ศาสตราจารย์แพทย์หญิง บุษบา วิวัฒน์เวคิน ผู้เชี่ยวชาญโรค ทางเดินอาหารและโรคตับในเด็ก โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช อินเตอร์เนชั่นแนล สุขุมวิท ได้มาไขข้อข้องใจถึงโรคร้ายที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดได้ในเด็กเล็กว่า
โรคเนื้องอกในลำไส้ใหญ่ในเด็กนั้น ส่วนใหญ่พบในเด็กอายุ 1-3 ปี แต่ก็เคยมีกรณีพบในเด็กอายุเพียง 5 เดือน ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ของโรคเนื้องอกในลำไส้ใหญ่ที่เกิดในเด็กนั้น มักเกิดจากการระคายเคืองของเนื้อเยื่อในโพรงลำไส้ ซึ่งต่างจากผู้ใหญ่ที่เนื้องอกเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น พันธุกรรม อาหารการกิน การใช้ชีวิตประจำวันที่เอื้อให้เกิดความผิดปกติของเซลล์ต่าง ๆ เช่น การสูบบุหรี่ เป็นต้น
“สำหรับความผิดปกติของเนื้อเยื่อในลำไส้นั้น เกิดเป็นเนื้องอกหรือติ่งเนื้อต่อมาอาจเกิดเป็นภาวะแทรกซ้อนทำให้มีอาการลำไส้กลืนกัน ซึ่งทำให้มีการอุดตันของลำไส้เป็นภาวะฉุกเฉิน หรือมีเลือดออกในทางเดินอาหารซึ่งจะหาสาเหตุและรักษาได้จากการส่องกล้องลำไส้ใหญ่”
แม้ว่าเนื้องอกที่เป็น มะเร็งลำไส้ใหญ่ในเด็ก จะพบได้ไม่มากนัก แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ควรชะล่าใจค่ะ หากเกิดอาการผิดปกติควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างทันท่วงที
ซึ่งหาได้รับการตรวจแล้ว โชคดีติ่งเนื้อไม่มีเซลล์มะเร็งหรือไม่มีโอกาสกลายเป็นเนื้อร้ายก็ดีไป แต่ถ้าเนื้อเยื่อนั้นผิดปกติเปลี่ยนแปลงไปเป็นตัวมะเร็งก็อันตราย
อาการที่พบในเด็ก
- ถ่ายมีมูกเลือดปน
- หรือท้องเสียบ่อย
- น้ำหนักลด
หากพบว่าลูกมีอาการน่าสงสัยตามที่กล่าวมา คุณหมอจะทำการตรวจด้วยการส่องกล้องค่ะ ถ้าไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อหรือเป็นแผลจากลำไส้อักเสบเรื้อรังแล้ว เมื่อส่องกล้องเข้าไปจะพบติ่งเนื้ออยู่ในลำไส้ แพทย์จะทำการใช้อุปกรณ์ตัดคีบเอาชิ้นเนื้อออกมาตรวจพิสูจน์ในเด็กเล็กอายุ 1-3 ปี อาจมีการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อ ซึ่งเกิดจากการระคายเคือง เช่น มีพยาธิรบกวนในลำไส้ เป็นต้น
หรืออีกกรณีคือในครอบครัวมีคนเป็นติ่งเนื้อในลำไส้ที่อาจกลายเป็นมะเร็ง กรณีนี้เกิดจากพันธุกรรม ทำให้เด็กมีโอกาสเป็นติ่งเนื้อในลำไส้ได้ ถือเป็นกลุ่มพิเศษที่เราจะต้องตรวจหาพันธุกรรมชนิดนี้ และติดตามป็นระยะๆ ว่าเด็กโตขึ้นจะมีติ่งเนื้อในลำไส้ไหม ถ้ามีก็ส่องกล้องเพื่อตัดติ่งเนื้อทิ้งเลย ก่อนจะเกิดและกลายเป็นมะเร็งในอนาคตนั่นเอง