ระวัง! พบจุลินทรีย์ทำให้เกิดโรคใน สาหร่ายหมีแพนด้า -Amarin Baby & Kids
สาหร่ายหมีแพนด้า

ระวัง! พบจุลินทรีย์ทำให้เกิดโรคใน สาหร่ายหมีแพนด้า

Alternative Textaccount_circle
event
สาหร่ายหมีแพนด้า
สาหร่ายหมีแพนด้า

ระวัง! พบจุลินทรีย์ทำให้เกิดโรคใน สาหร่ายหมีแพนด้า

ปัจจุบันมีขนมต่าง ๆ ออกมาวางขายให้ลูก ๆ ได้กินเล่นเป็นจำนวนมากนะคะ คุณพ่อคุณแม่ควรต้องเลือกให้ดีและมีประโยชน์ เพราะขนมบางอย่างอาจมีอันตรายซ่อนอยู่ แม้แต่ในของที่น่าจะมีประโยชน์อย่างเช่นสาหร่ายนี้ก็เช่นกันค่ะ เพราะล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้เข้าตรวจสอบสถานที่ผลิตอาหารเพื่อจำหน่าย บริษัท กู๊ดดี้ เวิลด์ จำกัด พร้อมเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์อาหารส่งตรวจวิเคราะห์คุณภาพ ณ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผลปรากฏว่า พบข้อบกพร่อง จำนวน 2 ตัวอย่างใน สาหร่ายหมีแพนด้า ค่ะ

พบจุลินทรีย์ทำให้เกิดโรคใน สาหร่ายหมีแพนด้า

โดยตรวจพบเชื้อจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค Bacillus cereus ไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดในประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 416) พ.ศ.2563 ออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 เรื่อง กำหนดคุณภาพหรือมาตรฐาน หลักเกณฑ์เงื่อนไข และวิธีการในการตรวจวิเคราะห์ของอาหารด้านจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค ที่กำหนดให้ตรวจพบ Bacillus cereus ได้ไม่เกิน 100 CFU/กรัม จึงขอแจ้งประกาศผลตรวจ ดังนี้

1.ผลิตภัณฑ์อาหารฉลากระบุ “สาหร่ายทะเลปรุงรส รสดั้งเดิม (ตราหมีแพนด้า) ” เลขสารบบอาหาร 10-1-04153-1-0054  วันที่ผลิต 29/11/2021 วันหมดอายุ 29/11/2022 ตรวจพบ Bacillus cereus เท่ากับ 4,400 CFU/กรัม

2. ผลิตภัณฑ์อาหารฉลากระบุ “สาหร่ายทะเลแห้งปรุงรส รสเผ็ด (ตราหมีแพนด้า)” เลขสารบบอาหาร 10-1-04153-1-0055 วันที่ผลิต 18/11/2021 วันหมดอายุ 18/11/2022 ตรวจพบ Bacillus cereus เท่ากับ 1,700 CFU/กรัม

สาหร่ายหมีแพนด้า
ระมัดระวังการเลือกขนมสำหรับเด็กให้ดี

หลักการเลือกขนมสำหรับเด็ก

แม้แต่สาหร่ายสำหรับให้ลูก ๆ เคี้ยวเล่นยังมีสิ่งแปลกปลอม จึงขอนำแนวทางการเลือกขนมสำหรับลูกน้อยมาฝากคุณพ่อคุณแม่ค่ะ

  1. เลือกขนมที่เหมาะสมกับช่วงวัยของลูกน้อย ควรดูก่อนว่าขนมชนิดนั้นผลิตมาสำหรับเด็กในช่วงวัยไหน
  2. ดูส่วนผสมของขนมเป็นหลัก เพื่อป้องกันหากลูกน้อยแพ้อาหารชนิดไหน
  3. เลือกขนมที่มีพลังงานไม่สูงมาก ไม่ควรมีน้ำมันและน้ำตาลมากเกินไป โดยมีข้อกำหนดของราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ให้เด็กควรได้รับพลังงานจากอาหารว่างไม่เกินมื้อละ 100-150 กิโลแคลอรี่ วันละ 2 ครั้ง
  4. ขนมที่เลือกควรมีสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นโปรตีน เหล็ก แคลเซียม วิตามิน A C B1 B2 หรือใยอาหาร โดยแต่ละชนิดมีปริมาณไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ของปริมาณที่ควรได้รับต่อวัน
  5. ควรเลือกซื้อขนมที่มีสีตามธรรมชาติ ไม่ควรเลือกขนมที่ใส่สีฉูดฉาดหรือแต่งสี
  6. คุณพ่อคุณแม่ควรเลือกขนมโดยการพิจารณาจากข้อมูลบนฉลากโภชนาการด้วยทุกครั้ง

เชื้อจุลินทรีย์โรค Bacillus cereus ใน สาหร่ายหมีแพนด้า คืออะไร

Bacillus cereus คือแบคทีเรีย (bacteria) ในกลุ่ม Bacillus ซึ่งเป็นชนิดที่ทำให้เกิดโรค เจริญได้ในที่มีอากาศ สามารถสร้างสารพิษ ที่ทนต่อความร้อนได้ เจริญได้ดีที่อุณหภูมิปานกลาง ในร่างกายมนุษย์และสัตว์เลือดอุ่น อุณหภูมิที่เหมาะสมคือ 28-37 องศาเซียลเซียส

