อย่าคิดว่าเรื่องเล็ก! ลูกอาจทรมานเพราะ หอบ หืดในเด็ก
คุณพ่อคุณแม่อย่ามองข้ามเวลาได้ยินเสียงหายใจลูกผิดปกติไปนะคะ เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณว่าลูกกำลังได้รับความทรมานจากการหายใจแต่ไม่สามารถอธิบายบอกคุณพ่อคุณแม่ได้ ซึ่งอาจเป็นอาการของโรค หอบ หืดในเด็ก ค่ะ
โรคหอบหืด
เป็นโรคที่เกิดขึ้นเนื่องจากหลอดลมของผู้ป่วยตอบสนองต่อสิ่งที่มากระตุ้นมากกว่าภาวะปกติ ทำให้หลอดลมหดเกร็งและบวม เนื่องจากการอักเสบ ผู้ป่วยจะไอ แน่นหน้าอก หายใจลำบาก หายใจมีเสียงดังวี๊ดๆ การหอบอาจเกิดขึ้นเป็นๆ หายๆ และเรื้อรัง
โรค หอบ หืดในเด็ก
โรคหืด หรือ โรคหอบหืดในเด็ก มีลักษณะสำคัญคล้ายกับโรคหืดในผู้ใหญ่ คือ มีการอักเสบของเยื่อบุหลอดลมอย่างต่อเนื่อง เป็นโรคที่มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เพราะหลอดลมมีความไวต่อสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ มากกว่าปกติ และทำให้เกิดภาวะตีบตันของหลอดลม แต่สามารถกลับคืนภาวะปกติ หรือใกล้เคียงปกติได้ด้วยยาขยายหลอดลม
สาเหตุ
- กรรมพันธุ์ พบว่าถ้าผู้ป่วยมีประวัติภูมิแพ้ในครอบครัว โอกาสที่จะเป็นโรคจะมีมากขึ้น
- สิ่งกระตุ้นต่างๆ โดยการหายใจเข้าไป อาหาร หรือ ยาที่รับประทาน เช่น ฝุ่น, ตัวไรฝุ่น, เกสรดอกไม้ หญ้า, ควันบุหรี่, น้ำมันรถ สารเคมี, มลพิษในอากาศ, เชื้ัอราในอากาศ ,ขนและรังแคสัตว์ เช่น สุนัข แมว, อาหาร เช่น ไข่ นม อาหารทะเล
- การออกกำลังกายมากๆ
- การติดเชื้อทางระบบหายใจ
- การเปลี่ยนแปลงของอากาศ
อาการและอาการแสดง
- ไอ มีเสมหะมาก โดยเฉพาะเวลาออกกำลังกาย หรือ เวลากลางคืน
- แน่นหน้าอก
- เหนื่อยหอบ
- หายใจลำบาก มีเสียงวี๊ดออกจากปอด
จะทราบได้อย่างไรว่าเป็นโรค หอบ หืดในเด็ก
เนื่องจากเด็กไม่สามารถสื่อความหมายหรือบอกถึงอาการหอบ หายใจแน่น หรือเหนื่อยได้เหมือนผู้ใหญ่ ดังนั้น พ่อ แม่ หรือผู้ปกครองต้องสังเกตอาการต่างๆ เหล่านี้ เช่น
- ไอบ่อย หายใจเร็ว หน้าอกบุ๋ม บางครั้งได้ยินเสียงวี๊ด
- อาการไอเป็นๆ หายๆ ซึ่งอาจมีไข้หรือ น้ำมูกร่วมด้วย
- ระยะเวลาในการเป็นหวัดและไอจะนานกว่าเด็กปกติ
- ไอมากตอนกลางคืน และเช้ามืด
- หลังออกกำลังกายจะไอมาก หรือเหนื่อยหอบ
- อาการไอจะดีขึ้นเมื่อได้ยาขยายหลอดลม
อาการเหล่านี้จะบ่งบอกถึงภาวะตีบแคบของหลอดลม และหลอดลมไวต่อสิ่งกระตุ้นต่างๆ ซึ่งแพทย์จะซักประวัติ อาการร่วม ความถี่ ความรุนแรง ผลกระทบต่อการเรียนหรือการทำงาน การตรวจร่างกาย การทดสอบสมรรถภาพทางปอด (เด็กโต) ประวัติโรคภูมิแพ้ในครอบครัว การได้รับควันบุหรี่ รวมถึงสาเหตุต่างๆ ที่ทำให้เกิดอาการหอบหืดเพื่อให้การวินิจฉัยและประเมินความรุนแรงของโรคหืด
