ทำไมโควิดเข้าข่าย โรคประจำถิ่น - Amarin Baby & Kids

ทำไมโควิดเข้าข่าย โรคประจำถิ่น

Alternative Textaccount_circle
event

ทำไมโควิดเข้าข่าย โรคประจำถิ่น

สถานการณ์รายวันของโควิด-19 ยังคงไม่ลดความรุนแรงลง ผู้ติดเชื้อยังมีจำนวนมากไม่ลดลง แม้อาการโดยรวมไม่หนักหนา แต่ก็ยังมีผู้เสียชีวิตรายวัน โดยเฉพาะเด็กเล็ก อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ที่กำลังจะถึงนี้ โควิด-19 ก็กำลังจะกลายเป็นอีกหนึ่ง โรคประจำถิ่น ของไทย แม้จะฟังดูไม่หนักหนา แต่ก็ยังคงนิ่งนอนใจไม่ได้ เลยค่ะคุณพ่อคุณแม่ เรามารู้จักกับคำว่าโรคประจำถิ่น คืออะไร โรคระบาดคืออะไร ทำไมโควิดจึงเข้าข่ายโรคประจำถิ่น และโรคประจำถิ่นในไทยมีอะไรบ้างค่ะ

โรคประจำถิ่น (Endemic) หมายถึงอะไร

ข้อมูลจาก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้คำจำกัดความของโรคประจำถิ่นไว้ว่า โรคประจำถิ่น (Endemic) คือ โรคที่เกิดขึ้นประจำในพื้นที่นั้นๆ กล่าวคือมีอัตราป่วยคงที่และสามารถคาดการณ์ได้ โดยขอบเขตของพื้นที่นั้นอาจเป็นเมือง ประเทศ หรือใหญ่กว่านั้นอย่างทวีป

โควิด-19 เป็นโรคระบาดที่อยู่ในประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการสถานการณ์โรคโควิด-19 สู่โรคประจำถิ่น เพื่อให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเตรียมพร้อมรับมือ โดยเป็นวาระต่อเนื่องจากแผนยุทธศาสตร์การเตรียมความพร้อม ป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ

โรคประจำถิ่นกับโรคระบาด ต่างกันอย่างไร

ตามหลักระบาดวิทยาได้แบ่งการระบาดออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่

1. โรคประจำถิ่น (Endemic) คือ การระบาดที่เกิดขึ้นในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งที่สามารถคาดการณ์ได้
2. การระบาด (Outbreak) คือ การระบาดที่เป็นโรคประจำถิ่นอยู่แล้ว แต่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นผิดปกติ เช่น การระบาดของเชื้อไวรัสไข้เลือดออกในปี พ.ศ.2562
3. โรคระบาด (Epidemic) คือ การระบาดที่แพร่กระจายเป็นวงกว้าง มีผู้ติดเชื้อจำนวนเกินคาดการณ์ได้ เช่น โรคอีโบลาที่เกิดการระบาดในทวีปแอฟริกาข้ามไปยังทวีปอื่นๆ พ.ศ.2557-2559
4. การระบาดครั้งใหญ่ทั่วโลก (Pandemic) คือ การระบาดที่เกิดขึ้นครั้งใหญ่ ลุกลามไปทั่วโลก เช่น ไข้หวัดสเปน พ.ศ.2461 และไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ พ.ศ.2553 รวมถึงเชื้อไวรัสโคโรนา-2019 ที่กำลังระบาดอยู่ในปัจจุบันด้วย

โรคโควิด-19 จะเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่นได้เมื่อใด

โรคโควิด-19 จะเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่นได้ ก็ต่อเมื่อ

1. เชื้อลดความรุนแรง วัดจากอัตราการเสียชีวิตที่ลดลงตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยขณะนี้ทั่วโลกตัวเชื้อมีสภาพอ่อนลงแล้ว
2. ประชาชนมีภูมิคุ้มกันดีขึ้นจากการฉีดวัคซีน หรือภูมิที่เกิดขึ้นหลังจากการติดเชื้อมาก่อนแล้ว โดยของไทยต้องการให้ฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 เพราะลดการป่วยหนักและการเสียชีวิตได้มากถึง 50%
3. การดูแลจัดการสาธารณสุขที่ควบคุมและชะลอการระบาดได้ ปัจจุบันไทยยังมีความพร้อม ซึ่งดูได้จากอัตราการครองเตียง ที่ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก แต่ใช้เตียงไปไม่เกิน 30%

ซึ่งเกณฑ์ในการพิจารณาให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ในที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติได้กำหนดไว้ 4 เกณฑ์ ประกอบไปด้วย

1) ต้องมีผู้ป่วยรายใหม่ไม่เกิน 10,000 คนต่อวัน

2) อัตราป่วยตายน้อยกว่าร้อยละ 0.1

3) การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลน้อยกว่าร้อยละ 10

4) กลุ่มเสี่ยงป่วยรุนแรง (ผู้สูงอายุ-ผู้ป่วยเป็นโรคร้ายแรง) ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 2 โดส มากกว่าร้อยละ 80

โรคประจำถิ่น
โควิดกำลังจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น

โรคประจำถิ่นในไทย มีอะไรบ้าง

โรคไข้เลือดออก ได้ถูกประกาศเป็นโรคประจำถิ่นตามนิยามทางระบาดวิทยา หลังจากที่พบว่าเป็นโรคอุบัติใหม่ในช่วงปี พ.ศ.2500 และเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังตามนิยามของกฎหมาย แม้ว่าเป็นโรคที่รักษาให้หายได้ แต่หากเข้ารับการประเมินการรักษาไม่ทันท่วงที ผู้ป่วยก็มีอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้

โรคไข้หวัดใหญ่ ถือเป็นโรคประจำถิ่นที่เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่เปลี่ยนแปลงพัฒนาสายพันธุ์ไปเรื่อยๆ พบว่าเป็นเชื้อไวรัสที่มีต้นกำเนิดมาจากสัตว์ตระกูลนก พบการระบาดครั้งใหญ่ที่เกาะฮ่องกง พ.ศ.2540 ทำให้ไก่ที่ติดเชื้อรุนแรงตายจำนวนมาก คนที่ติดเชื้อมาจากอุจจาระไก่เกิดเป็นการระบาดต่อเนื่องในคน

โรคเอดส์

โรคเอดส์ เป็นโรคติดเชื้อไวรัส HIV ทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายบกพร่อง โรคนี้พบเป็นโรคอุบัติใหม่ในปี พ.ศ.2527 และเมื่อกลายเป็นโรคติดต่อที่เฝ้าระวัง ก็กลายเป็นโรคประจำถิ่นเช่นกัน

แผนรองรับโควิดเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น

ทางคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติก็ได้ให้ความเห็นชอบ แผนรองรับการเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น โดยแบ่งออกเป็น 4 เดือน หรือที่เรียกกันว่า “แผน 3 บวก 1” ดังนี้

ระยะที่ 1 (12 มี.ค.-ต้น เม.ย.) เรียกว่า combatting สาระสำคัญของแผนระยะนี้ก็คือ ต้องออกแรง “กดตัวเลข” ผู้ติดเชื้อไม่ให้สูงไปกว่านี้ เพื่อลดการระบาด ลดความรุนแรงของโควิด-19

ระยะที่ 2 (เม.ย.-พ.ค.) เรียกว่า plateau คือ การคงระดับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ไม่ให้สูงขึ้น แต่ให้เป็นระนาบจนตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงเรื่อย ๆ

ระยะที่ 3 (ปลาย พ.ค.-30 มิ.ย.) เรียกว่า declining คือ การลดจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ลง ให้เหลือวันละ 1,000-2,000 ราย

ระยะ 4 ตั้งแต่ 1 ก.ค. 2565 เป็นต้นไป เรียกว่า post pandemic คือ ออกจากโรคระบาดและเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น

ทั้งหมดนี้จะถูกดำเนินการภายในระยะเวลา 4 เดือน แต่ประชาชนยังต้องปฏิบัติตามมาตรฐานป้องกันโรคเหมือนเดิม ไม่ว่าจะเป็นมาตรการ VUCA ซึ่งประกอบไปด้วย V-vaccine, U-universal prevention, C-COVID-19 free setting และ A-ATK

 

แม้ว่าจะใกล้การประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ก็ไม่ได้หมายความว่าเชื้อนี้จะหายไป คุณพ่อคุณแม่ยังคงต้องรักษาระยะห่าง ล้างมือตัวเองและลูกน้อยด้วยเจลแอลกอฮอล์ ใส่หน้ากากอนามัยหากต้องออกไปข้างนอก เพื่อป้องกันตัวเองแม้จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นแล้วก็ตามค่ะ

 

ขอบคุณข้อมูลจาก
ไทยรัฐออนไลน์, ประชาชาติธุรกิจออนไลน์, 

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

เปลี่ยนแม่เป็นหมอ เปลี่ยนพ่อเป็นพยาบาล รับมือ โอมิครอนในเด็ก

เด็กเล็กติดโควิด ดับรายวัน! มีโรคร่วม แนะรีบหาหมอ

วัคซีนโควิด-19 ในเด็ก : ทำความเข้าใจ ปลอดภัย หายห่วง

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up