หาสาเหตุให้เจอ! ลูกหายใจครืดคราด เป็นเพราะอะไร แบบไหนอันตราย
ลูกหายใจครืดคราด ผิดปกติไหม
ทารกหรือเด็กเล็ก ๆ มักจะมีอาการหายใจครืดคราดได้บ่อย ๆ ทำให้พ่อแม่รู้สึกเป็นห่วง กลัวลูกจะเป็นอันตรายร้ายแรง โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ที่เพิ่งจะทำความรู้จักกับเจ้าตัวน้อยเป็นครั้งแรก แต่ก่อนจะคิด กังวลไปไกล มาดูสาเหตุหลัก ๆ 6 สาเหตุที่ทำให้ลูกหายใจครืดคราดกันค่ะ
เพจพี่กัลนมแม่ กลุ่มแม่และเด็ก คลินิกนมแม่ อธิบายถึง 6 สาเหตุที่ทำให้ทารกหายใจครืดคราด เพื่อให้พ่อแม่ได้สังเกตว่า ลูกหายใจแบบนี้มีโอกาสเป็นโรคอะไรได้บ้าง และอันตรายมากน้อยแค่ไหน
สำหรับสาเหตุที่ลูกหรือทารกหายใจเสียงดังครืดคราดนั้นมีอยู่ 6 สาเหตุที่พบได้บ่อย ดังนี้
1.แพ้โปรตีนนมวัว
การแพ้โปรตีนนมวัวเกิดได้ทั้งเด็กที่กินนมแม่ และเด็กที่กินนมผสมหรือกินนมวัว โดยเด็กที่กินนมแม่จะแพ้โปรตีนนมวัวได้จากการที่แม่ดื่มนมวัวหรือรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของนมวัว
อาการแพ้นมวัว แสดงว่าน้องหายใจครืดคราดจากอาการแพ้นมวัว
- คัดจมูก
- เยื่อบุโพรงจมูกบวม ทำให้หายใจไม่สะดวก
- เหมือนมีเสมหะในลำคอ
- หายใจหอบเหนื่อยคล้ายกับคนเป็นโรคหอบหืด
- บางครั้งน้องจะมีอาการแสดงของการแพ้นมวัวอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ผื่นขึ้นตามหน้า ตามข้อพับ ตามผิวหนัง
- ถ่ายเป็นมูก
- ถ่ายมีเลือดปน
คำแนะนำหากลูกแพ้นมวัว
ถ้าสงสัยว่าลูกหายใจครืดคราดจากการแพ้นมวัว สิ่งที่ควรปฏิบัติที่ง่ายที่สุด ถ้าทารกกินนมผงให้คุณพ่อคุณแม่เปลี่ยนนมผสม ไปใช้นมสำหรับเด็กแพ้นมวัว จะมีจำหน่ายตามร้านขายยา ห้างสรรพสินค้าบางห้าง คลินิกหรือโรงพยาบาล
กรณีที่คุณแม่ให้นมแม่ แนะนำให้ลดผลิตภัณฑ์นมวัว ทั้งเบเกอรี่ นมที่คุณแม่ทาน หรือโปรตีนเสริมต่าง ๆ ให้งด 2 สัปดาห์ แล้วสังเกตว่า อาการครืดคราดของลูกหายไปหรือเปล่า ถ้าหายไป แสดงว่า คุณแม่อาจจะมาถูกทางว่า ลูกแพ้โปรตีนนมวัว ถ้าลดแล้วอาการดีขึ้น คำแนะนำต่อไปให้คุณแม่ปรึกษาแพทย์ว่า ลูกแพ้นมวัว เพื่อให้คุณหมอวินิจฉัยว่า ลูกแพ้นมวัวจริงหรือไม่
2.กระดูกอ่อนหลอดลมยังไม่แข็งแรง
ปกติแล้วหลอดลมจะมีกระดูกอ่อนที่ช่วยคงสภาพหลอดลมให้เป็นหลอดลม ทำให้มีรูปทรงเป็นท่อ เพื่อให้เวลาหายใจเข้าหรือหายใจออก หลอดลมยังคงอยู่ในสภาพเดิม แต่ในเด็กบางคน กระดูกอ่อนยังไม่แข็งแรง เมื่อหลอดลมฟีบ เวลาที่หายใจจะทำให้เกิดเสียงดังครืดคราดได้ อาการนี้จะสังเกตเห็นได้ชัดเจนตอนทารกดูดนม เพราะทารกจะมีการหายใจที่แรงขึ้นเสียงจะยิ่งขึ้น
หากทารกดูดนมแล้วมีเสียงหายใจดังขึ้น แต่ถ้าจับนอนคว่ำเสียงหายใจจะเบาลง สันนิษฐานได้ว่า กระดูกอ่อนของหลอดลมยังไม่แข็งแรง คำแนะนำให้พาทารกไปพบแพทย์เพื่อรับคำวินิจฉัย คุณหมอจะรอ 1-2 ปี อาการจะหายไปเอง ไม่ต้องทำการรักษา
3.ความผิดปกติที่หลอดลมหรือสายเสียง
เด็กบางคนอาจจะมีเส้นเลือดงอกผิดปกติบริเวณรอบหลอดลม บางคนมีเนื้องอกกดทับบริเวณหลอดลม เนื้องอกที่ช่องอก โดยข้อสังเกตของน้องที่มีอาการผิดปกติที่สายเสียงจะไอและมีเสียงแหบร่วมด้วย อาการนี้ต้องได้รับการวินิจฉัยและรักษาโดยแพทย์
4.กรดไหลย้อน
สาเหตุเกิดจากกล้ามเนื้อหูรูดรอบหลอดอาหารของลูก ทำให้นม น้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลย้อนมาที่ช่วงคอ จนทำให้หายใจครืดคราด สังเกตได้ว่าช่วงเวลาที่ดูดนม ทารกจะมีอาการ ดังนี้
- แหวะนม
- อาเจียนนม
- ขย้อนนม
- ร้องกวนเวลาดูดนม
- กระสับกระส่าย
- แอ่นตัวไปมาเวลาที่ดูดนม เพราะดูดนมแล้วรู้สึกไม่สบายตัว
คำแนะนำ หากลูกมีอาการหายใจครืดคราดจากกรดไหลย้อน ให้คุณแม่ปรับการให้นม และให้กินนมอย่างถูกวิธี ครั้งละน้อย ๆ แต่บ่อยครั้ง ปริมาณนมต้องเหมาะสมกับน้ำหนักตัวของลูก กรณีให้ขวดนมกับทารก อย่าเพิ่งรีบวางลูกนอนราบ ให้อุ้มลูกสัก 15-30 นาที ก่อนวางลูกลง และควรให้แพทย์วินิจฉัยและตรวจร่างกาย เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างถูกวิธี
5.ลูกมีเสียงหายใจครืดคราดหลังจากการเป็นหวัด
ทารกอาจหายใจครืดคราดหลังจากการเป็นหวัดหรือหลอดลมอักเสบ โดยปกติ ถ้าลูกไม่มีอาการหายใจครืดคราด ก่อนหน้านี้เลย แต่มีอาการหายใจครืดคราดหลังอาการหวัด ไข้ ไอ มีน้ำมูก หลังจากหายแล้วแต่ยังมีหายใจครืดคราดนั้นจึงเกิดขึ้นได้ เพราะเด็กไม่สามารถสั่งน้ำมูกหรือขับเสมหะออกได้ด้วยตัวเอง แม้ว่าจะรักษาอาการไข้ ไอ มีน้ำมูกแล้ว แต่อาการหายใจครืดคราดจะคงอยู่ได้ประมาณ 2 สัปดาห์
6.ภาวะ Overfeeding
หนึ่งในสาเหตุที่พบบ่อยในทารก คือ ภาวะ Overfeeding เป็นสาเหตุที่ทำให้ทารกมีเสียงหายใจครืดคราด เพราะในช่วง 3 เดือนแรก ทารกจะมีการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม อาจจะร้องไห้ขอดูดนมตลอดเวลา ทำให้เกิดภาวะ Overfeeding ได้ หากทารกมีอาการหายใจครืดคราด รวมกับน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นเกินเดือนละ 1 กิโลกรัม มีการร้องเสียงเป็นแพะ เป็นแกะ บิดตัวเสียงดังเอี๊ยดอ๊าดตลอดเวลา อาเจียน แหวะนมบ่อย พุงกางเป็นน้ำเต้าตลอดเวลา ให้สันนิษฐานได้เลยว่าเกิดจาก ภาวะ Overfeeding โดยมักจะเกิดกับทารกที่กินนมด้วยขวดนมเป็นประจำ
ถ้าทารกมีอาการหายใจครืดคราด ลองสังเกตดูว่า ทารกหายใจครืดคราดตอนไหน ตอนดูดนม ตอนนอนหลับ หรือมีอาการหายใจผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วยหรือไม่ วิธีดูแล แม่ต้องปรับลดน้ำนมลง โดยคำแนะนำเบื้องต้นสำหรับภาวะ Overfeeding ในทารก แม่ต้องปรับลดปริมาณน้ำนมให้เหมาะสมกับน้ำหนักตัวของลูก ส่วนความแตกต่างระหว่างกรดไหลย้อนในทารกกับภาวะ Overfeeding น้ำหนักลูกจะไม่มีเพิ่มขึ้น แต่เด็กที่มีภาวะ Overfeeding น้ำหนักมักจะขึ้นมากกว่า 1 กิโลกรัมต่อเดือน
หากอาการหายใจครืดคราดของลูกเป็นอาการผิดปกติ ที่แม้จะปรับและดูแลลูกตามคำแนะนำแล้ว อาการของลูกก็ยังไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยอย่างละเอียดและรักษาอย่างตรงจุดต่อไป
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม
ทารกคลอดก่อนกำหนดน้ำหนักตัวน้อย พัฒนาการลูกจะเป็นอย่างไร อันตรายไหม