ทำไมป่วย เบาหวาน – อ้วน เสี่ยงมากเมื่อติดโควิด-19
ในช่วงที่เชื้อไวรัสโควิด-19 (COVID-19) กำลังระบาดไปในประเทศอยู่นี้ กลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัวเป็นกลุ่มที่ทางการแพทย์ให้ความห่วงใยมากนะคะ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวอย่างโรค เบาหวาน–อ้วน หากได้รับเชื้อไวรัสโควิด-19 อาจจะมีอาการรุนแรงมากกว่าคนทั่วไป เพราะเหตุใด และผู้ป่วยทั้ง 2 โรคนี้ ควรดูแลตัวเองอย่างไรจึงจะปลอดภัยค่ะ
เบาหวาน – อ้วน เสี่ยงมากเมื่อติดโควิด-19
ผู้ป่วยโรคอ้วน หรือผู้ป่วยโรคเบาหวาน ที่ไม่สามารถคุมน้ำตาลให้อยู่ในระดับที่ปกติได้ เมื่อติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้ว มีโอกาสที่จะมีอาการรุนแรง หรือมีผลข้างเคียงมากกว่าคนทั่วไป
โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวาน หรือโรคอ้วนที่มีโรคร่วม ยิ่งมีโรคร่วมมากเท่าใด ก็จะยิ่งมีโอกาสที่จะมีผลข้างเคียงจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มากเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน ที่ไม่สามารถคุมระดับน้ำตาลได้ ซึ่งมักจะมีโรคร่วมอื่น ๆ ด้วย เช่น ความดันโลหิตสูง โรคอ้วน หรือมีโรคที่เป็นผลข้างเคียงจากเบาหวานร่วมด้วย เช่น โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจ ฯลฯ ผู้ป่วยเหล่านี้ เมื่อได้รับเชื้อ มีโอกาสที่จะมีอาการรุนแรง และมีผลข้างเคียงจากเชื้อไวรัสโควิด-19 มากกว่าคนทั่วไป
โควิด-19 สามารถมีชีวิตรอดในธรรมชาติได้เป็นชั่วโมง หรือวัน ขึ้นอยู่กับพื้นผิววัสดุ และสภาพแวดล้อม จึงสามารถติดต่อผ่าน “การสัมผัส” พื้นผิวที่มีเชื้อ ดังนั้นผู้ป่วยเบาหวาน จึงควรป้องกันด้วยการล้างมือ และงดการเข้าพื้นที่ที่มีผู้คนแออัด
เบาหวานติดโควิด-19 ทำไมเสี่ยงอาการหนัก
ผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมน้ำตาลได้ไม่ดี มีโอกาสเกิดผลข้างเคียง จากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มากกว่าคนทั่วไปเนื่องจาก
- ระดับน้ำตาลที่สูงกว่าค่าปกติ จะส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานลดลง ทำให้ร่างกายต่อสู้กับเชื้อไวรัสได้ไม่ดี ไวรัสสามารถเติบโตและกระจายตัวได้ง่ายขึ้น
- โรคร่วมหรือผลข้างเคียงจากเบาหวาน ผู้ป่วยเบาหวานที่คุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดี มักจะมีโรคร่วม หรือผลข้างเคียงจากเบาหวานร่วมด้วย ซึ่งการที่มีโรคร่วมดังกล่าวทำให้เมื่อติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มีโอกาสที่จะมีอาการรุนแรงมากขึ้น มีผลข้างเคียงง่ายและเพิ่มขึ้นได้
- ปฏิกิริยาการอักเสบจากการติดเชื้อไวรัส ทำให้การควบคุมเบาหวานทำได้แย่ลง เมื่อผู้ป่วยเบาหวานติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ร่างกายจะมีปฏิกิริยาต่อต้านไวรัสและเกิดการอักเสบ ปฏิกิริยาการอักเสบจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดยิ่งสูงขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันและโรคที่เป็นผลข้างเคียงจากเบาหวานดังกล่าวข้างต้น
ทั้งนี้ปัจจัยที่มีผลต่อความรุนแรงของโรค หากผู้ป่วยเบาหวานได้รับเชื้อไวรัสโควิด-19 ขึ้นอยู่กับอายุ ระดับน้ำตาลในเลือด โรคร่วม หรือผลข้างเคียงจากโรคเบาหวานที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ ไม่ได้ขึ้นกับว่าผู้ป่วยเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 หรือชนิดที่ 2
