วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ป้องกันได้จริงหรือ??
ในประเทศไทย วัคซีนไข้หวัดใหญ่ มีเฉพาะชนิดเชื้อตาย เป็นวัคซีนที่ผลิตขึ้นโดยใช้เชื้อโรคทั้งตัวที่ตายแล้ว หรือใช้เฉพาะส่วนประกอบบางส่วนของเชื้อโรค หรือโปรตีนส่วนประกอบของเชื้อที่ผลิตขึ้นมาใหม่ ซึ่งไม่สามารถก่อให้เกิดโรคได้ จึงมีความปลอดภัยสูง มีประสิทธิภาพป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เดียวกัน หรือใกล้เคียงกับวัคซีนได้ 70% – 90%
ดังนั้นแม้ผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้ว ก็ยังอาจมีโอกาสเป็นไข้หวัดใหญ่ได้ (คนละสายพันธุ์) แต่ความรุนแรงของโรคจะน้อยลง
ใครห้ามฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่?
บุคคลที่ห้ามฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ได้แก่
- เด็ก อายุน้อยกว่า 6 เดือน
- ผู้ที่มีประวัติการแพ้ไข่รุนแรง
- ผู้ที่มีประวัติการแพ้วัคซีนไข้หวัดใหญ่หรือส่วนประกอบในวัคซีนไข้หวัดใหญ่
- ผู้ที่มีไข้สูง หรือมีโรคติดเชื้อรุนแรง (ผู้ที่มีไข้ต่ำๆ สามารถฉีดได้)
คนแพ้ไข่ทำไมต้องห้ามฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่?
วัคซีนไข้หวัดใหญ่ส่วนมากจะมีการเลี้ยงเชื้อในเซลล์ไข่ อาจมีส่วนประกอบของโปรตีนจากไข่ปนในวัคซีน ดังนั้นผู้ที่มีประวัติแพ้ไข่อย่างรุนแรง (anaphylaxis) ควรเลี่ยงการฉีด แต่หากแพ้แพ้ไม่รุนแรง เช่น เป็นผื่น สามารถฉีดวัคซีนได้แต่ต้องเฝ้าดูอาการอย่างน้อย 30 นาทีหลังฉีด
ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ร่วมกับวัคซีนชนิดอื่นได้หรือไม่?
สามารถฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ร่วมกับวัคซีนชนิดอื่นได้ เพราะวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทยมีเฉพาะวัคซีนชนิดเชื้อตาย จึงไม่มีผลต่อวัคซีนชนิดอื่น ๆ
วัคซีนไข้หวัดใหญ่ กับวัคซีนโควิด-19
ในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคไข้หวัดใหญ่ได้ และผู้ที่ฉีดวัคซีนโควิด 19 ไปแล้ว ควรได้รับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ด้วย เนื่องจากเป็นเชื้อไวรัสคนละชนิดกัน ประชาชนสามารถฉีดวัคซีนได้ทั้ง 2 ชนิดพร้อมกันได้เลย แต่ให้ฉีดที่แขนคนละข้าง และสำหรับประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง ได้แก่
- หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป
- เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี
- ผู้มีโรคเรื้อรัง ได้แก่ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน
- ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป
- ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้
- โรคธาลัสซีเมีย และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งรวมผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีอาการ
- โรคอ้วน คือผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า 100 กิโลกรัม หรือ มีดัชนีมวลกายมากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร
ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ลดความรุนแรงของโรค และลดความเสี่ยงการเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนของผู้ป่วยได้
ควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ช่วงไหน และบ่อยแค่ไหน?
ในประเทศไทยการระบาดหลักของโรคไข้หวัดใหญ่มักเกิดในช่วงหน้าฝน จึงแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ก่อนเข้าฤดูฝน ประมาณช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่สามารถฉีดได้ตลอดทั้งปี และควรได้รับการฉีดวัคซีนปีละครั้ง เพราะวัคซีนมีการเปลี่ยนแปลงส่วนประกอบของสายพันธุ์ไวรัสที่บรรจุในวัคซีนทุกปี โดยเป็นสายพันธุ์ที่คาดว่าน่าจะเกิดการระบาดในปีนั้น ๆ ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก
วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ฟรี !! ปี 2565
นพ.จักรกริช โง้วศิริ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ตามที่ สปสช. ได้ร่วมกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จัดบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลในปี 2565 จำนวน 4.2 ล้านโดส สิทธิประโยชน์ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พร้อมเร่งรณรงค์การฉีดที่มีระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม -31 สิงหาคม 2565 เน้นฉีดให้กับประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง ทุกสิทธิการรักษาพยาบาล เพื่อลดอัตราเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนของโรคไข้หวัดใหญ่
บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ในปีนี้ เป็นการให้บริการในรูปแบบ Walk in คือใครมาก่อนมีสิทธิได้รับบริการก่อน (First come – Frist serve) โดยเข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ได้ที่หน่วยบริการหรือสถานพยาบาลใกล้บ้าน หรืออาจโทรสอบถามกับหน่วยบริการ ก่อนยกเว้นกรุงเทพมหานครที่ยังคงระบบเปิดให้จองฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ล่วงหน้า ด้วยการลงทะเบียนผ่านแอป “เป๋าตัง” เช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา โดยเป็นความร่วมมือกับธนาคารกรุงไทย
กรมควบคุมโรค ขอเชิญชวนประชาชนทั่วไป และกลุ่มเสี่ยงดังกล่าว เข้ารับการฉีดวัคซีนได้ที่สถานบริการสาธารณสุขของรัฐใกล้บ้าน และที่สถานพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรณรงค์ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ของกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม – 31 สิงหาคม 2565 สามารถสอบถามข้อมูลสุขภาพเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422
ข้อมูลอ้างอิงจาก กรมควบคุมโรค /www.siphhospital.com/www.nhso.go.th /www.bangkokbiznews.com
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่