ลูกปวดท้อง พ่อจ๋าแม่จ๋า อย่านิ่งนอนใจ เพราะบางทีอาการดังกล่าวอาจเป็นอาการเริ่มต้นของ 4 โรคนี้!
โรคลำไส้กลืนกัน
ถึงแม้ว่าแพทย์จะยังหาถึงสาเหตุของโรคนี้ไม่เจอ แต่ก็คาดว่าอาจจะเกิดจากการเหนี่ยวนำบางอย่าง เช่นต่อมน้ำเหลืองในลำไส้ที่โตขึ้น ไม่ว่าจะเกิดจากไข้หวัด หรือลำไส้อักเสบเป็นตัวกระตุ้น ทำให้เกิดภาวะที่ส่วนของลำไส้เล็กที่อยู่ต้นกว่า ค่อย ๆ เคลื่อนที่เข้าไปอยู่ในลำไส้ส่วนที่อยู่ปลายกว่า ในลักษณะที่เรียกว่ากลืนกันนั่นเอง ทำให้เกิดภาวะลำไส้อุดตันภายใน โรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ มักจะพบได้บ่อยในเด็กเล็กช่วงอายุ 4-8 เดือน และมักจะเกิดขึ้นในเด็กที่อ้วนท้วน ร่างกายสมบูรณ์ แข็งแรงดี
อาการของโรค
– ลูกจะปวดท้องทุกครั้งที่ลำไส้เกิดการบีบตัว จนในบางครั้งทนไม่ไหวจึงส่งเสียงร้องกรี๊ดออกมา
– ตัวซีด มือ-เท้าเกร็ง เหงื่อออกตามร่างกาย และอาจมีอาการอาเจียนร่วมด้วย และจะเริ่มมีไข้ต่ำและเริ่มซึ่ม
– อาการปวดท้องจะค่อย ๆ ลดลงเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นชั่วขณะ จนกระทั่งเด็กปวดท้องอีกครั้งพร้อมกับอาเจียนซึ่งอาจจะมีสีเขียวของน้ำดีปนมาด้วย
– เมื่อลำไส้กลืนกันมากขึ้น ลูกจะเริ่มถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ซึ่งมีลักษณะเป็นเลือดสีคล้ำปนออกมากับมูก หรืออาจจะออกมาเป็นเลือดสดก็ได้
การรักษา
– แพทย์จะทำการดันลำไส้ส่วนที่เคลื่อนตัวเข้าไป ให้ออกมาจากลำไส้ส่วนที่กลืนกันอยู่โดยการใช้แรงดันผ่านทางทวารหนัก โดยการสวนลำไส้ใหญ่ด้วยสารทึบแสง หรือใช้แรงกดอากาศจากกาซเป็นตัวดัน หากสามารถดันลำไส้ที่กลืนกันออกได้ ก็ไม่จำเป็นต้องผ่าตัด หากลูกสามารถกินนมแม่หรืออาหารเสริมได้ตามปกติภายในเวลา 12 ชั่วโมง หลังจากการดัน และกลับบ้านได้ภายใน 1-2 วัน
– ในกรณีที่ลำไส้มีการกลืนกันเป็นระยะเวลานาน จนเกิดการเน่าของลำไส้ หรือไม่สามารถดันลำไส้ที่กลืนกันออกมาได้ จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดให้ลำไส้ส่วนที่กลืนกันคลายตัวออกจากกัน และถ้าลำไส้มีการเน่าตายแล้วก็จำเป็นต้องผ่าตัดตัดต่อลำไส้ส่วนที่ดีเข้าหากัน การดูแลหลังการผ่าตัดนั้น อาจใช้เวลานานกว่าการใช้วิธีดันลำไส้ ลูกจะสามารถกินอาหารได้ตามปกติหลังจากนั้น 3-5 วัน
สิ่งที่พ่อแม่ต้องระวัง
สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ไม่รู้ว่าลูกน้อยป่วยเป็นโรคลำไส้กลืนกัน เมื่อใดก็ตามที่เห็นว่าลูกมีอาการปวดท้อง อาเจียน มีไข้ อาจนึกไปว่าเป็นโรคลำไส้อักเสบจากการติดเชื้อหรือเป็นโรคบิด ซื้อยามารับประทานเอง กระทั่งลำไส้เริ่มมีการขาดเลือด จนลูกถ่ายอุจจาระเป็นเลือดปนมูกจึงไปแพทย์ ทำให้ได้รับการรักษาที่ช้าเกินไป แม้ว่าอุบัติการณ์ของการเกิดโรคลำไส้กลืนกันมีไม่มากนัก แต่ก็ยังเป็นโรคที่มีความรุนแรง อาจทำให้เด็กเสียชีวิตได้ ดังนั้น จึงไม่ควรนิ่งนอนใจกับอาการปวดท้องที่เกิดขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยโรคและรักษาอย่างเร่งด่วนค่ะ