ระวัง ไข้เลือดออกระบาด ติดเชื้อร่วมโควิด ดับแล้วหลายราย
สถานการณ์ตอนนี้โรคที่ต้องเฝ้าระวัง นอกเหนือจากโรคโควิด19 คือ โรคไข้เลือดออกเพราะเริ่มพบว่าเริ่มมีสัญญาณ ไข้เลือดออกระบาด มีผู้ป่วยเสียชีวิตเพิ่มขึ้น แต่คนส่วนใหญ่สนใจโรคโควิด19 มากจนละเลยโรคไข้เลือดออก ทั้ง ๆ ที่ อัตราการเสียชีวิตของทั้ง 2 โรคนี้นั้น ใกล้เคียงกันค่ะ
สถานการณ์ ไข้เลือดออกระบาด
สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปี 2565 ตั้งแต่ 1 ม.ค. – 9 ก.พ. 2565 พบผู้ป่วยจำนวน 305 ราย เสียชีวิต 2 ราย กลุ่มอายุพบมากที่สุด คือ อายุ 5-14 ปี และรองลงมา คือ อายุ 15-24 ปี จังหวัดที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ กรุงเทพมหานคร โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกที่สำคัญ ได้แก่ มีโรคประจำตัว
ส่วนในปี 2564 มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเสียชีวิตทั้งหมด 6 ราย แต่ในปี 2565 ผ่านไปเพียง 2 เดือนมีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเสียชีวิตไปแล้ว 3 ราย ซึ่งผู้เสียชีวิตเป็นโรคไข้เลือดออกร่วมกับโรคโควิด 19 ด้วย และยังพบอีกว่าทั้ง 3 รายที่เสียชีวิตซื้อยากินเอง หรือรับยาจากร้านยา โดยเป็นยากลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) หรือแอสไพริน ซึ่งทำให้มีเลือดออกในทางเดินกระเพาะอาหาร และเสียชีวิตได้
อย่างไรก็ตามในช่วงนี้มีโอกาสพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นทุกภาคทั่วประเทศ เนื่องจากมีฝนตกในหลายพื้นที่ ทำให้เกิดน้ำขังตามภาชนะและวัสดุต่าง ๆ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของลูกน้ำยุงลาย ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคไข้เลือดออก
อาการโรคไข้เลือดออก
สถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ทำให้คนอยู่ดูแลบ้าน จึงกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายไปได้มากขึ้น การระบาดของโรค จึงเงียบหายไป 2 ปี แต่ปีนี้ โรคไข้เลือดออก กลับมาระบาดอีกครั้ง เพราะคนเริ่มออกจากบ้าน จนการป้องกันลดลง โรคไข้เลือดออก มียุงลายเป็นพาหะนำโรค โดยยุงลายที่ดูดเลือดของผู้ที่ติดเชื้อไวรัสเดงกี่ จะแพร่เชื้อเข้าสู่ร่างกายผู้ที่ถูกยุงกัดคนต่อไป อาการของไข้เลือดออก สามารถสังเกตได้ ดังนี้
- มีไข้สูงแบบเฉียบพลัน และต่อเนื่องเป็นเวลา 2-7 วัน
- ปวดศีรษะ
- ปวดเมื่อยตามตัว
- ส่วนใหญ่มีอาการหน้าแดง
- อาจมีจุดแดงเล็ก ๆ ขึ้นตามลำตัว แขน ขา
- ไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก
- มักมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน
- ปวดท้องและเบื่ออาหาร
ผู้ป่วยไข้เลือดออก จะมีไข้สูงมาก และปวดหัวรุนแรง เบื้องต้นจึงใช้ยาระงับอาการ เช่น พาราเซตามอล แก้ปวด และลดไข้ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ ยาแอสไพริน ซึ่งจะมีผลต่อเซลล์เม็ดเลือด อาจกระทบต่อภาวะที่มีเลือดออก ซึ่งทำให้อาการแย่ลง หากพบว่ามีอาการไข้ลดลง อย่าเพิ่งชะล่าใจ เพราะอาจเกิดภาวะช็อก จนกระทั่งเสียชีวิตได้ หรือถ้ามีไข้สูงต่อเนื่องกว่า 2 วัน แม้จะเช็ดตัว หรือทานยาลดไข้แล้วก็ไม่ดีขึ้น ให้สงสัยว่าเป็นไข้เลือดออกไว้ก่อน แล้วควรนำส่งโรงพยาบาล เพื่อตรวจอาการและรักษาได้ทันเวลาค่ะ
วิธีป้องกันและควบคุมไข้เลือดออก
- ป้องกันยุงลายกัด ยุงลายมักจะกัดคนในเวลากลางวัน ควรติดมุ้งลวดเพื่อป้องกันยุงเข้ามาในบ้าน หลีกเลี่ยงการอยู่บริเวณมุมอับชื้น ใช้ยากันยุงที่สกัดจากพืชธรรมชาติ
- กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายให้หมดไป ยุงลายจะเพาะพันธุ์ในน้ำใส ในภาชนะที่เก็บน้ำใช้ในบ้าน เช่น โอ่งน้ำ ถ้วยรองขาตู้กันมด แจกันดอกไม้ ภาชนะนอกบ้านที่มีน้ำขัง เช่น ยางรถยนต์ การทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายกระทำได้โดย
-
- ภาชนะที่ใช้เก็บน้ำต้องมีฝาปิดให้มิดชิด
- ใช้ทรายกำจัดลูกน้ำใส่ในภาชนะขังน้ำ
- ทำลายภาชนะที่ไม่จำเป็น เพราะอาจมีน้ำขังได้
- ปล่อยปลากินลูกน้ำ เช่น ปลาหางนกยูงในภาชนะที่มีน้ำขังขนาดใหญ่ เช่น อ่างบัว
- เปลี่ยนน้ำในภาชนะเล็ก ๆ เช่น แจกันทุก 7 วัน
- ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมในบ้านและรอบบ้านให้เป็นระเบียบ
- ขัดขอบภาชนะทุกครั้งที่เปลี่ยนน้ำเพื่อทำลายไข่ยุงลาย
อาการโรคโควิด 19
ตอนนี้โควิด 19 สายพันธุ์โอมิครอน กำลังระบาดหนัก พบว่า ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่มีอาการหนักมากนัก โดยอาการที่พบบ่อย ได้แก่
- มีไข้
- ไอ เจ็บคอ
- ปวดกล้ามเนื้อ
- มีน้ำมูก
- ปวดศีรษะ
- หายใจลำบาก
- ได้กลิ่นลดลง
โดยส่วนมากแล้ว การติดเชื้อโควิดโอมิครอน จะเป็นการติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจส่วนบน ไม่ได้ลงปอด จึงทำให้อาจพบเจอผู้ป่วยเหล่านี้ ปะปนกับคนทั่วไป ในที่สาธารณะได้ง่าย แม้จะฉีดวัคซีนป้องกันโควิดแล้ว ก็ยังสามารถติดเชื้อได้ แต่ก็ช่วยลดความรุนแรงของอาการลงไปได้มาก ดังนั้น จึงควรป้องกันตนเอง ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย 2 ชั้น โดยไม่ควรเป็นหน้ากากผ้าเพียงอย่างเดียว เพราะป้องกันเชื้อโรคไม่ให้เข้าหาเราไม่ได้ ล้างมือด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์บ่อย ๆ เพื่อเสริมการป้องกัน ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
หากคุณพ่อ คุณแม่ หรือลูกน้อยมีอาการป่วย เช่น มีไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อยหอบ เบื่ออาหาร ปวดท้อง ซึ่งลักษณะคล้ายกัน ทั้งโรคไข้เลือดออก และโรคโควิด19 ขอให้รีบไปพบแพทย์หรือสถานพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อรับการวินิจฉัยและรับการรักษาต่อไปนะคะ
ขอบคุณข้อมูลจาก
springnews, pobpad, ไทยรัฐออนไลน์
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก