จากรายงานพบว่า การกระจายของโรคไข้เลือดออกนั้น หากแบ่งตามอายุจะพบได้ว่า ส่วนใหญ่แล้วพบในเด็ก โดยจะยกตัวอย่างจำนวนผู้ป่วยที่พบจากจำนวนประชากร 100,000 คนดังนี้
- ร้อยละ 48.7 เป็นเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 0-4 ปี
- ร้อยละ 30.54 เป็นกลุ่มเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 5-9 ปี
- ร้อยละ 28.58 เป็นกลุ่มเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 10-14 ปี
- เป็นต้น
หากดูจากสถิตินั้น ไม่ใช่ ๆ น้อย ๆ เลยนะคะ คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจจะเกิดข้อสงสัยว่าแล้วเราจะมีวิธีการสังเกต อาการของไข้เลือดออก ได้อย่างไร แล้วจะมีวิธีการป้องกันอะไรหรือไม่นั้น ไปดูพร้อม ๆ กันเลยดีกว่าค่ะ
อาการของไข้เลือดออก
อาการของไข้เลือดออก ที่พบนั้นไม่ว่าคุณจะเป็นเด็ก เป็นผู้ใหญ่ หรือแม้แต่ผู้สูงวัยก็มีอาการที่คล้ายคลึงกัน นั่นคือ
- มีระยะฟักตัวของเชื้อก่อนที่จะแสดงอาการ 5-8 วัน
- มีไข้สูงลอย 2-7 วัน (38.5-41 องศาเซลเซียส)
- ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ร่วมกับปวดตามกล้ามเนื้อมาก
- บางรายมีเลือดออกผิดปกติ เช่น ถ่ายเป็นสีดำ อาเจียนเป็นเลือด เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน มีจุดเลือดออกที่ผิวหนัง
- อาจพบตับโต คือ กดเจ็บบริเวณใต้ชายโครงขวา
** ในรายที่รุนแรงจะมีภาวะช็อก หากรักษาไม่ทัน ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ภายใน 24-48 ชั่วโมงเท่านั้น **
ด้านนายแพทย์สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ได้เปิดเผยว่า สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรเฝ้าสังเกตลูกก็คือ 9 สัญญาณอาการบ่งบอกว่า ลูกอาจจะกำลังเป็นไข้เลือดออกก็เป็นได้ อาการที่น่าสังเกตมีดังนี้ค่ะ
- ไข้อาจจะไม่ลดลงหรือลดลงก็ได้ แต่อาการโดยรวมแล้วแย่ลง อีกทั้งยังเบื่ออาหาร ไม่ค่อยเล่น และดูอ่อนเพลีย
- คลื่นไส้ อาเจียนตลอดเวลา
- ลูกมีอาการปวดท้องมาก
- ลูกมีเลือดออกมาก ยกตัวอย่างเช่น เลือดกำเดาไหล อาเจียน หรือถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ
- พฤติกรรมของลูกเปลี่ยนไปจากปกติ ยกตัวอย่างเช่น จากเด็กที่เคยขี้เล่นสดใส ก็กลายเป็นเด็กที่เซื่องซึม
- ลูกกระหายน้ำอยู่ตลอดเวลา
- ลูกร้องไห้งอแงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็ก
- ตัวเย็น สีผิวคล้ำลง หรือตัวลายมากขึ้น
- ปัสสาวะน้อยลง หรือไม่ปัสสาวะเลยนานเกิน 4-6 ชั่วโมง
หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตแล้วพบว่า ลูกน้อยมีอาการดังต่อไปนี้ อย่ารอช้านะคะ ให้รีบพาลูกไปพบแพทย์โดยทันที หากช้าเกินไป ลูกอาจจะช็อกและเสียชีวิตได้ค่ะ