกลุ่มโรคหวัดนั้น อาจทำให้คุณพ่อคุณแม่เกิดการสับสนได้ เพราะจะมียาที่คล้ายคลึงกัน มีสรรพคุณในการลดอาการไม่พึงประสงค์ใกล้เคียงกันมาก เช่น การใช้ ยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก หรือยาแก้คัดจมูก เราควรใช้ตัวไหนกับอาการแบบไหนกัน
น้ำมูก เกิดจากอะไร??
เมื่อลูกเป็นหวัด อาการหนึ่งที่มักพบควบคู่กันเสมอ คือ น้ำมูก ทำให้เกิดอาการหายใจได้ไม่สะดวก โดยอาการมีน้ำมูกที่พบได้บ่อยในเด็ก เกิดจาก 2 สาเหตุใหญ่ ๆ คือ โรคภูมิแพ้ และเจ็บป่วยเป็นไข้หวัด ทำให้มีน้ำมูก
โรคภูมิแพ้
ภูมิแพ้ เป็นโรคที่แสดงอาการได้หลายระบบในร่างกาย ได้แก่
- โรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจ เกิดโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ มีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล จาม หรือทำให้เกิดโรคหืด มีอาการไอ แน่นหน้าอก เหนื่อย หอบ หายใจมีเสียงหวีด
- ภูมิแพ้อาหารและยา ทำให้เกิดผื่นคันแบบลมพิษ หน้าบวม ปากบวม แน่นคอ แน่นหน้าอก เป็นลมหมดสติ ความดันโลหิตต่ำ และมีโอกาสเสียชีวิตได้
- โรคภูมิแพ้ผิวหนัง ทำให้เกิดผื่นแดงคันเรื้อรัง ผิวแห้งลอก ส่วนใหญ่มักเป็นตามข้อพับแขนขาและลำคอ
- ภูมิแพ้ตา ทำให้เกิดเยื่อบุตาอักเสบ มีอาการคันตา เคืองตา ตาแดง ขยี้ตาเยอะผิดปกติ ตาบวม
ทำความรู้จักกับ “โรคภูมิแพ้”
โรคภูมิแพ้ เกิดจากภาวะภูมิไวเกิน (Hypersensitivity) ทำให้มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารที่พบได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน เช่น อาหาร ไรฝุ่น ละอองเกสร ซึ่งในคนทั่วไปจะไม่มีปฏิกิริยาต่อสิ่งเหล่านี้ อาการของโรคอาจเกิดขึ้นกับระบบใดระบบหนึ่งของร่างกาย หรือเกิดขึ้นพร้อมกันหลายระบบ มักจะเป็นเรื้อรัง ความรุนแรงมีตั้งแต่รบกวนชีวิตประจำวันเล็กน้อยไปจนถึงขั้นที่อันตรายถึงแก่ชีวิต
ภูมิแพ้ที่ทำให้เกิดน้ำมูกนั้น จะเป็นอาการภูมิแพ้ทางเดินหายใจ หรือภูมิแพ้ที่จมูก เรียก โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ซึ่งจะมีอาการคันจมูก จาม น้ำมูกไหล คัดจมูก เมื่อเกิดปฏิกิริยาอักเสบจากภูมิแพ้ ร่างกายจะหลั่งสาร ชื่อ ฮีสตามีน ซึ่งกระตุ้นให้เกิดอาการต่างๆ ของโรคภูมิแพ้ มีหลายวิธีในการรักษาโรคภูมิแพ้ เช่น การหลีกเลี่ยงสิ่งที่กระตุ้นทำให้เกิดอาการแพ้ การใช้ยาบรรเทาอาการ การฉีดวัคซีนภูมิแพ้ เป็นต้น
ไข้หวัด
เด็กป่วยเป็นไข้หวัดได้บ่อย มีการศึกษาระบุว่าสามารถป่วยได้ถึงปีละ 10 -12 ครั้ง ไข้หวัด เกิดจากการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ต่างๆ อาการของโรคหวัดทั่วไปก็ได้แก่ คัดจมูก มีน้ำมูกใสๆ มีเสมหะ เจ็บคอ ไอ จาม เสียงแหบ อาจมีอาการไข้และปวดศีรษะเล็กน้อย การรักษาก็จะเป็นไปในลักษณะประคับประคองอาการ การให้ยาลดน้ำมูก ยาลดไข้ ยาแก้ไอ-เจ็บคอ ร่วมกับการดูแลตัวเองด้วยการดื่มน้ำมากๆ ไม่ดื่มน้ำเย็น รักษาร่างกายให้อบอุ่น ก็จะทำให้เด็กส่วนใหญ่หายเป็นปกติในไม่กี่วัน ในเด็กเล็กและคนสูงอายุ อาจติดไข้หวัดได้ง่าย และมีอาการรุนแรงกว่าในช่วงอายุอื่นๆ
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น เมื่อลูกเป็นหวัด
โดยทั่วไปเมื่อลูกเป็นหวัด ควรให้ความอบอุ่นให้เพียงพอ และดูแลรักษาตามอาการ ดังนี้
- มีอาการไอให้ดื่มน้ำอุ่นบ่อย ๆ หากมีไข้ต่ำควรลดไข้ โดยเช็ดตัวลูกด้วยน้ำอุ่น หรือน้ำอุณหภูมิห้อง หากไข้ยังไม่ลด ให้เช็ดตัวร่วมกับการรับประทานยาลดไข้ ตามน้ำหนักตัว เช่น Paracetamol ให้ขนาด 10 มิลลิกรัม/น้ำหนัก 1 กก. ทุก 4 – 6 ชม. เวลามีไข้
- หากมีอาการน้ำมูกถ้ามีไม่มาก ใช้สำลีพันปลายไม้ชุบน้ำอุ่นหรือน้ำเกลือเช็ดในรูจมูก หรือถ้ามีน้ำมูกมากให้ใช้ลูกยางแดงดูดน้ำมูกออก หรือการล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ (0.9% NSS) ในเด็กโต
การใช้ยา ในกรณีที่การรักษาเบื้องต้นไม่ดีขึ้น
ถ้าลูกยังมีอาการน้ำมูกแน่น หรือคัดจมูกมาก คุณพ่อคุณแม่สามาถให้ลูกรับประทานยาแก้หวัดได้ โดยต้องคำนึงถึงน้ำหนักตัวของลูก ยารักษาอาการน้ำมูกไหล หรือยาลดน้ำมูก มี 2 กลุ่ม คือ
- กลุ่มของยาแอนติฮีสตามีน ไม่นิยมให้ในเด็กเล็ก หรือผู้ป่วยที่เป็นหอบหืดรับประทาน ยากลุ่มนี้จะทำให้น้ำมูกแห้ง และจามน้อยลง
- ยาลดการคั่งของน้ำมูก ไม่นิยมในเด็กเล็กเช่นกัน ในกรณีแน่นจมูกมาก หายใจไม่ออก อาจให้ยาเช็ดจมูกช่วยยุบบวมในจมูกได้ ยากลุ่มนี้ออกฤทธิ์เร็วช่วยให้โล่งจมูกทันที แต่ไม่ควรจะใช้นานเกิน 3 วัน ถ้าใช้แล้ว 3 วัน จะต้องหยุดยาก่อน ถ้าเป็นใหม่ครั้งต่อไปสามารถนำมาใช้อีกได้ ยานี้ถ้าใช้ติดกันนานจะเกิดผลข้างเคียงต่อจมูกทำให้เยื่อบุจมูกเกิดการอักเสบ และบวมเพิ่มขึ้นได้
ส่วนยาปฏิชีวนะที่เรียกกันทั่วไปว่ายาฆ่าเชื้อ หรือยาแก้อักเสบนั้นไม่ควรให้ผู้ป่วยหวัดทั่วไป เนื่องจากโรคไข้หวัดเกิดจากเชื้อไวรัส จะนำมาใช้ในกรณีมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน หรือกรณีที่ผู้ป่วยมีปัญหาเรื่องภูมิต้านทานอยู่เดิมเท่านั้น ยาฆ่าเชื้อไวรัส ยังไม่มียาที่นำมาใช้เฉพาะสำหรับโรคนี้ เนื่องจากอาการไม่รุนแรงและอาจมีผลข้างเคียงด้วย ยกเว้นในกรณีไข้หวัดใหญ่ มีการใช้ยา Oseltamivir ในการรักษา
ยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก ยาแก้คัดจมูก ใช้ต่างกันอย่างไร??
ยาแก้แพ้ หรือยาแอนติฮีสตามีน หรือยาต้านฮีสตามีน ยาจะไปป้องกันไม่ให้ฮิสตามีนจับกับตัวรับฮิสตามีนที่อวัยวะต่างๆ ช่วยบรรเทาอาการของโรคภูมิแพ้ ปัจจุบันยาต้านฮีสตามีน แบ่งเป็น 3 รุ่น
- ยารุ่นที่ 1 เช่นยา chlorpheniramine, diphenhydramine, cyproheptadine, hydroxyzine ยากลุ่มนี้มีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้ง่วงซึม ทำให้เกิดอาการปากแห้ง คอแห้ง เสมหะและน้ำมูกเหนียวข้นได้ ยาออกฤทธิ์สั้น ต้องทานวันละ 3-4 ครั้ง
- รุ่นที่ 2 เช่น loratadine, cetirizine ยากลุ่มนี้มีข้อดี คือ มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ออกฤทธิ์ได้นาน และไม่ค่อยง่วงซึม
- ตัวยารุ่นที่ 3 เช่น fexofenadine, desloratadine, levocetirizine ยากลุ่มนี้มีข้อดี คือ มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ออกฤทธิ์ได้นาน รับประทานเพียงวันละครั้ง และไม่ง่วงซึม
อ่านต่อ >>หมอแนะ การใช้ยากลุ่มลดน้ำมูก คัดจมูก แก้แพ้ ใช้ต่างกันอย่างไร คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่