เพิ่มโอกาสเสี่ยงโรคแทรกซ้อน
- ภูมิคุ้มกันต่ำลง ทำให้ติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
- เชื้อมักเจริญเติบโตได้ดีในภาวะที่มีน้ำตาลในเลือดสูง
ทำไม อ้วนติดโควิด-19 จึงเสี่ยงมาก
ผู้ป่วยโรคอ้วน มักจะมีโรคร่วม หรือผลข้างเคียงจากโรคอ้วนร่วมด้วย ซึ่งถ้ามีการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มีโอกาสที่จะเกิดผลข้างเคียงมากกว่าคนทั่วไป คล้ายคลึงกับโรคเบาหวาน นอกจากนี้คนที่มีโรคอ้วนโดยเฉพาะคนที่มีดัชนีมวลกาย (Body Mass Index) สูง ๆ อาจมีผลทำให้การขยายตัวของปอดทำได้จำกัด ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้นเมื่อมีการติดเชื้อไวรัสที่ปอด ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อผู้ป่วยโรคอ้วนมีอาการป่วยหนักและต้องเข้ารักษาในห้องภาวะวิกฤติ (ICU) อาจจะมีปัญหาในการใส่ท่อช่วยหายใจ การหาเตียงที่รองรับน้ำหนักได้มาก ๆ หรือ การทำ X-Ray Computer ที่อาจจำกัดขนาดและน้ำหนักของผู้ป่วย
7 วิธีดูแลสุขภาพผู้ป่วยเบาหวานและโรคอ้วน
ในสถานการณ์ที่เชื้อไวรัสโควิด-19 กำลังระบาด วิธีดูแลสุขภาพของผู้ป่วยเบาหวานและผู้ป่วยโรคอ้วน นอกจากการล้างมือบ่อย ๆ หลีกเลี่ยงการจับใบหน้า หลีกเลี่ยงการติดต่อกับผู้ที่มีประวัติเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และการพยายามเว้นระยะห่างทางสังคม ได้แก่
- คุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ผู้ป่วยเบาหวานมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงหลังจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มากกว่าบุคคลทั่วไปหากควบคุมเบาหวานได้ไม่ดี จึงควรควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ วัดระดับน้ำตาลปลายนิ้วอย่างสม่ำเสมอตามที่แพทย์ผู้ดูแลแนะนำ
- ดูแลสุขภาพกายใจ ผู้ป่วยเบาหวานควรออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ถูกสุขอนามัย และลดความเครียด การมีสุขภาพกายและใจที่ดีจะเป็นส่วนช่วยในการป้องกันการติดเชื้อ
- ดื่มน้ำแต่ละวันให้ได้ปริมาณที่เพียงพอ โดยเฉพาะในช่วงอากาศร้อน เนื่องจากผู้ป่วยเบาหวานเมื่อขาดน้ำระดับน้ำตาลจะยิ่งสูงขึ้น
- เตรียมอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล (คาร์โบไฮเดรต) ให้เพียงพอที่บ้าน เนื่องจากในกรณีที่เกิดภาวะน้ำตาลต่ำจะสามารถแก้ไขระดับน้ำตาลได้ทันที
- เตรียมยาประจำตัวที่บ้านให้เพียงพอ โดยเฉพาะในกรณีที่จำเป็นต้องกักกัน (Quarantine) ตัวเองอยู่ที่บ้าน 2 – 3 สัปดาห์
- บันทึกเบอร์โทรศัพท์สำคัญ ทั้งเบอร์โทรศัพท์ของโรงพยาบาลที่รักษาอยู่ เบอร์โทรศัพท์ของแพทย์ที่ทำการรักษา เพื่อให้สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทันที ในกรณีฉุกเฉิน และควรให้คนใกล้ชิดบันทึกเบอร์โทรศัพท์นี้ไว้ด้วย
- หมั่นสังเกตอาการตนเอง หากมีอาการติดเชื้อทางเดินหายใจ เช่น ไข้ หายใจหอบเหนื่อย ไอ น้ำมูก เจ็บคอควรปรึกษาแพทย์ทันที นอกจากนี้ หากมีอาการที่เป็นผลจากระดับน้ำตาลที่ผิดปกติ เช่น หน้ามืด ใจสั่น มือสั่น มึนงง เหงื่อออกมาก คลื่นไส้ อาเจียน ความรู้สึกตัวลดลง หรือวัดระดับน้ำตาลที่บ้าน แล้วค่าระดับน้ำตาลต่ำ หรือสูงกว่าภาวะปกติ ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็วที่สุด
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก