โควิดไม่ทันซา “ ไวรัสอีโบลา ” ผู้ร้ายหน้าเดิม ที่เคยมีผู้ติดเชื้อแล้วหลายพันคน ย้อนกลับมาระบาดซ้ำ ครั้งที่ 11! WHO สั่งจับตาเป็นพิเศษ หลังผู้ติดเชื้อเสี่ยงเสียชีวิตสูงถึง 80-90 % แม้จะไม่เคยพบผู้ติดเชื้อในไทย แต่แม่อย่างเราประมาทไม่ได้ เพราะเชื้อติดต่อง่ายจากคนสู่คน
“นี่เป็นเครื่องเตือนใจว่า โควิด-19ไม่ได้เป็นภัยคุกคามด้านสุขภาพเพียงอย่างเดียวที่ผู้คนต้องเผชิญ”
ข้อความจากนายเทดรอส อะดานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกเผยแพร่ในทวิตเตอร์ ตอกย้ำถึงสถานการณ์การระบาดของ ไวรัสอีโบลา ในคองโกประเทศแถบแอฟริกาซึ่งกลับมาเป็นระลอกที่ 11 หลังถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ. 2519 โดยกระทรวงสาธารณสุขคองโก ได้ตรวจพบผู้ป่วยแล้ว 6 ราย และ4 รายเสียชีวิตแล้ว ขณะที่ยังมู้เข้าเกณฑ์เฝ้าระวังและรอผลยืนยันจากห้องปฏิบัติการอีก 3 คน ทั้งนี้มีแนวโน้มว่าจะพบผู้ป่วยจำนวนมาก จึงสั่งการให้เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขจับตาอย่างใกล้ชิด และเฝ้าระวังการร่วมกลุ่มของผู้คนจำนวนมากเพิ่มขึ้นด้วย
ทำไม ไวรัสอีโบลา ถึงอันตราย
เชื้อโรคชนิดนี้จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับ “โรคไข้เลือดออก”จากเชื้ออีโบลาและเป็นโรคติดต่อรุนแรง หากได้รับเชื้อมีโอกาสเสียชีวิตในเวลาอันสั้นสูงถึง 80-90 % จากจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมด พบการระบาดมากในประเทศแถบแอฟริกา ปัจจุบันพบแล้ว 5 สายพันธุ์ได้แก่
อีโบลา-ซาร์อี (Ebola-Zaire)
อีโบลา-ซูดาน (Ebola-Sudan)
อีโบลา-โกตดิวัวร์ (Ebola-Côte d’Ivoire)
อีโบลา-เรสตัน (Ebola-Reston) และ อีโบลา-บันดิบูเกียว (Ebola-Bundibugyo)
และยังมีสายพันธุ์ อีโบลา-เรสตัน ที่เชื้อไม่ทำให้เกิดความเจ็บป่วยในมนุษย์
ความน่ากลัวของโรคไม่ใช่เฉพาะเชื้อโรคที่รุนแรงเท่านั้น แต่สามารถแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วจากคนสู่คน โดยผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งจากร่างกาย เช่น น้ำมูก น้ำลาย เลือด เหงื่อ ปัสสาวะ หรืออสุจิ คล้ายคลึงกับเชื้อโควิด-19 แต่จะไม่แพร่ระบาดทาง ”ละอองฝอย” ดังนั้นการสัมผัสสิ่งของร่วมกันในที่สาธารณะหรือในครอบครัว เช่น ลิฟต์ ราวบันได ลูกบิดประตู จานช้อน ก็สามารถติดเชื้อได้ทันที
นอกจากนี้ยังพบข้อมูลว่า พาหะของโรคอาจเป็น “ค้างคาวผลไม้” ซึ่งเป็นสัตว์ที่ชาวแอฟริกานิยมทำเป็นอาหาร การกินค้างคาวก็อาจติดเชื้อได้เช่นกัน ทางองค์การอนามัยโลกได้ประกาศเตือนผู้คนในพื้นที่เสี่ยงงดล่าและนำค้างคาวมาทำอาหารแล้ว
ติดเชื้อ ไวรัสอีโบลา มีอาการแบบนี้
หลังการค้นพบครั้งแรกในประเทศคองโกเมื่อหลายสิบปีก่อน แต่ปัจจุบันก็ยังไม่มีวัคซีน หรือยารักษาโรคโดยเฉพาะ หากติดเชื้อก็ทำได้เพียงการรักษาตามอาการเท่านั้น นอกจากนี้อาการเบื้องต้นของโรคที่มีลักษณะเป็นผื่นและตาแดง คล้ายคลึงกับโรคชนิดอื่น ทำให้การวินิจฉัยโรคไม่แม่นยำ ล่าช้า ซึ่งเป็นปัจจัยให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก
ผู้ป่วยส่วนมากจะแสดงอาการหลังรับเชื้อแล้ว 8 – 10 วัน โดยจะมีไข้ ปวดหัว อ่อนเพลีย ท้องเสีย อาเจียน ปวดท้อง ปวดกล้ามเนื้อและข้อ อาจทำให้เกิดอาการเลือดออกในอวัยวะภายในหรือนอกร่างกาย อาการเด่นของโรคที่สังเกตได้ชัดเจนคือ มีเลือดออกที่ตา จมูก หู และปาก ต่อมาจะทำให้หายใจติดขัด เจ็บคอ กลืนอาหารลำบาก เจ็บหน้าอก ตาแดง ไอ สะอึก และมีผื่น เป็นต้น
ยังไม่เคยพบเชื้อในประเทศไทย แต่ระวังไว้ดีที่สุด
แม้ที่ผ่านมาจะยังไม่เคยพบผู้ติดเชื้อไวรัสอีโบลา ในบ้านเรา แต่มีการประเมินความเสี่ยงไว้ว่าเชื้ออาจแพร่เข้าสู่ประเทศไทย จากพาหะอย่าง สัตว์ป่าจากแอฟริกา และลิงชิมแปนซี จุดกระจายโรคมากที่สุดน่าจะเป็น “นักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือคนไทยที่เดินทางกลับจากประเทศระบาด”
หากพบว่าตัวเองเป็นกลุ่มเสี่ยง เดินทางกลับจากประเทศแถบแอฟริกา มีไข้สูงทันที อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ และเจ็บคอ ควรรีบพบแพทย์และให้ประวัติวการเดินทางระหว่างช่วง 21 วันก่อนเกิดอาการอย่างละเอียด เพื่อแพทย์จะให้การรักษาที่ถูกต้องได้รวดเร็วที่สุด นอกจากนี้ประชาชนที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย เช่นอาชีพที่ต้องพบเจอกับนักท่องเที่ยวบ่อยๆ ก็ต้องเพิ่มการระมัดระวังเป็นพิเศษเช่นกัน แม่ศึกษาข้อมูลเหล่านี้ไว้เพื่อปกป้องตัวเอง และคนในครอบครัวห่างไกลจากโรค เพราะทุกวันนี้ โรคภัยต่างๆมีความรุนแรงมากขึ้นและอาจเกิดเป็นสถานการณ์ระบาดขนาดใหญ่เช่นเดียวกับเชื้อโควิด-19 ได้ตลอดเวลา จึงจำเป็นต้องใส่ใจเรื่องสุขอนามัย กินอาหารมีประโยชน์ และออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อทำให้ร่างกายแข็งแรง มีภูมิคุ้มกันที่ป้องกันภัยจากโรคต่างๆได้ดีที่สุด
แหล่งข้อมูล www.siphhospital.com news.thaipbs.or.th vibhavadi.com
บทความน่าสนใจอื่นๆ
6 โรคที่มากับหน้าฝน ในเด็กที่ต้องระวัง รู้เท่าทันป้องกันลูกป่วย
พ่อแม่ต้องรู้! 10 ความแตกต่าง อาการไข้เลือดออก vs อาการโควิด 19
เซฟไว้ดูเลย! ตารางวัคซีน 2563 อัปเดตจากสมาคมโรคติดเชื้อฯ ปีนี้ลูกต้องฉีดอะไรบ้าง?