สมาคมกุมารแพทย์อเมริกันเตือน ยาแก้ไออันตราย ได้แก่ ยาแก้ไอผสม โคเดอีน ไม่ปลอดภัยต่อเด็ก และไม่ควรใช้ระงับปวดหรือระงับอาการไอในเด็ก
โคเดอีน คืออะไร
โคเดอีนเป็นอนุพันธ์ของฝิ่น (Opium) ออกฤทธิ์ที่ระบบประสาทส่วนกลาง (Central Nervous System, CNS) มีคุณสมบัติทางเภสัชวิทยาคือ ระงับปวด และมีประสิทธิภาพในการะงับอาการไอได้ดีมาก โดยออกฤทธิ์กดศูนย์ควบคุมการไอในสมอง ด้วยคุณสมบัติดังกล่าว โคเดอีนจึงถูกนำมาผลิตเป็นยาแก้ไอ โดยโคเดอีนจัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 2 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522
ในต่างประเทศ โคเดอีนถูกใช้มาเป็นเวลานานหลายสิบปี แม้จะมีหลักฐานยืนยันว่า มันไม่ได้มีประสิทธิภาพดีนัก และบางครั้งยังก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงหรืออันตรายถึงชีวิต
อันตรายจากโคเดอีน
นายแพทย์ Joseph Tobias แห่งมหาวิทยาลัย Ohio State University และโรงพยาบาล Nationwide Children’s Hospital กล่าวว่า ไม่มีเหตุผลใดๆ ที่จะต้องใช้โคเดอีน เพราะโคเดอีนส่งผลต่อปัญหาระบบทางเดินหายใจในเด็กที่เป็นอันตรายถึงชีวิตมานานกว่าสิบปี
การตรวจสอบล่าสุดจากองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) ถึงผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายจากการใช้โคเดอีนในเด็ก พบ เด็ก 64 รายมีอัตราการหายใจช้าลงอย่างรุนแรง และ 24 รายเสียชีวิตเนื่องมาจากยา โดย 21 รายเป็นเด็กอายุน้อยกว่า 12 ปี
ปัญหาระบบทางเดินหายใจมักจะเกิดขึ้นหลังจากเด็กได้รับการผ่าตัดต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์ เพื่อรักษาภาวะหายใจติดขัดระหว่างการนอนหลับหรือรักษาต่อมทอนซิลอักเสบเฉียบพลันหรือเรื้อรัง
โดยการเสียชีวิตของเด็กที่เกี่ยวเนื่องกับโคเดอีนพบว่าสัมพันธ์กับเด็กที่ได้รับยา อะเซตามิโนเฟน (acetaminophen) ร่วมกับ โคเดอีนหลังการผ่าตัด
เด็กบางรายที่ไม่ได้รับการวินิจฉัยปัญหาการหายใจระหว่างการนอนหลับตอนกลางคืน อาจมีปัญหาการหายใจหลังจากได้รับยาโคเดอีนเช่นกัน
มีหลักฐานเพียงเล็กน้อยเท่านั้นถึงประสิทธิภาพในการระงับอาการไอในเด็กของโคเดอีน และจากหลักฐานยังแสดงให้เห็นว่า เด็กบางคนอาจไม่ตอบสนองต่อการรักษาอาการปวด
ปัญหาคือ เมื่อโคเดอีนเข้าสู่ร่างกาย ตับจะเปลี่ยนโคเดอีนเป็นมอร์ฟีนที่มีคุณสมบัติบรรเทาอาการปวด แต่ความแตกต่างทางพันธุกรรมมีผลต่อความสามารถของตับในการสร้างมอร์ฟีน หากสร้างได้น้อยเกินไปก็จะไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ หากสร้างได้มากเกินไปก็อาจเป็นอันตราย หรือมีอัตราการหายใจช้าลงที่รุนแรงถึงชีวิต
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
องค์การอาหารและยาของสหรัฐเคยออกประกาศเตือนให้แพทย์ระมัดระวังการสั่งยาโคเดอีนในเด็กที่ได้รับการผ่าตัดต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์แล้วตั้งแต่ปี 2013 และแพทย์ในโรงพยาบาลเด็กชั้นนำทั่วสหรัฐได้รับคำแนะนำให้หยุดการจ่ายยาโคเดอีนแล้ว
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความกังวลและข้อสงสัยมากมายว่าโคเดอีนใช้ได้ผลหรือไม่ การจ่ายยาโคเดอีน รวมถึงการจำหน่ายโดยไม่มีใบสั่งยาจากแพทย์ก็ยังเป็นที่แพร่หลายใน 28 รัฐและกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.
สมาคมกุมารแพทย์อเมริกันจึงออกมาเตือนอีกครั้ง เพื่อให้กุมารแพทย์และกุมารแพทย์ผ่าตัดตระหนักถึงอันตรายของโคเดอีนและคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นสำคัญ