ลูกกล้ามเนื้อกระตุกไม่มีเหตุผล ระวังเป็น ลมชักในเด็ก - Amarin Baby & Kids
ลมชักในเด็ก

ลูกกล้ามเนื้อกระตุกไม่มีเหตุผล ระวังเป็น ลมชักในเด็ก

Alternative Textaccount_circle
event
ลมชักในเด็ก
ลมชักในเด็ก

ลูกกล้ามเนื้อกระตุกไม่มีเหตุผล ระวังเป็น ลมชักในเด็ก

สิ่งหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่ทุกคนไม่อยากให้ลูกต้องเผชิญ ก็คือโรคร้ายแรงต่าง ๆ โดยเฉพาะยิ่งเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับสมองด้วยแล้วยิ่งแล้วใหญ่ โรคเกี่ยวกับสมองในเด็กที่พบบ่อยได้แก่ ลมชักในเด็ก หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตุเห็นอาการกล้ามเนื้อของลูกกระตุกแบบไม่มีเหตุผล เหม่อลอย ฯลฯ ก็ให้สงสัยได้เลยว่าอาจเป็นโรคนี้ โดยโรคนี้จะส่งผลให้ลูกมีพัฒนาการล่าช้า ทั้งด้านการเข้าสังคม และการเรียนคุณพ่อแม่จึงต้องทำความเข้าใจ และเตรียมรับมือกับโรคนี้ค่ะ

โรค ลมชักในเด็ก

พญ.สุชาวดี หอสุวรรณ กุมารแพทย์ ศูนย์กุมารเวช โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า โรคลมชักเกิดจากคลื่นไฟฟ้าในสมองผิดปกติ มีทั้งลมชักแบบที่ชักเกร็งทั้งตัว และลมชักแบบที่เหม่อลอย นับเป็นโรคที่ส่งผลทั้งต่อพัฒนาการ การเลี้ยงดู การเข้าสังคม รวมทั้งการเรียน

สถิติผู้ป่วยเด็กของโรคนี้

โรคลมชักพบได้ในทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะในเด็ก ซึ่งทั่วโลกมีเด็กที่เป็นโรคลมชักกว่า 3.5 ล้านคนต่อปี ผู้ป่วยร้อยละ 40 มีอายุน้อยกว่า 18 ปี เมื่อคิดตามสัดส่วนประชากร จะพบว่า การเกิดโรคลมชักในเด็กจะอยู่ระหว่าง 3.5 – 7.2 ต่อประชากร 1,000 คน

สาเหตุของ ลมชักในเด็ก

พญ.สุชาวดี กล่าวถึงสาเหตุของโรคลมชัก ว่าเกิดได้จากภาวะต่าง ๆ ได้แก่

  1. ความผิดปกติทางพันธุกรรม
  2. ความผิดปกติในโครงสร้างของสมอง การสร้างเนื้อสมองที่มีความผิดปกติ รวมถึงเส้นเลือด เช่น AVMs และเนื้องอกในสมอง
  3. ความผิดปกติหรือภาวะแทรกซ้อนก่อนคลอด ระหว่างคลอด รวมทั้งหลังคลอด เช่น การขาดออกซิเจนระหว่างคลอด
  4. การติดเชื้อในสมอง
  5. โรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง (Autoimmune disease) 
  6. ไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งพบได้ประมาณเกือบครึ่งนึงของผู้ป่วยทั้งหมด
ลมชักในเด็ก
ลูกกล้ามเนื้อกระตุกไม่มีเหตุผล ระวังเป็น ลมชักในเด็ก

อาการลมชัก

อาการลมชักที่เกิดขึ้น มีหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับกระแสประสาทในสมองที่ผิดปกติ เกิดที่ส่วนใดของสมอง ผู้ป่วยอาจจะมาด้วยอาการ

  • สับสน
  • เหม่อ
  • กล้ามเนื้อกระตุก
  • หมดสติ 
  • พฤติกรรมแปลก ๆ เช่น หัวเราะโดยไม่มีเหตุผล กลัวโดยอธิบายไม่ได้ ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการรักษาโดยแพทย์ที่มีความชำนาญ รวมทั้งการส่งตรวจเพิ่มเติมอย่างเหมาะสม

อาการชักในเด็กมีกี่ลักษณะ

สำหรับอาการชักในเด็กนี้ ผศ.พญ.อัจฉราพร เมฆศิขริน กุมารแพทย์ระบบประสาทวิทยา ศูนย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลนนทเวช อธิบายว่า แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะใหญ่ๆ คือ

1.อาการชักแบบเฉพาะที่ ลักษณะอาการชักจะขึ้นอยู่กับจุดกำเนิดชักว่าอยู่ส่วนใดของสมอง เช่น ถ้าอยู่ในตำแหน่งที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ อาการชักมักจะมาด้วยอาการเกร็ง หรือกระตุก หรืออ่อนแรง หากจุดกำเนิดอยู่ที่ตำแหน่งการควบคุมความรู้สึก อาจมาด้วยอาการชา หรืออาการรับรู้มากกว่าปกติ เช่น ปวดเจ็บ หรือรู้สึกมีอะไรมาไต่ หากจุดกำเนิดอยู่ที่ตำแหน่งควบคุมการมองเห็น ก็อาจมาด้วยอาการมองเห็นที่ผิดปกติ เช่น มองเห็นแสง หรือมองไม่เห็น เป็นต้น

2.อาการชักแบบทั้งตัว เช่น เกร็ง กระตุกทั้งตัว หรือที่เราคุ้นเคยเรียกว่าลมบ้าหมู หรืออาการชักแบบเหม่อ เรียกไม่รู้ตัว เป็นต้น

อันตรายจากการชัก

โดยทั่วไปของโรคลมชัก หากปล่อยให้ชักและไม่รักษา ส่วนใหญ่จะมีผลต่อพัฒนาการของผู้ป่วยในระยะยาว หรือถ้าลักษณะชักเป็นแบบเกร็งกระตุกทั้งตัว หากไม่ได้รับการรักษาที่ทันท่วงทีอาจอันตรายถึงชีวิตได้ เพราะการชักแบบเกร็งกระตุกทั้งตัว จะส่งผลให้สมองขาดออกซิเจนได้ ทำให้การควบคุมอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกายล้มเหลว เช่น การทำงานของระบบทางเดินหายใจและหัวใจ เป็นต้น

การตรวจวินิจฉัย

การตรวจวินิจฉัยโรคลมชักขึ้นอยู่กับอาการเป็นหลัก โดยแพทย์จะทำการซักประวัติอย่างละเอียดและใช้เครื่องมือที่ทันสมัยเพื่อช่วยตรวจหาความผิดปกติ เช่น

  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEGมีห้องที่สามารถ Monitor คลื่นไฟฟ้าสมองเพื่อตรวจหาจุดกำเนิดของคลื่นไฟฟ้าที่ก่อให้เกิดอาการชักพร้อมวิดีทัศน์ (24 – Hour Video EEG Monitoring)
  • การตรวจทางรังสี ได้แก่ 
    • เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan)
    • การตรวจโดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)
    • การตรวจหาจุดกำเนิดของคลื่นไฟฟ้าที่ก่อให้เกิดอาการชักทางรังสีด้วยวิธีต่าง ๆ ได้แก่ PET CT, SPECT, Interictal SPECT, Ictal SPECT 
  • การตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจเลือดการตรวจสารพันธุกรรมที่อาจเป็นสาเหตุของโรคลมชัก ฯลฯ

ดูแลรักษาลมชัก

การรักษาหลักของโรคลมชักมี 2 แบบคือ

  1. การรักษาโดยใช้ยากันชัก
  2. การรักษาโดยวิธีอื่น เช่น กินอาหารคีโต โดยแพทย์เฉพาะทางด้านโภชนาการเป็นผู้จัดให้สำหรับผู้ป่วยเด็ก หรือการผ่าตัด ไม่ว่าจะเป็นการฝังเครื่องกระตุ้นเส้นประสาทเวกัส (Vagus Nerve Stimulation: VNS) เพื่อรักษาโรคลมชัก หรือการผ่าตัดสมอง รวมถึงการรักษาโรคร่วมที่พบอย่างอื่นด้วย เช่น การกระตุ้นพัฒนาการในเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้า เป็นต้น

5 วิธีปฏิบัติตัวเมื่อเด็กมีอาการชัก

5 วิธีนี้ ผศ.พญ.อัจฉราพร แนะนำให้ปฏิบัติ โดยเฉพาะอาการชักเกร็งกระตุกไม่รู้สึกตัว

  1. พ่อแม่ ผู้ปกครอง ต้องตั้งสติ
  2. พยายามจัดสถานที่ให้เด็กอยู่ในที่ปลอดภัย
  3. คลายเสื้อผ้าที่รัดแน่ให้หลวมผ่อนคลาย อย่ายืนมุง
  4. ให้เด็กนอนตะแคงหน้า หรือตะแคงตัวและหน้า เพื่อเปิดทางเดินหายใจ และป้องกันการสำลัก
  5. ห้ามนำวัตถุใดๆ ใส่เข้าไปในปากเด็ก เพราะอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บในช่องปากได้

ขอบคุณข้อมูลจาก

โรงพยาบาลกรุงเทพ,โรงพยาบาลนนทเวช

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

รวม 20 อาการต้องสงสัย ลูกไม่สบาย แบบนี้..! กำลังป่วยเป็นโรคอะไร?

หมอเตือน!! ส่าไข้ ระบาดหนักในเด็กเล็ก ระวังชักจากไข้สูง

ระวังลูกน้อยให้ดี โรคไข้หวัดใหญ่ระบาด พบ 5 จังหวัดนี้ป่วยสูงสุด

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up