มารู้จัก ยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์ ยาต้านไวรัส ที่ช่วยรักษาอาการป่วยรุนแรงของผู้ติดเชื้อโควิด19 ตำรับแรกของไทย พัฒนาเพื่อใช้สำหรับเด็ก และผู้ที่กลืนยายาก
เช็กเลย.. ยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์ รับยาที่ไหน ลูกควรกินเท่าไหร่?
โรคโควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ที่มีการแพร่ระบาดใหญ่เป็นวงกว้าง ปัจจุบัน ทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคโควิด-19 แล้วกว่า 100 ล้านราย และเสียชีวิตกว่า 2 ล้านราย (ร้อยละ 2) สำหรับประเทศไทย แม้จะมีการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 อย่างเข้มแข็งก็ยังพบการติดเชื้อสูง และโดยเฉพาะในเชื้อโควิดกลายพันธุ์ ที่มีความรุนแรง ติดเชื้อง่าย และพบการติดเชื้อในเด็กเพิ่มมากขึ้น ทำให้โรคโควิด-19 จึงมิใช่เรื่องที่ไกลตัวอีกต่อไป
โรคโควิด-19 แพร่กระจายเชื้อได้อย่างไร?
ทางละอองฝอย ผ่านการไอจามรดกันในระยะ 1-2 เมตร
ทางการสัมผัส ผ่านการสัมผัสสิ่งคัดหลั่งของผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 เช่น น้ำมูก น้ำลาย ทั้งโดยทางตรง หรือทางอ้อมผ่านพื้นผิวสัมผัสที่ปนเปื้อนเชื้อ เช่น โต๊ะ ลูกบิดประตู ราวจับ สำหรับสิ่งคัดหลั่งอื่น เช่น อุจจาระ พบว่ามีโอกาสแพร่เชื้อได้น้อยมาก
ทางอากาศ พบในบางกรณี เช่น ผู้ป่วยไอมาก ใกล้ชิดผู้ป่วยในสถานที่ที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก การทำหัตถการที่ก่อให้เกิดการฟุ้งกระจายของละอองฝอยขนาดเล็ก ได้แก่ การดูดเสมหะ การใส่ท่อช่วยหายใจ เป็นต้น
โรคโควิด-19 ในเด็ก
อาการของโรคโควิด-19 ในเด็กมีอะไรบ้าง?
โรคโควิด-19 สามารถมีอาการได้หลากหลายตั้งแต่ ไม่มีอาการเลย จนถึงปอดอักเสบรุนแรง หรือเสียชีวิต
ระยะฟักตัวประมาณ 14 วัน โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอาการของโรคประมาณ 4-5 วัน หลังสัมผัสโรค เด็กมักติดเชื้อจากการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ใหญ่ในบ้านที่ติดเชื้อหรือมีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันโรคโควิด-19
อาการของโรคโควิด-19 ที่พบมากที่สุดคือ ไข้ ไอแห้งๆ และอ่อนเพลีย อาจพบอาการปวดเมื่อย คัดจมูก น้ำมูกไหล จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ หรือผื่นตามผิวหนัง สำหรับอาการทางเดินอาหาร เช่น ท้องเสีย ปวดท้อง พบได้เล็กน้อย
โรคโควิด-19 ในเด็กมีอาการรุนแรงไหม?
ผู้ป่วยเด็กติดเชื้อส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 90 มีอาการไม่รุนแรง มักพบอาการเพียงเล็กน้อย เช่น ไข้ ไอ ปวดกล้ามเนื้อ ผู้ป่วยเด็กเพียงร้อยละ 5 เท่านั้นที่มีอาการรุนแรงหรือวิกฤติ เช่น ปอดอักเสบรุนแรง ระบบหายใจหรือระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว รวมถึงภาวะอักเสบหลายระบบในเด็ก
ผู้ป่วยเด็กสามารถพบติดเชื้อแต่ไม่มีอาการได้ประมาณร้อยละ 4
ภาวะแทรกซ้อนพบได้น้อย มักพบในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงสูง เช่น เด็กเล็กอายุน้อยกว่า 1 ปี ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไต โรคปอดเรื้อรัง หรือภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง
อัตราการเสียชีวิตประมาณร้อยละ 2้
ข้อมูลอ้างอิงจาก บทความ นพ.ชัยศิริ ศรีเจริญวิจิตร กุมารแพทย์โรคติดเชื้อ รพ.ศิครินทร์
อ่านต่อ⇒ แม่แชร์ เมื่อลูกติดโควิด! วิธีรักษา Home Islation เด็ก
ทำความรู้จักกับ “ยาฟาวิพิราเวียร์”
ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) เป็นยาต้านเชื้อไวรัสที่อยู่ในสูตรยารักษาผู้ป่วย COVID-19 ของไทย โดยใช้ควบคู่ไปกับยาอื่นและได้ผลดี ทั้งนี้ ยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นยาต้านไวรัสที่ใช้กับไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่มีฤทธิ์ต่อต้านอาร์เอ็นเอไวรัสหลายชนิด
สำหรับในประเทศไทย ยาฟาวิพิราเวียร์ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในผู้ป่วย COVID-19 เป็นกรณีพิเศษและจากการเก็บข้อมูลย้อนหลังพบว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ มีความปลอดภัย สามารถลดความรุนแรงและการสูญเสียจาก COVID-19 ได้ โดยองค์การเภสัชกรรมได้ทำการวิจัยและพัฒนากระบวนการสังเคราะห์วัตถุดิบยาฟาวิฟิราเวียร์ ในระดับห้องปฏิบัติการได้เรียบร้อยแล้ว
ยาฟาวิพิราเวียร์จะออกฤทธิ์ 2 แบบ คือ ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสและทำให้เชื้อไวรัสกลายพันธุ์ คือ เข้าไปยับยั้งเอนไซม์ RNA-dependent RNA polymerase,RdRP ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่มีในไวรัสเท่านั้น เมื่อยาเข้าสู่ร่างกายจะถูกเปลี่ยนเป็นสาร Active Form = favipiravir-ribofuranosyl-5′-triphosphate (RTP) ให้ไวรัสกลายพันธุ์จนภูมิต้านทานในร่างกายมนุษย์สามารถเข้าไปกำจัดไวรัสจนหมด หรือเหลือปริมาณน้อยจนไม่สามารถก่อโรคในร่างกายได้อีก
ผู้ป่วยใดที่ควรได้รับยาฟาวิพิราเวียร์
แพทย์จะพิจารณาเริ่มยาฟาวิพิราเวียร์ในผู้ป่วยที่มีภาวะปอดอักเสบ ที่มีอาการรุนแรง โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง ได้แก่ อายุมากกว่า 60 ปี มีโรคประจำตัว ดังนี้ โรคปอดเรื้อรัง โรคตับ ไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวาน รวมถึงในผู้ป่วยที่มีภาวะอ้วนหรือภูมิคุ้มกันบกพร่อง
วิธีการรับประทานยาฟาวิพิราเวียร์ (รูปแบบยาเม็ด)
ขนาดยาที่ใช้สำหรับผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 9 เม็ดทุก 12 ชั่วโมงในวันแรก และลดเหลือครั้งละ 4 เม็ด ทุก 12 ชั่วโมงในวันที่เหลือ ผู้ที่น้ำหนักมากกว่า 90 กิโลกรัม ขนาดยาจะสูงขึ้น โดยในวันแรกจะรับประทานครั้งละ 12 เม็ดทุก 12 ชั่วโมง และลดเหลือครั้งละ 5 เม็ด ทุก 12 ชั่วโมงในวันที่เหลือ สำหรับผู้ป่วยเด็กจะต้องมีการคำนวณขนาดยาตามน้ำหนักตัว ผู้ป่วยควรรับประทานยาตามวันและเวลาที่กำหนดอย่างเคร่งครัด ระยะเวลาในการรักษาอยู่ที่ 5-10 วัน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคและการตอบสนองต่อการรักษาของผู้ป่วยแต่ละราย อาการข้างเคียงที่อาจพบได้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ตับอักเสบ เป็นต้น
