เทียบ โรคซึมเศร้า-ไบโพลาร์ ผู้ใกล้ชิดต้องทำตัวอย่างไร - Amarin Baby & Kids

เทียบ โรคซึมเศร้า-ไบโพลาร์ ผู้ใกล้ชิดต้องทำตัวอย่างไร

Alternative Textaccount_circle
event

เทียบ โรคซึมเศร้า-ไบโพลาร์ ผู้ใกล้ชิดต้องทำตัวอย่างไร

ปัจจุบันผู้ป่วย โรคซึมเศร้า-ไบโพลาร์ มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นประชาชนทั่วไป หรือแม้กระทั่งดาราศิลปินที่มีหน้าที่การงานที่ดี หากผู้ป่วยไม่สามารถจัดการความรู้สึกหรือแก้ปัญหาได้ จนทำให้เกิดการสะสมความเครียดอาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้ อาการของทั้ง 2 โรคเหมือนหรือต่างกันอย่างไร ผู้ใกล้ชิดควรทำตัวอย่างไร เรามีคำตอบมาให้ค่ะ

โรคซึมเศร้าเกิดจากอะไร

“โรคซึมเศร้า” คือโรคที่เกิดจากความผิดปกติของสมอง ในส่วนที่มีผลกระทบต่อความคิด อารมณ์ ความรู้สึก พฤติกรรม รวมถึงสุขภาพทางกาย

คนส่วนใหญ่จะคิดว่าโรคซึมเศร้าเป็นเพียงอาการหรือสภาพจิตใจที่เปลี่ยนไป คิดว่าโรคซึมเศร้าเกิดจากความผิดหวัง หรือการได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจ ซึ่งหากผู้ป่วยไม่สามารถจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ได้ จะกลายเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความเครียด วิตกกังวล จนพัฒนาไปสู่ภาวะซึมเศร้าและคิดทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตายได้

สถิติคนไทยที่ฆ่าตัวตาย

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยสถิติคนไทยที่ฆ่าตัวตาย ตัวเลขย้อนหลังล่าสุดเมื่อปี 2563 เฉลี่ย 7 รายต่อประชากร 100,000 ราย และปี 2564 ที่ผ่านมาได้มีการประมาณการสูงขึ้นใกล้ ๆ กับ 8 รายต่อประชากร 100,000 ราย

โรคซึมเศร้ามีอาการอย่างไร

สำหรับอาการของโรคซึมเศร้า ได้แก่ เศร้า หดหู่ ซึม เบื่อหน่าย หงุดหงิด ฉุนเฉียว อ่อนไหวง่าย ขัดแย้งกับคนอื่นง่าย รู้สึกสิ้นหวัง ดูถูกตนเอง อาจมีอาการวิตกกังวล เครียด นั่งไม่ติด สมาธิลดลง

ผู้ป่วยจะมีความรู้สึกว่าไม่อยากทำอะไร ไม่อยากกินอาหาร นอนไม่หลับ เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย หมดแรง ขาดความมั่นใจในตัวเอง การตัดสินใจแย่ลง รู้สึกหมดหวัง และมีความคิดอยากตาย หรืออยากฆ่าตัวตาย

การเปลี่ยนแปลงในผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้า

การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าดังที่จะกล่าวต่อไปนี้ อาจเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปเป็นเดือนๆ หรือเป็นเร็วภายใน 1-2 สัปดาห์เลยก็ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับหลาย ๆ ปัจจัย เช่น มีเหตุการณ์มากระทบรุนแรงมากน้อยเพียงได บุคลิกเดิมของเจ้าตัวเป็นอย่างไร มีการช่วยเหลือจากคนรอบข้างมากน้อยเพียงได เป็นต้น
1. อารมณ์เปลี่ยนแปลงไป ที่พบบ่อยคือจะกลายเป็นคนเศร้าสร้อย หดหู่ สะเทือนใจง่าย ร้องไห้บ่อย เรื่องเล็กๆน้อยๆ ก็ดูเหมือนจะอ่อนไหวไปหมด บางคนอาจไม่มีอารมณ์เศร้าชัดเจนแต่จะบอกว่าจิตใจหม่นหมอง ไม่แจ่มใส ไม่สดชื่นเหมือนเดิม บางคนอาจมีความรู้สึกเบื่อหน่ายไปหมดทุกสิ่งทุกอย่าง สิ่งที่เดิมตนเคยทำแล้วเพลินใจหรือสบายใจ เช่น ฟังเพลง พบปะเพื่อนฝูง เข้าวัด ก็ไม่อยากทำหรือทำแล้วก็ไม่ทำให้สบายใจขึ้น บ้างก็รู้สึกเบื่อไปหมดตั้งแต่ตื่นเช้ามา บางคนอาจมีอารมณ์หงุดหงิดฉุนเฉียวง่าย อะไรก็ดูขวางหูขวางตาไปหมด กลายเป็นคนอารมณ์ร้าย ไม่ใจเย็นเหมือนก่อน
2. ความคิดเปลี่ยนไป มองอะไรก็รู้สึกว่าแย่ไปหมด มองชีวิตที่ผ่านมาในอดีตก็เห็นแต่ความผิดพลาดความล้มเหลวของตนเอง ชีวิตตอนนี้ก็รู้สึกว่าอะไรๆ ก็ดูแย่ไปหมด ไม่มีใครช่วยอะไรได้ ไม่เห็นทางออก มองอนาคตไม่เห็น รู้สึกท้อแท้หมดหวังกับชีวิต บางคนกลายเป็นคนไม่มั่นใจตนเองไป จะตัดสินใจอะไรก็ลังเลไปหมด รู้สึกว่าตนเองไร้ความสามารถ ไร้คุณค่า เป็นภาระแก่คนอื่น ทั้งๆ ที่ญาติหรือเพื่อนๆ ก็ยืนยันว่ายินดีช่วยเหลือ เขาไม่เป็นภาระอะไรแต่ก็ยังคงคิดเช่นนั้นอยู่ ความรู้สึกว่าตนเองไร้ค่า ความคับข้องใจ ทรมานจิตใจ เหล่านี้อาจทำให้เจ้าตัวคิดถึงเรื่องการตายอยู่บ่อยๆ แรกๆ ก็อาจคิดเพียงแค่อยากไปให้พ้นๆ จากสภาพตอนนี้ ต่อมาเริ่มคิดอยากตายแต่ก็ไม่ได้คิดถึงแผนการณ์อะไรที่แน่นอน เมื่ออารมณ์เศร้าหรือความรู้สึกหมดหวังมีมากขึ้น ก็จะเริ่มคิดเป็นเรื่องเป็นราวว่าจะทำอย่างไร ในช่วงนี้หากมีเหตุการณ์มากระทบกระเทือนจิตใจก็อาจเกิดการทำร้ายตนเองขึ้นได้จากอารมณ์ชั่ววูบ
3. สมาธิความจำแย่ลง จะหลงลืมง่าย โดยเฉพาะกับเรื่องใหม่ๆ วางของไว้ที่ไหนก็นึกไม่ออก ญาติเพิ่งพูดด้วยเมื่อเช้าก็นึกไม่ออกว่าเขาสั่งว่าอะไร จิตใจเหม่อลอยบ่อย ทำอะไรไม่ได้นานเนื่องจากสมาธิไม่มี ดูโทรทัศน์นานๆ จะไม่รู้เรื่อง อ่านหนังสือก็ได้ไม่ถึงหน้า ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ทำงานผิดๆ ถูกๆ
4. มีอาการทางร่างกายต่างๆ ร่วม ที่พบบ่อยคือจะรู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีเรี่ยวแรง ซึ่งเมื่อพบร่วมกับอารมณ์รู้สึกเบื่อหน่ายไม่อยากทำอะไร ก็จะทำให้คนอื่นดูว่าเป็นคนขี้เกียจ ปัญหาด้านการนอนก็พบบ่อยเช่นกัน มักจะหลับยาก นอนไม่เต็มอิ่ม หลับๆตื่นๆ บางคนตื่นแต่เช้ามืดแล้วนอนต่อไม่ได้ ส่วนใหญ่จะรู้สึกเบื่ออาหาร ไม่เจริญอาหารเหมือนเดิม น้ำหนักลดลงมาก บางคนลดลงหลายกิโลกรัมภายใน 1 เดือน นอกจากนี้ยังอาจมีอาการท้องผูก อืดแน่นท้อง ปากคอแห้ง บางคนอาจมีอาการปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัว
5. ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างเปลี่ยนไป ดังกล่าวบ้างแล้วข้างต้น ผู้ที่เป็นโรคนี้มักจะดูซึมลง ไม่ร่าเริง แจ่มใส เหมือนก่อน จะเก็บตัวมากขึ้น ไม่ค่อยพูดจากับใคร บางคนอาจกลายเป็นคนใจน้อย อ่อนไหวง่าย ซึ่งคนรอบข้างก็มักจะไม่เข้าใจว่าทำไมเขาถึงเปลี่ยนไป บางคนอาจหงุดหงิดบ่อยกว่าเดิม แม่บ้านอาจทนที่ลูกๆ ซนไม่ได้ หรือมีปากเสียงระหว่างคู่ครองบ่อยๆ
6. การงานแย่ลง ความรับผิดชอบต่อการงานก็ลดลง ถ้าเป็นแม่บ้านงานบ้านก็ไม่ได้ทำ หรือทำลวกๆ เพียงให้ผ่านๆ ไป คนที่ทำงานสำนักงานก็จะทำงานที่ละเอียดไม่ได้เพราะสมาธิไม่มี ในช่วงแรกๆ ผู้ที่เป็นอาจจะพอฝืนใจตัวเองให้ทำได้ แต่พอเป็นมากๆ ขึ้นก็จะหมดพลังที่จะต่อสู้ เริ่มลางานขาดงานบ่อยๆ ซึ่งหากไม่มีผู้เข้าใจหรือให้การช่วยเหลือก็มักจะถูกให้ออกจากงาน
7. อาการโรคจิต จะพบในรายที่เป็นรุนแรงซึ่งนอกจากผู้ที่เป็นจะมีอาการซึมเศร้ามากแล้ว จะยังพบว่ามีอาการของโรคจิตได้แก่ อาการหลงผิดหรือประสาทหลอนร่วมด้วย ที่พบบ่อยคือ จะเชื่อว่ามีคนคอยกลั่นแกล้ง หรือประสงค์ร้ายต่อตนเอง อาจมีหูแว่วเสียงคนมาพูดคุยด้วย อย่างไรก็ตามอาการเหล่านี้มักจะเป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น เมื่อได้รับการรักษา อารมณ์เศร้าดีขึ้น อาการโรคจิตก็มักทุเลาตาม
โรคซึมเศร้า-ไบโพลาร์
โรคซึมเศร้า-ไบโพลาร์ ผู้ใกล้ชิดต้องทำตัวอย่างไร

ทำอย่างไรเมื่อต้องอยู่กับผู้ป่วย โรคซึมเศร้า-ไบโพลาร์

แม้โรคซึมเศร้าจะสามารถป้องกันได้ แต่หากเกิดขึ้นแล้วผู้ที่อยู่ใกล้ชิดควรจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรนั้น ผศ.นพ.คมสันต์ เกียรติรุ่งฤทธิ์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลไว้ดังนี้

  • เข้าใจว่าสิ่งที่เกิดไม่ได้แกล้งทำ และผู้ป่วยไม่ต้องการจะเป็น แต่ไม่สามารถห้ามหรือหยุดตัวเองได้
  • คอยให้กำลังใจ รับฟัง แสดงออกถึงความรักความเป็นห่วง ทั้งการพูดบอก โอบกอด ลูบหัว จับมือ
  • แสดงให้เห็นถึงความพร้อมที่จะช่วยเหลือเสมอ ช่วยค้นหาปัญหา-ความเครียดของผู้ป่วย
  • ชวนทำกิจกรรมผ่อนคลายต่าง ๆ ส่งเสริมให้ผู้ป่วยทำกิจกรรมต่าง ๆ ตามปกติ และมีงานอดิเรกหลากหลาย
  • พยายามให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พอเพียง และนอนหลับพักผ่อนอย่างพอเพียง
  • หากทำทุกอย่างไม่ดีขึ้น หรือมีผลกระทบเกิดขึ้น ให้พาไปปรึกษาจิตแพทย์

โรคไบโพลาร์เกิดจากอะไร

มาดูอีกหนึ่งโรคอย่าง “ไบโพลาร์” ที่เกิดขึ้นได้จากสาเหตุใกล้เคียงกับโรคซึมเศร้า โดยกรมสุขภาพจิต ระบุว่า โรคไบโพลาร์เป็นความผิดปกติทางอารมณ์ชนิดหนึ่งที่มีการขึ้นและลงของอารมณ์อย่างรุนแรง

สาเหตุสำคัญเกิดจากสารเคมีในสมองทำงานผิดปกติ หรืออาจเกิดในผู้ที่มีความเครียดสะสม หรืออดนอนบ่อย ๆ ร่วมด้วย มีการแสดงออกทางอาการแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มอาการแมเนีย (Mania) คือ อารมณ์ดี คึกคัก สนุกสนาน และกลุ่มอาการซึมเศร้า (Depress) จึงเรียกโรคนี้ว่า โรคอารมณ์สองขั้ว (ขั้วบวก = แมเนีย และ ขั้วลบ = ซึมเศร้า)

โรคไบโพลาร์มีอาการอย่างไร

กลุ่มอาการแมเนีย เป็นช่วงเวลาที่อารมณดี ครึกครื้น แสดงออกอย่างเต็มที่ พูดมาก พูดเร็ว พูดไม่ยอมหยุด ความคิด พรั่งพรู มีโครงการมากมายเป็นร้อยเป็นพันล้าน รู้สึกว่าตนเองเก่ง มีความสามารถมาก มีความสำคัญมาก ความมั่นใจในตนเองสูง เรี่ยวแรงเพิ่ม นอนน้อยกว่าปกติ บางรายนอนเพียงวันละ 1 – 2 ชั่วโมงเท่านั้น โดยไม่มีอาการอ่อนเพลีย สมาธิไม่ดี วอกแวก สนใจไปทุกสิ่งทุกอย่าง หุนหันพลันแล่น การตัดสินใจไม่เหมาะสม เช่น ใช้จ่ายเงินฟุ่มเฟือย ซื้อของแพง มากมายเกินจำเป็น ซื้อทีละเยอะๆ แจกคน เล่นการพนัน ก่อหนี้สินมากมาย ทำเรื่องเสี่ยงอันตราย ผิดกฎหมาย ชอบเที่ยวกลางคืน ความต้องการทางเพศสูง มีพฤติกรรมทางเพศไม่เหมาะสม บางคนหงุดหงิดก้าวร้าวได้ง่ายเมื่อถูกขัดใจ คนที่มีอาการแมเนียจะไม่รู้สึกว่าตัวเองผิดปกติ คิดว่าช่วงนี้ตนเองอารมณ์ดี สบายใจ รู้สึกขยัน อยากทำงาน มักปฏิเสธการรักษา ซึ่งอาการเกิดขึ้นตลอดเวลาเกือบทั้งวัน ติดต่อกันเป็นเวลาอย่างน้อย 1 สัปดาห์

กลุ่มอาการซึมเศร้า ในโรคไบโพลาร์เกิดขึ้นบ่อยกว่ากลุ่มอาการแมเนียเกือบ 3 เท่า โดยมีลักษณะเดียวกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คือ อาการเบื่อหน่าย ท้อแท้ มองทุกอย่างในแง่ลบ ความสนใจหรือเพลิดเพลินใจในสิ่งต่างๆ ลดลงอย่างมาก เบื่ออาหาร น้ำหนักลด อ่อนเพลีย ไม่มีเรี่ยวแรง ไม่มีกำลังใจ ความจำไม่ดี สมาธิลดลง นอนไม่หลับหรือนอนมากกว่าปกติ รู้สึกผิด รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนไม่ดี เป็นภาระ รู้สึกไร้ค่า บางรายคิดอยากตาย ซึ่งมีไม่น้อยที่นำไปสู่การฆ่าตัวตาย

ทั้งนี้ อารมณ์ซึมเศร้าที่เกิดขึ้นในโรคไบโพลาร์มีความรุนแรงกว่าในโรคซึมเศร้า ทั้งการสูญเสียความสามารถในการทำงาน สังคม และครอบครัว

ทำอย่างไรเมื่อต้องอยู่กับผู้ป่วยโรคไบโพลาร์

ผู้ใกล้ชิด หรือญาติพี่น้องจะต้องทำความเข้าใจอาการของผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ และต้องปฏิบัติตามวิธีการรับมือ ดังนี้

  • ทำความเข้าใจตัวโรค ยอมรับ รับฟัง และให้กำลังใจผู้ป่วย
  • ดูแลให้ผู้ป่วยทานยาตามแพทย์สั่ง ไม่ให้ผู้ป่วยหยุดยาเองก่อนปรึกษาแพทย์
  • คอยดูแลพฤติกรรมไม่ให้ผู้ป่วยทำกิจกรรมเสี่ยงอันตราย
  • คอยดูแลพฤติกรรมการใช้เงินของผู้ป่วย
  • สังเกตพฤติกรรมของผู้ป่วย หากมีอาการรุนแรงขึ้นให้รีบพาไปพบแพทย์

แม้ทั้ง 2 โรคจะมีอาการทางอารมณ์ความรู้สึกจนถึงจุดที่ไม่อยากมีชีวิตอยู่ แต่สามารถหายเป็นปกติได้หากทำความเข้าใจโรค และเข้ารับการรักษาตามคำแนะนำของแพทย์

 

ขอบคุณข้อมูลจาก
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ,โรงพยาบาลมนารมย์, ประชาชาติธุรกิจ

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดลูก คุณแม่มือใหม่ต้องพร้อมรับมือ

ซึมเศร้าในเด็ก ภัยเงียบจากโควิดที่พ่อแม่ควรระวัง

พ่อเป็นซึมเศร้าหลังคลอดได้ ความเครียด กังวล ของคุณพ่อมือใหม่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up