MIS-C หลังเด็กหายป่วยโควิด!! อันตราย คร่าชีวิตเด็ก 2 ขวบหลังติดโควิดซ้ำ หมอแจงสาเหตุที่เสียชีวิตไม่ใช่จาก LongCovid แต่เป็นภาวะ MIS-C !!
แจงแล้ว!เด็ก2ขวบเสียด้วยภาวะ MIS-C หลังเด็กหายป่วยโควิด
จากกรณีเพจอยากดังเดี๋ยวจัดให้ รีเทริน์ part 3 เผยแพร่เรื่องราวของแม่ที่ต้องสูญเสียลูกชายวัย 2 ขวบหลังมีไข้สูง อาเจียน พาไปโรงพยาบาลตามสิทธิและถูกย้ายโดยไม่แจ้ง ก่อนอาการทรุดและเสียชีวิตในเวลาต่อมา แพทย์วินิจฉัยเป็น “ลองโควิด” หรือ “Long Covid”
ล่าสุด นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การเสียชีวิตของเด็กชายวัย 2 ขวบไม่ใช่ลองโควิด แต่เป็นภาวะมิสซี หรือ MIS-C (multisystem inflammatory syndrome of children) มากกว่า
นพ.โอภาส อธิบายว่า “ลองโควิด” กับมิสซี ต่างกัน ลองโควิดเป็นภาวะที่เกิดขึ้นหลังจากหายป่วยโควิด เป็นอาการที่หลงเหลืออยู่จะทำให้มีอาการอ่อนเพลียพบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ส่วนมิสซีเป็นภาวะอักเสบที่เกิดขึ้นทั่วร่างกาย ตามอวัยวะต่าง ๆ เช่น ไตอักเสบ เส้นเลือด สมอง และไม่ได้เกิดจากโควิดเพียงอย่างเดียว
ดังนั้น การป้องกันภาวะมิสซีคือให้เด็กรับวัคซีน ส่วนสัญญาณของมิสซีไม่สามารถบอกได้จากอาการไข้ เพราะส่วนใหญ่ไข้มักเป็นอาการพื้นฐาน แต่ต้องดูประวัติการป่วยของเด็กด้วยและภาวะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับเด็กทุกราย ดังนั้นเด็กที่หายป่วยแล้ว ยังต้องติดตามอาการ หรือหากไม่แน่ใจก็ควรรีบปรึกษาแพทย์
ที่มา : https://www.komchadluek.net
ในประเทศไทย จำนวนเด็กติดเชื้อโควิด-19 สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว คาดว่าจะทำให้มีการพบผู้ป่วย MIS-C (มิสซี) เพิ่มขึ้นเช่นกัน ภาวะ MIS-C หลังเด็กหายป่วยโควิด ซึ่งพบในเด็กที่มีประวัติป่วยเป็นโรค COVID-19 และหายจากโรคนำมาก่อน หลังจากนั้นประมาณ 2 – 4 สัปดาห์ ก็มีอาการ shock และ บางรายเสียชีวิตในเวลาต่อมา โดยที่เด็กเหล่านี้มักเป็นเด็กที่สุขภาพดี ไม่มีโรคประจำตัวมาก่อน ดังนั้น เรามาทำความรู้จัก ภาวะ MIS-C หลังเด็กหายป่วยโควิด เพื่อให้พ่อแม่ได้ระวังและเฝ้าสังเกตอาการกันค่ะ
MIS-C คืออะไร?
MIS-C เอ็มไอเอสซี หรือ มิสซี ย่อมาจาก Multisystem Inflammatory Syndrome in Children and Adolescents เป็น กลุ่มอาการคล้าย โรคคาวาซากิ แต่รุนแรงกว่ามาก มีภาวะของอวัยวะอักเสบเฉียบพลันพร้อม ๆ กันหลาย ๆ อวัยวะ เด็กที่ป่วยเป็นภาวะ MIS-C จะมีอาการดังต่อไปนี้
ภาวะ MIS-C มีอาการอย่างไร?
ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรค (The Center of Disease Control -CDC) ได้ให้คำจำกัดความ ภาวะ MIS-C ดังต่อไปนี้
- ผู้ที่มีอายุ น้อยกว่า 21 ปี
- มีอาการดังต่อไปนี้
- มีประวัติไข้ ไม่ต่ำกว่า 24 ชั่วโมง หรือ วัด แล้วมี ไข้ (fever) ≥ 38.0 C ซึ่งอาการไข้ เป็นอาการที่สำคัญที่พบในผู้ป่วย MIS-C
- ตาแดง 2 ข้าง แต่ไม่มีขี้ตา
- ริมฝีปากแห้ง แดง ลิ้นแดงเป็นตุ่ม
- ผื่นขึ้นตามตัว
- ฝ่ามือ-เท้าบวม
- ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต มักเป็นข้างเดียวและไม่มีอาการเจ็บ
- ระบบการทำงานอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย ทำงานผิดปกติ ตั้งแต่ 2 ระบบขี้นไป (ซึ่งประกอบด้วย ระบบ หัวใจ, ระบบไต, ระบบทางเดินหายใจ, ระบบเลือด, ระบบทางเดินอาหาร, ระบบผิวหนัง, และ ระบบประสาท)
- มีอาการรุนแรงจำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล
- พบมีหลักฐานการอักเสบจากการตรวจทางห้องปฏิบัติการ (evidence of inflammation) (โดยพบค่าความผิดปกติ มากกว่า 1 การตรวจ)
- พบหลักฐานการติดเชื้อ SARS-CoV-2
- โดยวิธี reverse transcription polymerase chain reaction (RT-PCR), serology หรือ antigen test
- มีประวัติการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ COVID-19 ภายใน 4 สัปดาห์ ก่อนหน้าจะมีอาการ
- ไม่สามารถวินิจฉัยโรคอื่นได้
เกณฑ์เฝ้าระวังโรค MIS-C ขององค์การอนามัยโลก
- มีการอักเสบรุนแรงทั่วร่างกาย
- ความดันต่ำ หรือภาวะช็อค
- การทำงานของหัวใจผิดปกติ
- มีการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ
- มีความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร
โรค MIS-C ต่างจาก KAWASAKI อย่างไร?
ภาวะ MIS-C หลังเด็กหายป่วยโควิด นั้น มีลักษณะที่แตกต่างจาก Kawasaki disease ที่พบโดยทั่วไปอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ผู้ป่วยจากภาวะ MIS-C จะมีลักษณะเด่น คือ
- ผู้ป่วยมักจะมีอายุมากกว่า (อยู่ในช่วง 6 เดือน ถึง 16 ปี)
- มีอาการทางระบบทางเดินอาหารมากกว่า: อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้อง
- มีความผิดปกติของการทำงานหัวใจทีรุนแรงกว่า
- เม็ดเลือดขาว ชนิด neutrophil สูงกว่า ชนิด lymphocyte ต่ำกว่า, platelet count ต่ำกว่า, PT/ PTT, D-dimer สูงกว่า (มีระดับค่าเอนไซม์บางตัวสูงขึ้นอย่างชัดเจน)
- ค่าการอักเสบ CRP สูงกว่า
- พบภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงมากกว่า ได้แก่ Kawasaki disease shock syndrome และภาวะ macrophage activation syndrome
- พบภาวะ myocarditis และ ความผิดปกติของ echocardiography มากกว่า
ความรุนแรงของโรคส่งผลต่อเด็กอย่างไร?