ข้อควรปฏิบัติเมื่อมีอาการหอบ หืด
- ถ้ามีอาการหอบช่วงที่กำลังวิ่งเล่น หรือ มีอาการเหนื่อยให้หยุดพักทันที
- หายใจเข้าอย่างปกติ และหายใจออกทางปากโดยค่อย ๆ เป่าลมออกจากปอดทีละน้อยให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้และขณะหายใจออก อาจห่อปากขณะเป่าลมหายใจออกด้วยก็ได้
- ดื่มน้ำอุ่น ๆ มาก ๆ
- พ่นยา หรือ กินยาแก้หอบตามแพทย์สั่ง ถ้ามียาขยายหลอดลมแบบพ่นชนิดออกฤทธิ์เร็ว ให้พ่น 2 พัฟ ซ้ำได้ 3 ครั้ง ห่างกัน 20 นาที หากอาการดีขึ้นให้พ่นยาทุก 4 – 6 ชั่วโมงต่ออีกประมาณ 24 – 48 ชั่วโมง หากอาการไม่ดีขึ้นให้รีบไปพบแพทย์
การใช้ยารักษาโรคหอบหืด
แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
- ยาขยายหลอดลมเพื่อบรรเทาอาการ ซึ่งมีทั้งแบบ พ่น กิน ฉีด เป็นชนิดออกฤทธิ์เร็ว ยาพ่นจะสามารถออกฤทธิ์ขยายหลอดลมได้ภายในเวลา 5 – 15 นาที และมักมีฤทธฺิ์อยู่นาน 4 – 6 ชั่วโมง ส่วนยากินมีฤทธิ์ขยายหลอดลมอยู่นาน 4 -6 ชั่วโมงเช่นกัน แต่ออกฤทธิ์ช้ากว่า ดังนั้นถ้าหากไม่มีปัญหาในการพ่นยา ควรพิจารณาใช้ยาพ่นก่อน ยกเว้นเด็กที่ไม่ยอมพ่นยา อาจใช้ยารับประทานได้
- ยาควบคุมอาการ เป็นยาต้านการอักเสบ ออกฤทธิ์ลดการอักเสบและลดความไวของหลอดลม มีทั้งแบบพ่น กิน ฉีด ซึ่งแบบพ่นจะให้ความปลอดภัยสูงกว่า เนื่องจากประมาณยาที่ใช้ในการพ่นมีขนาดต่ำ ยาพ่นไปที่หลอดลมโดยตรง ปัจจุบันมียาพ่นที่รวมระหว่างยาต้านการอักเสบ และยาขยายหลอดลมชนิดออกฤทธิ์นานอยู่ในหลอดเดียวกัน เพื่อให้สะดวกในการใช้ และยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาด้วย
การจัดที่อยู่อาศัยของลูกที่เป็นหอบหืด
ห้องนอน เป็นห้องที่สำคัญเพราะเป็นห้องที่ลูกจะต้องอยู่นานที่สุด จึงต้องจัดให้สภาพแวดล้อมเอื้อต่อการอยู่อาศัย
- ห้องนอนควรมีของน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น ไม่เก็บของ หรือ หนังสือในห้องนอน ไม่ควรปูพรม
- เครื่องนอน ควรใช้ผ่าคลุมกันไรฝุ่น
- ที่นอน หมอน หมอนข้าง และผ้าห่มควรทำความสะอาดและนำมาผึ่งแดดบ่อยๆ
- ผ้าม่าน และ ผ้าปูที่นอน ควรซักอย่างน้อยทุกสัปดาห์ โดยใช้น้ำอุณหภูมิมากกว่า 55 องศาเซลเซียสเป็นเวลาอย่างน้อย 30 นาที
- เครื่องปรับอากาศควรหมั่นทำความสะอาดหน้ากากบ่อยๆ รวมถึงทำความสะอาดพัดลม
- ไม่เล่นของเล่น หรือ ตุ๊กตาที่เป็นขน
- ในบ้านไม่ควรมีที่เก็บของอับชื้น หรือ ปลูกต้นไม้ในบ้านเพราะราและฝุ่นจะจับง่าย
- เก็บอาหารให้มิดชิดเพื่อป้องกันหนูและแมลงสาป
- ไม่ควรเลี้ยงสัตว์มีขน ถ้าจำเป็น ควรให้อยู่เฉพาะบริเวณนอกบ้านและอาบน้ำทุกสัปดาห์
ขอบคุณข้อมูลจาก
โรงพยาบาลธนบุรี, โรงพยาบาลรามคำแหง
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก