โรคพิษสุนัขบ้า ทำเสียชีวิตแล้ว 1 ราย แค่ถูกสุนัขข่วน
โรคที่ต้องระวังเพราะมาคู่กับหน้าร้อนโรคหนึ่งก็คือ โรคพิษสุนัขบ้า นับเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงสำหรับคุณพ่อคุณแม่ เพราะหากลูกไปเล่นกับสัตว์ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า แล้วถูกกัด หรือข่วน ไม่ว่าจะเป็นสุนัขที่มีเจ้าของ หรือไม่มีเจ้าของ ก็อาจติดโรคพิษสุนัขบ้าได้ และหากไม่รักษา ก็อาจเสียชีวิต เช่นเดียวกับผู้โชคร้ายรายนี้ค่ะ
โรคพิษสุนัขบ้า คืออะไร
โรคพิษสุนัขบ้า หรือโรคกลัวน้ำ เป็นโรคที่สามารถติดเชื้อเข้าสู่สมอง ติดต่อจากสัตว์สู่คน มีอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต ผู้ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าจะเสียชีวิตเกือบทุกราย เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มียาที่ใช้ในการรักษา แต่ป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีนค่ะ
สถิติผู้ป่วยและเสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า
ในแต่ละปี องค์การอนามัยโลกรายงานผู้เสียชีวิต จากโรคพิษสุนัขบ้ามากกว่า 60,000 รายทั่วโลก โดยจะพบมากในประเทศแถบเอเชียและแอฟริกา และร้อยละ 40 ของผู้ที่ถูกสุนัขบ้ากัด เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี
ในประเทศไทย มีรายงานคนถูกสัตว์กัดหรือข่วนมากกว่า 1 ล้านคนต่อปี และสถิติของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ในช่วงปี พศ. 2554-2558 มีรายงานผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า 5-7 รายต่อปี แต่ในปี พ.ศ. 2561 เพียงประมาณ 2 เดือนมีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าแล้วถึง 3 ราย ร่วมกับตรวจพบสัตว์ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว 251 ตัว ซึ่งสูงกว่าระยะเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึง 1.5 เท่า ส่วนในปี 2564 ที่ผ่านมา พบผู้เสียชีวิต 3 ราย โดยโรคพิษสุนัขบ้าพบมากที่สุดในสุนัข เป็นจำนวนกว่าร้อยละ 90 ตามมาด้วยแมว และโคตามลำดับ
ผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า รายแรกในไทยปี 2565
ในปี 2565 นี้ ก็ได้พบผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว 1 ราย ที่จังหวัดชลบุรี โดยผู้เสียชีวิตรายนี้ มีประวัติสัมผัสกับสุนัขของเพื่อนบ้านที่นำมาฝากเลี้ยงข่วน แพทย์เตือนให้รักษาแล้ว แต่ไม่รักษา ปล่อยทิ้งไว้ จนเป็นเหตุให้เสียชีวิตค่ะ
คนติดโรคพิษสุนัขบ้าจากสัตว์ชนิดใดบ้าง
โรคพิษสุนัขบ้าติดต่อโดยการสัมผัสกับน้ำลายจากการถูกกัด ข่วนหรือเลีย บริเวณที่มีรอยถลอกหรือรอยขีดข่วน บาดแผล หรือเลียถูกบริเวณเยื่อบุตา หรือปาก เป็นต้น นอกจากนี้การชำแหละซากสัตว์หรือรับประทานผลิตภัณฑ์ดิบจากสัตว์ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าก็สามารถติดโรคได้
โรคพิษสุนัขบ้าพบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด เช่น สุนัข แมว ค้างคาว วัว ลิง ชะนี กระรอก กระต่าย รวมถึงหนูเป็นต้น แต่พบว่าสุนัขและแมวเป็นสัตว์ที่นำโรคพิษสุนัขบ้ามาสู่คนได้บ่อยที่สุด
อาการของโรคพิษสุนัขบ้าในคนเป็นอย่างไร
หลังได้รับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าผู้ป่วยจะแสดงอาการป่วยโดยเฉลี่ยประมาณ 3 สัปดาห์- 3 เดือน ในบางรายอาจใช้เวลานานหลายปีกว่าจะมีอาการก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นกับตำแหน่งที่ถูกกัด ขนาด จำนวนและความลึกของบาดแผลรวมถึงภูมิต้านทานของคนที่ถูกสัตว์กัด อาการของโรคพิษสุนัขบ้าแบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้
- ระยะเริ่มต้น ผู้ป่วยจะมีอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจง เช่น ไข้ เจ็บคอ ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยตามตัว หนาวสั่น คลื่นไส้อาเจียน กระวนกระวายนอนไม่หลับ ในบางรายอาจมีอาการ เจ็บ เสียวแปล๊บคล้ายเข็มทิ่ม หรือคันอย่างมากบริเวณที่ถูกกัด ซึ่งเป็นลักษณะที่จำเพาะของโรคระยะนี้มีเวลาประมาณ 2-10 วัน
- ระยะที่มีอาการทางสมอง ผู้ป่วยจะมีอาการสับสน วุ่นวาย กระสับกระส่าย อยู่ไม่นิ่ง กลืนลำบาก รวมถึงกลัวน้ำ อาการจะเป็นมากขึ้นหากมีเสียงดัง หรือถูกสัมผัสเนื้อตัว จากนั้นผู้ป่วยอาจมีอาการชักและเป็นอัมพาต ระยะนี้มีอาการประมาณ 2-7 วัน
- ระยะท้าย ผู้ป่วยอาจมีภาวะหายใจล้มเหลว หัวใจหยุดเต้น โคม่า และเสียชีวิตในเวลาอันสั้น
ขอบคุณภาพจาก กรมควบคุมโรค
ควรปฏิบัติอย่างไรเมื่อลูกถูกสัตว์กัด
- รีบล้างแผลให้เร็วที่สุดด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้ง นานอย่างน้อย 15 นาที ล้างทุกแผล และล้างให้ลึกถึงก้นแผล แล้วเช็ดแผลให้แห้ง ใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น โพวิโดนไอโอดีนเป็นต้นบริเวณแผล
- จดจำลักษณะและสังเกตุอาการสัตว์ที่กัด รวมทั้งสืบหาเจ้าของ เพื่อสอบถามประวัติการฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า และสังเกตุอาการสัตว์ที่กัดเป็นเวลา 10 วัน ถ้าสบายดีไม่น่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้า แต่ถ้าสุนัขตายให้นําซากมาตรวจ
- ไปพบแพทย์ทันทีพร้อมนำสมุดวัคซีนหรือประวัติการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและบาดทะยักไปด้วย เพื่อรับการป้องกันรักษาที่ถูกต้อง ถ้ามีความเสี่ยงต่อโรคพิษสุนัขบ้า เช่น ถูกกัดหรือข่วน แพทย์จะพิจารณาฉีดวัควัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า รวมถึงวัคซีนป้องกันบาดทะยัก และยาฆ่าเชื้อ นอกจากนี้ในกรณีที่มีโอกาสติดโรคพิษสุนัขบ้าสูง แพทย์อาจให้อิมมูโนโกลบุลินซึ่งมีภูมิต้านทานโรคพิษสุนัขบ้าร่วมด้วย โดยวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าจะฉีดประมาณ 3-5ครั้ง เป็นวัคซีนมีความปลอดภัยสูงสามารถฉีดได้ทุกวัย รวมทั้งในเด็กและสตรีมีครรภ์ วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามีประสิทธิภาพสูงหากไปรับการฉีดตรงตามแพทย์นัดทุกครั้ง
จะป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้อย่างไร
เนื่องจากโรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคที่ไม่มียาที่ใช้ในการรักษา และถ้าติดเชื้อจะเสียชีวิตเกือบทุกราย ดังนั้นการป้องกันไม่ให้เกิดโรคจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยมีแนวทางในการป้องกันดังนี้
- ควบคุมไม่ให้สัตว์เป็นโรคพิษสุนัขบ้า
– พาสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าตามกำหนด และฉีดซ้ำทุกปี
– ไม่ปล่อยสัตว์เลี้ยงไปในที่สาธารณะ ทุกครั้งที่จะนำสุนัขออกนอกบ้านควรอยู่ในสายจูง
– ไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยง - หลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกสัตว์กัด โดยไม่แหย่ หรือรังแกให้สัตว์โมโห รวมทั้งไม่ยุ่งหรือเข้าใกล้สัตว์ที่ไม่รู้จักหรือไม่มีเจ้าของ
- ถ้าถูกสัตว์กัดแล้ว ควรปฏิบัติตามคำแนะนำข้างต้น
- พิจารณาการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแบบป้องกันล่วงหน้าในผู้ที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ สัตวแพทย์ ผู้ที่มีอาชีพเลี้ยงและขายสัตว์ ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลที่มีการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งอาจทำให้การเข้าถึงวัคซีน รวมถึงการมารับวัคซีนกระตุ้นตามนัดทำได้ยากลำบาก รวมถึงเด็กที่เลี้ยงสุนัขและแมว เป็นต้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแบบป้องกันล่วงหน้าโดยฉีด 2 ครั้ง ห่างกัน 7 วันและเมื่อถูกสัตว์กัดจะต้องฉีดวัคซีนกระตุ้นซ้ำอีก 1-2 ครั้ง โดยไม่จำเป็นต้องฉีดอิมมูโนโกลบุลินซึ่งอาจเกิดปฏิกิริยาแพ้ และเจ็บปวดเวลาฉีดรอบแผลร่วมด้วย
จุดบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า (ในสัตว์)
สำหรับพื้นที่ กรุงเทพมหานคร มีบริการที่ศูนย์บริการฉีดวัคซีนสำหรับพาสัตว์ไปฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า 8 แห่ง ได้แก่
- ศูนย์บริการสาธารณสุข 23 สี่พระยา
- ศูนย์บริการสาธารณสุข 43 มีนบุร
- ศูนย์บริการสาธารณสุข 21 วัดธาตุทอง
- ศูนย์บริการสาธารณสุข 24 บางเขน
- ศูนย์บริการสาธารณสุข 33 วัดหงส์รัตนาราม
- ศูนย์บริการสาธารณสุข 29 ช่วงนุชเนตร
- ศูนย์บริการสาธารณสุข 30 บางกอกน้อย
- กลุ่มควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า ดินแดง
หรือ หน่วยบริการฉีดวัคซีนสุนัขบ้า ฟรี ในพื้นที่จังหวัดอื่น ๆ
ขอบคุณข้อมูลจาก
กรุงเทพธุรกิจ, MCOT Digital, สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก