อย่าเพิ่งนอนใจแม้เด็กเล็กติดโควิดจะมีอัตราป่วยรุนแรงต่ำ แต่ยังคงเตือนให้พ่อแม่เฝ้าสังเกตอย่างใกล้ชิด อาการโควิดในเด็ก แบบไหนควรรีบพาไปโรงพยาบาล ต้องรู้!!
เตือนพ่อแม่!!สังเกต อาการโควิดในเด็ก ย้ำดูแลใกล้ชิด
ในช่วงต้นของการระบาดของโรคโควิด-19 เราพบว่าการระบาดในกลุ่มเด็กนั้นยังไม่เป็นที่น่ากังวล เนื่องจากอัตราการติดเชื้อ และผู้ป่วยเด็กนั้นมีน้อย ผู้ป่วยเด็กที่มีอาการรุนแรงก็พบได้ไม่มาก การพัฒนาวัคซีนสำหรับป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงมีสำหรับผู้ใหญ่ก่อน และวัคซีนสำหรับเด็กนั้นเพิ่งจะได้รับการอนุมัติให้นำมาใช้ได้เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทำให้ในปัจจุบันที่เชื้อไวรัสได้กลายพันธุ์ พัฒนาไปเป็น เชื้อไวรัสที่พบมากในขณะนี้ คือ โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ที่มีลักษณะพิเศษเด่นตรงที่เป็นสายพันธุ์ที่แพร่กระจายเชื้อได้เร็ว และมีอัตราการป่วยในเด็กเพิ่มมากขึ้นกว่าสายพันธ์ุก่อนหน้า เราจึงพบแนวโน้มเด็กติดโควิด-19 เพิ่มขึ้น
นพ.อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (โรงพยาบาลเด็ก) แถลงเมื่อ 12 ม.ค. ว่า สถานการณ์การติดเชื้อโควิด และอัตราของครองเตียงของเตียงของเด็กขณะนี้ไม่ได้มากขึ้นกว่าปกติ แต่คาดการณ์ว่า จำนวนผู้ป่วยจะมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นเหมือนกันทั่วโลก เพราะเด็กอายุ 5-11 ปี เป็นกลุ่มที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ไม่ใช่เพราะเชื้อมีความรุนแรงมากขึ้น พร้อมย้ำว่ามีเตียงผู้ป่วยเด็กเพียงพอ และผู้ป่วยเด็กส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง
นพ.อดิศัย ระบุว่า ขณะนี้ที่โรงพยาบาลเด็ก มีเตียงเด็ก 70 เตียง เตียงสีแดงสำหรับทารกแรกเกิดและเด็กโต 13 เตียง ขณะนี้ยังไม่พบผู้ป่วยอาการสีแดงและสีส้ม มีเพียงอาการสีเหลือง 1 ราย นอกจากนี้ ยังมีผู้ป่วยเด็กที่เข้ากระบวนการกักตัวและรักษาโควิด-19 อยู่ที่บ้าน (home isolation หรือ HI) 60 คน และเป็นผู้ป่วยใน 32 คน ในจำนวนนี้มีคนไข้อายุน้อยสุดเพียง 4 เดือน
ข้อมูลอ้างอิงจาก www.bbc.com
จากสถิติดังกล่าวจึงยืนยันได้ว่า แนวโน้มเด็กติดโควิด-19 เพิ่มขึ้นในการระบาดระลอกที่ 5 โดยคาดว่าสัดส่วนผู้ป่วยเด็กอาจเพิ่มขึ้นเป็น 1 ใน 3 ของผู้ป่วยโควิดทั้งหมดในไทย โดยรายงานตั้งแต่วันที่ 7 มกราคมเป็นต้นมา มีผู้ป่วยเด็กเข้ากระบวนการ Home Isolation (HI) เพิ่มขึ้นเฉลี่ยวันละ 15-20 คน โดยเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวเมื่อเทียบกับเดือน ธ.ค. ปีที่แล้ว
นพ. สุทัศน์ โชตนะพันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค แถลงเมื่อ 13 ม.ค. ว่าการติดเชื้อโควิด-19 ไม่ได้จำกัดช่วงอายุ เด็กก็มีโอกาสติดเชื้อได้ไม่ต่างจากคนช่วงอายุอื่น ๆ แต่ก็ไม่ได้เสี่ยงมากเป็นพิเศษ แต่ที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษคือกลุ่มเด็กที่มีโรคประจำตัว กระทรวงสาธารณสุขจึงรณรงค์ให้เด็กกลุ่มนี้ได้ฉีดวัคซีนก่อน
อาการของผู้ป่วยโควิดเด็ก…ที่พ่อแม่ต้องรู้!!