แหล่งที่พบ

พบทั่วไปในธรรมชาติในดิน น้ำเชื้อสร้างสปอร์ซึ่งทนความแห้งแล้งได้ดี สปอร์จึงพบได้ทั่วไปในฝุ่น ควัน และ ปะปนมากับอาหารแห้ง เช่น น้ำตาล วัตถุเจือปนอาหาร เครื่องเทศ และพบบ่อยในอาหารกลุ่ม แป้ง เมล็ดธัญชาติ เช่น ข้าวหุงสุก เส้นก๋วยเตี๋ยว พาสต้า อาหารกึ่งสำเร็จรูป เช่น ข้าวกึ่งสำเร็จรูป

โรคและอาการของโรค

โรคอาหารเป็นพิษ  เกิดจากบาซิลัสซีเรียส ทำให้เกิดอาการ 2 ลักษณะ

  • อาการอาเจียน (Emetic syndrome) เกิดจากที่ร่างกายได้รับสารพิษ  ที่แบคทีเรียสร้างขึ้นในอาหารก่อนที่จะบริโภคเข้าไป สารพิษนี้ทนต่ออุณหภูมิสูงและ ทนต่อความเป็นกรดในกระเพาะอาหารได้ดี ผู้ป่วยจะเกิดอาการคลื่นไส้และอาเจียน ภายหลังจากการบริโภคอาหารที่มีสารพิษเข้าไปประมาณ 5 ชั่วโมง โดยทั่วไปอาการเป็นอยู่ไม่เกิน 24 ชั่วโมง โรคอาหารเป็นพิษลักษณะนี้ มักเรียกว่า Chinese restaurant syndrome เนื่องจากมักพบในผู้ป่วยรับประทานอาหารจีน ซึ่งมักเป็นข้าวผัด ที่ทำจากข้าวสุกที่หุงค้างไว้นาน ทำให้แบคทีเรียเจริญเติบโตและสารพิษทนต่อความร้อน ก่อนนำมาปรุงหรือทำให้ร้อนใหม่
  • อาการถ่ายเหลว (Diarrhea syndrome) เกิดจากการบริโภคอาหารที่มีเซลล์ของแบคทีเรีย และเพิ่มจำนวนในลำไส้ของมนุษย์ ใช้เวลาฟักตัวประมาณ 8-16 ชั่วโมง มีสารพิษเอนเทอโรทอกซิน ที่ไม่ทนต่อความร้อน ทำให้เกิดอาการการปวดท้อง เป็นตะคริวที่ท้อง และถ่ายอุจจาระเหลวโดยทั่วไปอาการเป็นอยู่ไม่เกิน 14 ชั่วโมง ปริมาณเชื้อที่ทำให้เกิดโรค  100-100,000 เซลล์ต่อกรัม

อาหารที่เกี่ยวข้อง

  • อาหารประเภทธัญชาติ หรืออาหารที่มีสตาร์ซ (starch) เป็นส่วนประกอบ ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด แป้ง ก๋วยเตี๋ยว ขนมจีน บะหมี่ พาสต้า มักโรนี ข้าวผัด ขนมข้าวกรอบ ขนมข้าวกล้อง
  • เนยแข็ง
  • ผักสลัด
  • อาหารที่มีเนื้อสัตว์ เป็นส่วนประกอบ ซอส ซุป
  • อาหารแห้ง เครื่องเทศ
  • การบริการอาหาร (food service) ที่ต้องเตรียมอาหารจำนวนมาก ล่วงหน้าเป็นเวลานาน เช่น โรงเรียน ร้านอาหาร ภัตตาคาร

การป้องกัน

– หุงต้ม ผัด อาหาร ให้ร้อนจัด อุ่นให้เดือด และเก็บอาหารที่ทำให้สุกแล้วที่อุณหภูมิต่ำ หลีกเลี่ยงการเก็บอาหารช่วงอุณหภูมิที่เป็นอันตราย คือ 4-55 องศาเซลเซียส

– ควบคุมให้พนักงาน หรือบุคคล ที่สัมผัสกับอาหาร มีสุขอนามัยที่ดี

– ป้องกันการเกิดปนเปื้อนข้าม โดยเฉพาะอาหารที่ปรุงสุก อาหารพร้อมรับประทาน กับอาหารดิบ

– ผลิตอาหารให้ถูกสุขลักษณะ ตามหลัก GMP (Good Manufacturing Practice)

ขอบคุณข้อมูลจาก
ศูนย์ข้อมูลเครือข่ายอาหารครบวงจร, กรุงเทพธุรกิจ

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

แม่แชร์ประสบการณ์ ลูกกินขนมโซเดียมเยอะจน ไตรั่ว!!

เลี้ยงลูกให้สุขภาพดี อย่ามีขนมห่อในบ้าน (เยอะนัก) โดยพ่อเอก

อย. เตือน ขนม BLACK POWDER ขนมอันตราย อย่าซื้อให้ลูกกิน

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up