ภาวะ MIS-C อาจก่อให้เกิดอาการอักเสบในอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกาย ทำให้เกิดอาการผิดปกติในหลายระบบ ได้แก่
- ระบบหัวใจและหลอดเลือด : ทำให้มีอาการช็อค ความดันต่ำ หัวใจอักเสบ ลิ้นหัวใจอักเสบ เส้นเลือดหัวใจผิดปกติ
- ระบบทางเดินหายใจ : ปอดอักเสบ กลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน ลิ่มเลือดอุดตันในปอด
- ไต : ไตวายฉับพลัน
- ระบบทางเดินอาหาร : ท้องเสีย ท้องอืด อาเจียน ปวดท้อง เลือดออกทางเดินอาหาร หรือตับอักเสบ
- ผิวหนัง : ผิวหนังแดง เยื่อบุอักเสบ เป็นผื่น
- ระบบประสาท : มีอาการชัก เยื่อหุ้มสมองอักเสบ
- ระบบเลือด : เกิดการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ
การรักษาผู้ป่วย MIS-C
เนื่องจาก MIS-C เป็นโรคที่พบใหม่ จึงยังไม่มีแนวทางการรักษาที่ชัดเจนเหมือนโรคคาวาซากิ ผู้ป่วยที่มีอาการเข้าข่ายที่จะเป็นโรคนี้ จึงควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อติดตามเฝ้าระวังอาการอย่างใกล้ชิดในโรงพยาบาล แพทย์จะพิจารณาการรักษาที่เหมาะสมต่อไป หากผู้ป่วยเข้าเกณฑ์การวินิจฉัยของโรคคาวาซากิ มักได้รับการรักษาตามแนวทางการรักษาที่เป็นมาตรฐานของโรคนี้ ส่วนในผู้ป่วยที่มีอาการอื่นๆ จะเป็นการรักษาแบบประคับประคอง ผู้ป่วยส่วนหนึ่งต้องได้รับการรักษาในหอผู้ป่วยหนัก (ICU) และ/หรือให้ยาในกลุ่มที่ใช้ยับยั้งภูมิคุ้มกันของร่างกายที่มีการทำงานมากเกินกว่าปกติ
แม้ผู้ป่วย MIS-C จะมีอาการรุนแรงกว่า KAWASAKI แต่ยังมีข่าวดีตรงที่ ส่วนใหญ่จะตอบสนองดีต่อการรักษาอาการด้วยยาลดการอักเสบกลุ่ม IVIG หรือ สเตียรอยด์ จนสามารถหายเป็นปกติได้ มีเพียงส่วนน้อยที่เสียชีวิต
สถานการณ์โรค MIS-C ในประเทศไทย
ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขระบุว่าสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มอายุตั้งแต่ 0-18 ปีในการระบาดระลอกเดือน เม.ย. 2564 (1 เม.ย.- 11 ก.ย.) มีผู้ติดเชื้อสะสมแล้ว 174,645 ราย แบ่งเป็นเด็กวัยเรียนและวัยรุ่น (อายุ 6-18 ปี) 129,165 ราย เสียชีวิต 15 ราย และ เด็กปฐมวัย (อายุ 0-5 ปี) ติดเชื้อสะสม 45,480 ราย เสียชีวิต 14 ราย
ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย พบว่าจากการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกล่าสุดทำให้มีเด็กอายุ 0-18 ปีติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้น และคาดว่าจะทำให้มีการพบผู้ป่วย MIS-C (มิสซี) เพิ่มขึ้นเช่นกัน เนื่องจากเป็นอาการที่พบในเด็กหลังหลังติดเชื้อโควิด 2-8 สัปดาห์
จากการเก็บข้อมูลในประเทศไทยพบว่ามีเด็กป่วยเป็นโรค MIS-C ประมาณ 20-25 ราย เมื่อเทียบจำนวนเด็กที่ติดเชื้อโควิด-19 ในปีนี้ สัดส่วนเด็กที่ป่วยเป็นโรค MIS-C อยู่ที่ประมาณ 1:10,000 ราย
Must Read >> รวม 20 อาการต้องสงสัย ลูกไม่สบาย แบบนี้..! กำลังป่วยเป็นโรคอะไร?
การป้องกันโรค MIS-C
แม้จะเป็นโรคใหม่ยังไม่มีการรักษาที่ชัดเจน แต่สำหรับการป้องกัน ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข เช่น สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ รวมถึงการเว้นระยะห่างทางสังคม เพื่อความปลอดภัยและห่างไกลจาก COVID-19
ขอบคุณข้อมูลจาก : workpointtoday.com/mis-c/, ศูนย์ศรีพัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, กรุงเทพธุรกิจ, chulalongkornhospital.go.th
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
รักษาโรคภูมิแพ้ ด้วยการปรับภูมิคุ้มกัน ช่วยให้ลูกรักชนะโรคร้าย
ผื่นแพ้นมวัว จากโรคแพ้นมวัว ในทารกหรือเด็กเล็ก อาการเป็นอย่างไร
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่