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย ได้เผยถึงอาการติดเชื้อของผู้ป่วยโควิดเด็กที่พบในช่วงนี้ ว่ากลุ่มเด็กเล็กได้รับเชื้อโควิด-19 มาจากคนในครอบครัว อาการที่พบมีตั้งแต่ไม่มีอาการ จนถึงมีอาการรุนแรง เช่น ปอดอักเสบซึ่งจะพบในเด็กทารก และเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 5 ปี เป็นส่วนมาก จึงแนะนำให้ พ่อแม่ ผู้ปกครอง ต้องคอยสังเกตอาการโดยรวมของเด็กอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ซึ่งระดับอาการของเด็กแบ่งเป็น 2 แบบ คือ
แบบที่ 1 อาการในระดับที่สามารถเฝ้าสังเกตที่บ้านต่อไปได้ ซึ่งเด็กจะมีอาการป่วย ดังนี้
- มีไข้ต่ำ
- มีน้ำมูก
- อาการไอเล็กน้อย
- ไม่มีอาการหอบเหนื่อย
- ถ่ายเหลว
- ไม่ซึม ยังคงรับประทานนม หรืออาหารได้
โดยกลุ่มนี้ยังสามารถรับการรักษาแบบ Home Isolation (HI) ได้ แต่ต้องมีพ่อแม่ หรือผู้ปกครองที่สามารถดูและประเมินอาการให้เด็กได้ตลอดเวลา โดยใช้อุปกรณ์เพื่อติดตามอาการ ได้แก่ ปรอทวัดไข้ เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว อุปกรณ์ที่สามารถถ่ายภาพหรือคลิปวิดีโออาการของเด็กได้ โทรศัพท์เพื่อติดต่อกับสถานพยาบาลหากมีเหตุจำเป็น และยาสามัญประจำบ้านเพื่อบรรเทาอาการ ได้แก่ยาลดไข้ เช่นพาราเซตามอล ยาแก้ไอ ยาลดน้ำมูก และเกลือแร่
แบบที่ 2 อาการที่ผู้ปกครองควรติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อนำเด็กส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว ซึ่งเด็กจะมีอาการป่วย ดังนี้
- มีไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียสขึ้นไป
- หายใจหอบเร็วกว่าปกติ ใช้แรงในการหายใจ สังเกตว่าเด็กเวลาหายใจหน้าอกบุ๋ม ชายโครงบุ๋ม หรือปีกจมูกบาน
- ริมฝีปาก เล็บ ปลายมือปลายเท้าเขียวคล้ำ ระดับออกซิเจนปลายนิ้วน้อยกว่า 94%
- ซึมลง ไม่รับประทานนม หรืออาหาร เพลีย ไม่มีแรง
แนะวิธีการดูแลลูกเมื่อป่วยโควิด-19
แม้ว่าเด็กที่ป่วยโควิด-19 ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ แต่พ่อแม่จำเป็นต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด นอกจากนั้นยังมีวิธีปฎิบัติตนสำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองในการดูแลเด็กที่ป่วยโควิด-19 ดังนี้
- ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาขณะดูแล เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
- ควรล้างมืออย่างถูกวิธีหลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้า ตา ปาก จมูก
- ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับเด็กที่ติดเชื้อ
- ทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสในห้องเป็นระยะด้วยแอลกอฮอล์ความเข้มข้น 70% หรือน้ำยาทำความสะอาดที่สามารถกำจัดเชื้อโควิด-19
กระทรวงสาธารณสุขให้ความมั่นใจ…กางแผนรับมือ!!
นพ.สมศักดิ์ ระบุว่า กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมความพร้อม ดังนี้
- เตรียมความพร้อมของโรงพยาบาลทุกแห่งในการเตรียมยาน้ำฟาวิพิราเวียร์สำหรับผู้ป่วยเด็ก รวมทั้งสนับสนุนยาน้ำฟาวิพิราเวียร์ให้ในระยะแรก สำหรับ โรงพยาบาลที่ทำยาน้ำไม่ได้ แต่ตอนนี้เข้าใจว่าทำได้หมดแล้ว
- สถาบันสุขภาพเด็ก ซึ่งเป็นหน่วยงานสังกัดกรมการแพทย์ได้จัดทีมผู้เชี่ยวชาญทำงานร่วมกับบุคลากรการแพทย์และสาธารณสุขในพื้นที่ต่าง ๆ รวมทั้งกรุงเทพฯ ในการให้คำปรึกษาเรื่องการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่เป็นเด็ก ทั้งที่ต้องรักษาในโรงพยาบาล หรือผู้ป่วยที่รักษาในระบบกักตัวที่บ้าน (HI) และสถานแยกกักในชุมชน (community isolation หรือ CI)
- จัดเตรียมเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยา เช่น หน้ากากอนามัยสำหรับเด็กให้เพียงพอ
- เตรียมเตียงสำหรับผู้ป่วยเด็กให้เพียงพอ สำหรับใน กทม. ได้มีการจัดเตรียมศูนย์กักตัวในชุมชนอย่างน้อยเขตละ 1 แห่ง พร้อมสร้างระบบส่งต่อหากมีอาการหนัก ในต่างจังหวัดก็สั่งการให้เตรียมการรักษาแบบ HI และ CI สำหรับเด็ก “เราขอความร่วมมือสถานพยาบาลทุกแห่งว่าถ้ามีผู้ป่วยเด็กไปที่โรงพยาบาลของท่าน ช่วยรับไว้ก่อน ไม่ควรให้ผู้ป่วยตระเวนไปเอง”
- สำหรับในสถานแยกกักในชุมชน (CI) ให้เตรียมพื้นที่สำหรับผู้ป่วยเด็กที่ต้องมีผู้ปกครองดูแล อย่างน้อยโซนละ 1 แห่ง และมีระบบส่งต่อโรงพยาบาลเมื่ออาการรุนแรง
- จัดเตรียมเตียงสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการหนัก (ผู้ป่วยระดับ 3) ในโรงพยาบาล สำหรับผู้ป่วยเด็กที่มีอาการรุนแรงมาก เบื้องต้นใน กทม. ให้เตรียมไว้ 100 เตียง และขอความร่วมมือประชาชนทั่วไปที่ติดโควิด แต่มีอาการน้อยและมีสุขภาพแข็งแรงให้เลือกใช้วิธีกักตัวที่บ้านหรือในชุมชนก่อน เพื่อให้มีเตียงสำหรับผู้ป่วยอาการไม่หนัก (สีเขียว) ใน โรงพยาบาลเพิ่มขึ้น ซึ่งเตียงเหล่านี้จำเป็นสำหรับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เด็กอายุต่ำกว่า 1 ปีที่อาการเปลี่ยนแปลงเร็ว หมอจำเป็นต้องรับเข้ารักษาในโรงพยาบาลไว้ก่อน รวมทั้งผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 80 ปี
ข้อมูลอ้างอิงจาก www.thairath.co.th
สิ่งที่ต้องสอนลูกก่อนวัย 3 ขวบ เพื่อเตรียมตัวก่อนเข้าโรงเรียน
ติดโควิด 5 วิธีกักตัวที่บ้าน ดูแลตัวเองและลูกๆ ระหว่างรอเตียง
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่