ไขข้อข้องใจโรคระบาดหนัก โรคมือเท้าปาก อันตรายไหม สาเหตุและการรักษา ต้องทำอย่างไร
โรคมือเท้าปาก อันตรายไหม
ช่วงนี้พ่อแม่หลายคน คงต้องดูแลลูกมากเป็นพิเศษ เพราะในช่วงปลายฝนต้นหนาว โรคร้ายมากมายกลับมาเยือนเป็นประจำทุกปี อย่างช่วงนี้ RSV ระบาดหนัก ทำให้เด็กป่วยจำนวนมาก ทั้งยังร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตเลยก็มี แต่อีกหนึ่งโรคระบาดที่ต้องระวังคือ โรคมือเท้าปาก ติดกันได้ง่าย โดยเฉพาะเด็กวัยเรียน
สถิติโรคมือเท้าปาก 2563
ข้อมูลจากกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เปิดเผยสถานการณ์ โรคมือเท้าปาก ณ วันที่ 29 ตุลาคม 2563 จาก รง. 506 กองระบาดวิทยา พบผู้ป่วย 15,544 ราย อัตราป่วย 23.40 ต่อประชากรแสนคน ไม่พบผู้เสียชีวิต
สำหรับกลุ่มอายุที่พบว่าเป็นโรคมือเท้าปากมากที่สุด 3 อันดับ
- ทารก 0-4 ปี (86.35%)
- อายุ 5 ปี (4.36%)
- อายุ 7-9 ปี (3.59%)
ภาคที่มีอัตราป่วยโรคมือเท้าปากสูงสุด เรียงตามลำดับ
- ภาคใต้ 50.33 ต่อแสนประชากร พบมากในกลุ่มอายุ 1 ปี (1531 ราย), 2 ปี (1023 ราย), 3 ปี (792 ราย)
- ภาคเหนือ 25.50 ต่อแสนประชากร พบมากในกลุ่มอายุ 1 ปี (904 ราย), 2 ปี (765 ราย), 3 ปี (488 ราย)
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 19.78 ต่อแสนประชากร พบมากในกลุ่มอายุ 1 ปี(1,018 ราย), 2 ปี (1018 ราย), 3 ปี (908 ราย)
- ภาคกลาง 14.64 ต่อแสนประชากร พบมากในกลุ่มอายุ 1 ปี (840 ราย), 2 ปี (585 ราย), 3 ปี (479 ราย)
โรคมือเท้าปาก โรคอันตราย!
โรคมือเท้าปาก (Hand-Foot-And-Mouth Disease-HFMD) เป็นโรคติดต่อที่พบบ่อยในเด็ก มักมีการระบาดช่วงฤดูฝน มักมีอาการประมาณ 2-3 วันและดีขึ้นจนหายใน 1 สัปดาห์ สำหรับโรคมือเท้าปากมีระยะฟักตัวประมาณ 1 สัปดาห์ จึงสามารถติดต่อกันได้โดยที่ยังไม่แสดงอาการ สาเหตุของโรคเกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเตอโรไวรัส มีหลายสายพันธุ์ หากติดเชื้อที่อันตราย จะมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
เพจ Infectious ง่ายนิดเดียว ได้ออกมาเตือนพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีลูกหลานเล็ก ๆ โดยเฉพาะเด็กวัยเรียนให้ระวังอันตรายจากโรคมือเท้าปาก ที่กำลังระบาดหนักไม่แพ้ RSV โดยโพสต์ว่า ช่วงนี้เริ่มกลับมาระบาด โรคมือเท้าและปาก RSV ก็ยังระบาด ในศูนย์เด็กเล็ก อนุบาล ประถมก็เจอ โรคมือเท้าปากเกิดจากเชื้อไวรัสชื่อเอนเทอร์โรไวรัส (Enterovirus) สมาชิกในกลุ่มไวรัสที่พบบ่อยคือ Coxsackie และ Enterovirus
อาการสำคัญของโรคมือเท้าปาก
ลักษณะตุ่มที่ขึ้นจะเป็นตุ่มใส ขึ้นในปากบริเวณเพดาน ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ถ้าขึ้นแค่ในปาก เรียก herpangina (เฮอร์แปงไจน่า) ถ้าขึ้นครบ 3 ที่ คือ มือ เท้า ปาก จะเรียกว่า โรคมือเท้าปาก บางรายตุ่มขึ้นตามตัวหรือก้นได้
มือเท้าปากอันตรายแค่ไหน
โรคนี้มักจะมีอันตรายหากพบภาวะแทรกซ้อน แบ่งออกเป็นภาวะแทรกซ้อนที่ไม่รุนแรงและพบบ่อย ขาดน้ำ เนื่องจากเจ็บปาก กินน้ำและอาหารไม่ได้ ส่วนภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงจะแบ่งออกเป็น 2 โรค
ภาวะแทรกซ้อนรุนแรงมักพบจากสายพันธุ์ เอนเทอร์โรไวรัส 71 เด็กจะไข้สูง ซึม ตัวสั่น ๆ งอแง มีกล้ามเนื้อกระตุกได้ (myoclonus jerk) ถ้ารุนแรงน้ำท่วมปอด หายใจหอบ หัวใจวาย ชัก เกร็งกระตุก เสียชีวิตได้
การวินิจฉัยและการรักษาโรคมือเท้าปาก
วินิจฉัยจากอาการที่แสดง มีตุ่มในปากบริเวณเพดาน ลิ้นไก่ และฝ่ามือฝ่าเท้า ส่วนการรักษา จะรักษาตามอาการ ไม่มียาฆ่าไวรัส กินอาหารเย็นได้ เช่น น้ำเย็น น้ำแข็ง ไอติม โดยจะหยอดยาชาเพื่อบรรเทาอาการเจ็บ แต่ควรให้กินอาหารอ่อน ๆ ย่อยง่าย
การพยากรณ์โรค ดีมาก หายได้ภายใน 3-7 วัน มีโอกาสเป็นซ้ำได้ ต้องรักษาความสะอาดและหลีกเลี่ยงสัมผัสคนป่วย ส่วนน้อยมาก ๆ ที่จะมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง
โรคมือเท้าปากยังไม่มีวัคซีน การป้องกันทำได้ ดังนี้
- กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ รักษาระยะห่าง หลีกเลี่ยงสัมผัสคนป่วย
- อย่าอมมือ อมของเล่น
- งดเล่นบ้านบอล สนามเด็กเล่น
คุณหมอยังย้ำด้วยว่า หากพบลูกหลานป่วยควรให้หยุดเรียน ทางโรงเรียนอาจจะปิดชั้นเรียนและทำความสะอาดข้าวของเครื่องใช้ ของเล่น โดยการทำความสะอาดจะใช้ผงซักฟอกทำความสะอาดได้ รวมทั้งการตากแดดอุปกรณ์และของเล่น
ในเมื่อโรคมือเท้าปากยังไม่สามารถป้องกันได้ พ่อแม่ผู้ปกครองจึงต้องหมั่นดูแลความสะอาด กำชับลูกเรื่องล้างมือ พร้อมกับคอยทำความสะอาดข้าวของเครื่องใช้ลูกหลังกลับจากโรงเรียนทุกครั้ง และอย่าลืมสังเกตร่างกายลูกทุกวัน หากพบเจอความผิดปกติให้หยุดเรียนและรีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด
อ้างอิงข้อมูล : Infectious ง่ายนิดเดียว, กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค และ pidst.or.th
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม
ผื่นแพ้สัมผัส ลูกเป็นตุ่มแดง บวม คัน แพ้ไส้ในเบาะกันขอบเตียง