ปล่อยลูกลุยน้ำย่ำโคลน ระวัง! เด็กป่วย โรคเมลิออยโดสิส - Amarin Baby & Kids
เมลิออยโดสิส

ปล่อยลูกลุยน้ำย่ำโคลน ระวัง! เด็กป่วย โรคเมลิออยโดสิส

Alternative Textaccount_circle
event
เมลิออยโดสิส
เมลิออยโดสิส

ปล่อยลูกลุยน้ำย่ำโคลน ระวัง! เด็กป่วย โรคเมลิออยโดสิส

เข้าสู่ช่วงปิดเทอมแล้ว แน่นอนว่าเด็ก ๆ หลายคนย่อมอยากออกไปวิ่งเล่นนอกบ้าน บางคนอาจชอบเล่นดิน เล่นทราย วิ่งเท้าเปล่าลุยน้ำ ลุยโคลน ผจญภัยด้วยความสนุกสนานตามประสาเด็ก ๆ แต่คุณพ่อคุณแม่คะ หากปล่อยลูก ลุยน้ำย่ำโคลนโดยไม่ระวัง ลูกอาจติดเชื้อแบคทีเรียและเป็น โรคเมลิออยโดสิส ได้ค่ะ โรคนี้มีสาเหตุจากอะไร ป้องกันและรักษาอย่างไร มาดูกันค่ะ

โรคเมลิออยโดสิส คืออะไรมีสาเหตุจากอะไร

เมลิออยโดสิส (Melioidosis) หรือโรคเมลิออยด์ เป็นโรคติดเชื้อจากแบคทีเรีย Burkholderia Pseudomallei ที่ปนเปื้อนได้ในน้ำและดิน แพร่กระจายสู่คนผ่านการสัมผัสเชื้อโดยตรง หรือโดยการติดต่อจากสัตว์ที่ติดเชื้อ เช่น สุนัข แมว หมู ม้า วัว ควาย แกะ แพะ เป็นต้น โดยเฉพาะการสัมผัสกับเชื้อบริเวณผิวหนังที่มีแผลเปิดนั้นเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อสูง

นอกจากนี้ ทั้งคนและสัตว์ต่างเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อจากการสูดหายใจเอาฝุ่นผงเข้าไป ทั้งการได้รับละอองน้ำเล็ก ๆ หรือการดื่มน้ำที่มีเชื้อแบคทีเรียนี้เจือปนอยู่ ส่วนการแพร่กระจายระหว่างมนุษย์กับมนุษย์นั้นพบได้น้อย

เมลิออยโดสิส สถิติผู้ป่วย

เมลิออยโดสิสเป็นโรคติดเชื้อที่เป็นปัญหาของหลายประเทศ รายงานว่าประเทศทางแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทางเหนือของทวีปออสเตรเลีย เป็นบริเวณที่มีโรคประจำถิ่น และสามารถตรวจพบโรคนี้ได้บ้างในฮ่องกง ไต้หวัน อินเดีย นิวซีแลนด์ และประเทศอื่นๆ ทั่วโลก

ส่วนในไทย ศูนย์วิจัยโรคเมลิออยโดสิส มหาวิทยาลัยขอนแก่น รายงานว่า ระหว่างปี 2553 – 2558 ประเทศไทย มีผู้ป่วยโรคเมลิออยด์ ที่มีผลเพาะเชื้อยืนยัน อย่างน้อยปีละ 1,700 ราย เสียชีวิตอย่างน้อยปีละ 700 ราย และระหว่างปี พ.ศ. 2563 – 2564 มีผู้ป่วยติดเชื้อโรคเมลิออยโดสิส มากกว่า 2,000 รายต่อปี พบมากในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

สถานการณ์ล่าสุดของเมลิออยโดสิส

จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคเมลิออยโดสิส ในปี 2565 นี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 6 มี.ค. 65 พบผู้ป่วย 339 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่ผู้ป่วยสูงสุด คือ อายุ 55 – 64 ปี รองลงมาคือ อายุ 45 – 54 ปี และอายุมากกว่า 65 ปี ตามลำดับ จังหวัดที่พบผู้ป่วยมากที่สุด ได้แก่ มุกดาหาร, อำนาจเจริญ, ยโสธร, ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี  เมื่อเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดแล้ว ไม่ได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วและถูกต้อง อาจเสียชีวิตได้ภายใน 2 – 3 วัน โดยอัตราการเสียชีวิตสูงถึง ร้อยละ 40 ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกัน

ติดเชื้อเมลิออยโดสิสผ่านทางใดได้บ้าง

โรคเมลิออยโดสิสสามารถติดเชื้อได้ ทั้งผ่านทางผิวหนัง, การกิน และการหายใจ เอาเชื้อแบคทีเรียเข้าไปในร่างกาย อาจเป็นหนองบริเวณที่ติดเชื้อ, หากติดเชื้อที่ปอด อาจทำให้ปอดอักเสบ และทำให้มีฝีหนองในปอดได้ และจากกรณีศึกษาผู้ป่วย โรคเมลิออยโดสิส พบว่า เชื้อโรคนี้สามารถซ่อนตัวอยู่ในร่างกายคน ได้นานนับ 10 ปี

โรคเมลิออยโดสิส
ปล่อยลูก ลุยน้ำย่ำโคลนเสี่ยง เมลิออยโดสิส!!