ข้อมูลอ้างอิงจาก เภสัชกรหญิงนันทพร เล็กพิทยา เภสัชกรภิฏฐา สุรพัฒน์ คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์ ตำรับแรกในไทย
ยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์ ยาต้านเชื้อไวรัส ถือเป็นตำรับแรกในประเทศไทย ที่ถูกพัฒนาและคิดค้นสูตรโดย งานเภสัชกรรมฯ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ร่วมกับคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท เมดิกา อินโนวา จำกัด สำหรับผลิตในโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ (Hospital preparation) ยาชนิดน้ำเชื่อมนี้ทำไว้สำหรับกลุ่มผู้ป่วยเด็ก ผู้ป่วยสูงอายุ รวมถึงผู้ป่วยที่มีความลำบากในการกลืนยาเม็ด โดยมุ่งหวังเพื่อช่วยเหลือประเทศไทยให้สามารถผลิตยาให้มีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ปัจจุบันยังไม่สามารถควบคุมได้ และพบการติดเชื้อในเด็กเพิ่มมากขึ้น
ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เล่าว่า การระบาดของโรคโควิด-19 ช่วงนี้ พบผู้ติดเชื้อมากขึ้นอย่างชัดเจน และมีผู้ติดเชื้อเป็นเด็กจำนวนค่อนข้างสูง และใช้ยารักษาแบบเม็ดได้ค่อนข้างลำบาก ทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้หารือกับบริษัท เมดิกา อินโนวา จำกัด เพื่อผลิตยาในโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ในรูปแบบยาน้ำเชื่อมที่ใช้รักษาโควิด-19
วิธีใช้ยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์
ตำรับยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์ เป็นยาน้ำเชื่อมปราศจากน้ำตาล ลักษณะเป็นยาน้ำใส สีส้ม รสราสป์เบอรี่
ช่องทางติดต่อรับยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์
ในกรณีที่แพทย์มีความประสงค์จะใช้ยาชนิดนี้ในผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในกลุ่มผู้ป่วยเด็กและผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่ให้อาหารทางสายที่มีผลการตรวจ RT- PCR ยืนยันการติดเชื้อโควิด-19 ที่อยู่ในระบบการดูแลของโรงพยาบาล หรือเข้าสู่ระบบการดูแลที่บ้าน Home Isolation ที่มีแพทย์ติดตามหรือในผู้ที่แพทย์เห็นสมควรจากประวัติสัมผัสและผลตรวจ Rapid Antigen Test เป็นบวก
สามารถติดต่อเพื่อขอรับยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โดยนำผลยืนยันการติดเชื้อโควิด-19 เข้ามาพบแพทย์และรับยาได้ที่ favipiravir.cra.ac.th หรือโทร.06-4586-2470 ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 6 สิงหาคมเป็นต้นไป โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ระหว่างเดือนสิงหาคมและกันยายน โดยในระยะแรกโรงพยาบาลจุฬาภรณ์สามารถผลิตได้จำกัดเพียงไม่เกิน 100 รายต่อสัปดาห์ และยานี้ต้องใช้ตามแพทย์สั่งเท่านั้น
ข้อมูลอ้างอิงจาก www.prachachat.net /fb:nithi.mahanonda
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
รีวิว ยาน้ำแก้ไอสำหรับเด็ก ตัวไหน? ช่วยบรรเทาอาการไอและปลอดภัยกับลูกน้อย
ยาน้ำลดไข้ ของเด็ก แต่ละยี่ห้อแตกต่างกันอย่างไร พ่อแม่ควรรู้!
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่