อาการของโรคเมลิออยด์

โรคเมลิออยด์เกิดขึ้นได้ในหลายลักษณะและมักแสดงอาการที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับอวัยวะที่มีการติดเชื้อ ดังนี้

การติดเชื้อที่ปอด เกิดจากการสูดดมเชื้อเข้าไป อาจจะทำให้เกิดการอักเสบและทำให้มีฝีหนองในปอด อาการมีได้ตั้งแต่หลอดลมอักเสบชนิดไม่รุนแรง ไปจนถึงอาการของโรคปอดบวมชนิดรุนแรง ส่งผลให้ผู้ป่วยมีไข้ ปวดศีรษะ ไอ ไม่อยากอาหาร หายใจหอบเหนื่อย เจ็บหน้าอก มีอาการเจ็บกล้ามเนื้อโดยทั่วไป รวมถึงอาจไอเป็นเลือด

การติดเชื้อเฉพาะที่เฉียบพลัน เป็นการติดเชื้อเฉพาะตำแหน่งที่สัมผัสเชื้อโรค หากเป็นที่ผิวหนังจะทำให้ผิวหนังบริเวณที่ติดเชื้อมีอาการเจ็บ บวม มีแผลเปื่อยสีออกขาวเทา และอาจเกิดเป็นหนอง รวมถึงส่งผลให้มีอาการไข้และเจ็บกล้ามเนื้อตามมา แต่หากติดเชื้อที่ต่อมน้ำลาย ต่อมน้ำลายจะอักเสบบวม โต เจ็บ อาจเกิดหนอง หรือหากเชื้อเข้าตาจะส่งผลให้เยื่อตาอักเสบ การอักเสบเฉพาะอวัยวะเหล่านี้จะส่งผลให้เกิดการอักเสบของต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียงอวัยวะนั้น ๆ ร่วมด้วย จนทำให้ต่อมน้ำเหลืองโต คลำแล้วเจ็บ และอาจเกิดเป็นหนอง ทั้งนี้ การติดเชื้ออาจจำกัดอยู่ที่บริเวณดังกล่าวหรือแพร่ผ่านกระแสเลือดต่อไปก็ได้

การติดเชื้อในกระแสเลือด ผู้ป่วยด้วยโรคที่มีความเสี่ยงต่อเชื้อเมลิออยด์ เช่น โรคเบาหวาน ภาวะไตวาย หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ มีแนวโน้มจะติดเชื้อลักษณะนี้มากที่สุด มักทำให้เกิดอาการช็อก และเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูง  หากเชื้อเมลิออยด์เข้าสู่กระแสเลือด อาจส่งผลให้มีอาการปวดศีรษะ มีไข้ หายใจลำบาก รู้สึกไม่สบายท้อง ปวดข้อต่อ การติดเชื้อในลักษณะนี้จะแสดงอาการอย่างรวดเร็ว และอาจพบฝีทั่วร่างกาย โดยเฉพาะในตับ ม้าม หรือต่อมลูกหมาก

เชื้อกระจายทั่วร่างกาย เชื้อสามารถแพร่กระจายจากผิวหนังผ่านเลือดไปสู่อวัยวะอื่น ๆ จนกลายเป็นการติดเชื้อเรื้อรังที่อาจส่งผลต่อหัวใจ สมอง ตับ ไต ม้าม ต่อมลูกหมาก ข้อต่อ ต่อมน้ำเหลือง กระดูก และดวงตา ซึ่งการติดเชื้อเหล่านี้อาจเกิดขึ้นอย่างฉับพลันหรือเรื้อรังก็ได้

ช่วงเวลาแสดงอาการอาจใช้เวลาตั้งแต่ 1 วัน ไปจนถึงหลายปี โดยทั่วไปอาการมักปรากฏขึ้นใน 2-4 สัปดาห์หลังได้รับเชื้อ หรือโดยเฉลี่ย 9 วันหลังจากการติดเชื้อ

การรักษาโรค

โรคเมลิออยโดสิสสามารถรักษาให้หายขาดได้ หากวินิจฉัยถูกต้องตั้งแต่ระยะแรก โดยแพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะใน 2 สัปดาห์แรกด้วยวิธีฉีด หลังจากนั้นจะให้ยาชนิดกินต่อไปเป็นเวลา 5 เดือน หากมีภาวะแทรกซ้อนอาจให้ยาเพิ่มขึ้นตามความเหมาะสม

การป้องกัน

  1. อย่าปล่อยให้ลูกเดินลุยน้ำ ย่ำโคลน หรือสัมผัสดินและน้ำโดยตรง หากจำเป็นต้องสวมรองเท้าบูท ถุงมือยาง กางเกงขายาว หรือชุดลุยน้ำ
  2. หากลูกมีบาดแผลที่ผิวหนัง ควรรีบทำความสะอาดบาดแผล และหลีกเลี่ยงการสัมผัสดินและน้ำจนกว่าแผลนั้นจะแห้งสนิท
  3. รับประทานอาหารปรุงสุก ดื่มน้ำสะอาด
  4. หลีกเลี่ยงการอยู่ที่โล่งแจ้ง ในขณะที่มีพายุฝนหรือสภาพอากาศแปรปรวน

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

MCOT Digital, pobpad, สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย, RAMA Channel

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

สังเกตสัญญาณเตือนจากเคสจริงโรค คาวาซากิ อันตราย!!

เช็คที่นี่!! 6 โรคผิวหนังในหน้าร้อน ที่ต้องระวัง

เช็ก! อาการช็อก เบื้องต้นของลูกนิ้วมือนิ้วเท้าฝ่าเท้าช่วยได้

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up