สิ่งที่พ่อแม่ควรรู้ เพื่อรับมือกับ ‘โรคมือเท้าปาก’ - Amarin Baby & Kids

สิ่งที่พ่อแม่ควรรู้ เพื่อรับมือกับ ‘โรคมือเท้าปาก’

Alternative Textaccount_circle
event

จากกรณีการเสียชีวิตของเด็กหญิงอายุ 4 ขวบจากโรคมือเท้าปากหลังการติดเชื้อภายใน 3-4 วันเมื่อเร็ว ๆ นี้ นับเป็นเรื่องที่สะเทือนใจและสร้างความตกใจ โดยเฉพาะพ่อแม่ที่มีลูกเล็ก ดังนั้น เราจึงควรรู้เรื่องโรคมือเท้าปากเพื่อการป้องกันและดูแลรักษาให้ทันท่วงที เนื่องจากเด็กเล็กยังไม่มีภูมิคุ้มกันที่มากเพียงพอ หากมีการระบาดอาจทำให้เด็กต้องเจ็บป่วยและอาจถึงเสียชีวิตได้

รศ.พญ.อัจฉรา ตั้งสถาพรพงษ์ กุมารแพทย์โรคติดเชื้อ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า โรคมือเท้าปากเป็นโรคที่พบได้บ่อยในเด็กเล็กและพบได้ตลอดปีแต่พบมากในช่วงหน้าฝน ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาโรคมือเท้าปากมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และพบการระบาดในสถานรับเลี้ยงเด็กและโรงเรียนอนุบาลหลายแห่

โรคมือเท้าปากคือ? สาเหตุเกิดจากอะไร?

“โรคมือเท้าปากมีสาเหตุจากเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเทอโรไวรัสซึ่งมีหลายชนิด เด็กจะมีอาการไข้ เจ็บปาก และมีผื่นเป็นลักษณะตุ่มน้ำใส หรือเม็ดแดงๆ บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า บางครั้งอาจมีตามลำตัว แขน ขา ได้ ผู้ป่วยจะมีแผลในปาก โดยมีลักษณะเป็นแผลกลมเล็ก ๆ กระจายที่ลิ้น เหงือก กระพุ้งแก้ม และเพดาน ทำให้รับประทานอาหารไม่ค่อยได้ โดยส่วนใหญ่โรคมักไม่รุนแรง หายได้เอง และไม่มีอาการแทรกซ้อน โดยไข้มักจะหายใน 2-3 วัน และผื่นจะค่อย ๆ ดีขึ้นใน 7-10 วัน แต่หากติดเชื้อไวรัสกลุ่มนี้บางชนิด เช่น เอนเทอโรไวรัส 71 อาจทำให้เกิดภาวะสมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือนํ้าท่วมปอด ซึ่งจะรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ เด็กที่มีอาการรุนแรงมักมีไข้สูง ซึม แขนขาอ่อนแรง มือสั่น เดินเซ อาเจียนมาก หายใจหอบ และชัก หากพบอาการเหล่านี้ จึงควรรีบพาพบแพทย์โดยด่วน” รศ.พญ.อัจฉรา กล่าว

โรคมือเท้าปากสามารถติดต่อได้อย่างไร

1. ติดต่อโดยตรงจากการสัมผัสกับสารคัดหลั่งจากจมูก ลำคอ น้ำลาย และน้ำจากตุ่มใสที่ผิวหนัง รวมถึงอุจจาระของผู้ป่วยที่มีเชื้ออยู่

2. ติดต่อโดยอ้อมจากการสัมผัสของเล่น พื้นผิวสัมผัสที่มีการปนเปื้อนของเชื้อ อาหารหรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อ มือของผู้เลี้ยงดู

แพทย์จะวินิจฉัยอย่างไร

โดยทั่วไปแพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ ทั้งลักษณะผื่นหรือตุ่มแผลต่างๆ ที่ปรากฏ รวมถึงวินิจฉัยแยกจากโรคที่มีอาการแผลในปากอื่นๆ เช่น โรคติดเชื้อเริมในช่องปาก สำหรับการส่งตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการมักไม่ช่วยในการวินิจฉัยโรคเบื้องต้น เพราะต้องใช้เวลานาน 2-4 สัปดาห์ จึงทำเฉพาะในรายที่มีอาการรุนแรง หรือยืนยันการระบาดเท่านั้น

การรักษาโรคเป็นอย่างไร

ยังไม่มียารักษาจำเพาะ การรักษาเป็นการรักษาตามอาการ ได้แก่ ให้ยาลดไข้ และเช็ดตัวเพื่อลดไข้ ถ้ามีแผลในปากให้ยาชาเฉพาะที่เพื่อลดอาการเจ็บปาก และให้รับประทานอาหารอ่อนๆ ควรให้เด็กดื่มน้ำเกลือแร่เพื่อชดเชยภาวะขาดน้ำ ในรายที่เพลียมากอาจให้นอนรักษาตัวในโรงพยาบาลและให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด สำหรับเด็กที่มีอาการรุนแรงหรือภาวะแทรกซ้อนจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างใกล้ชิดในโรงพยาบาล

ป้องกันโรคอย่างไรดี?

ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคนี้ เด็กเล็กจึงควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดเนื่องจากยังไม่มีภูมิคุ้มกันที่มากเพียงพอ การป้องกันสามารถทำได้โดยการรักษาสุขอนามัย โดยเฉพาะการล้างมือและการรักษาสุขอนามัยของสภาพแวดล้อม ผู้ปกครองและผู้ดูแลเด็กจะต้องล้างมือให้สะอาดด้วยนํ้าและสบู่ ในเวลาเหล่านี้

  1. ก่อนและหลังเตรียมอาหาร
  2. ก่อนรับประทานอาหาร
  3. หลังการขับถ่ายหรือเปลี่ยนผ้าอ้อม
  4. หลังการดูแลเด็กป่วย

รวมทั้งให้เด็กล้างมือให้สะอาดบ่อยๆ และใช้ช้อนกลาง สำหรับสถานรับเลี้ยงเด็กและโรงเรียนอนุบาลต้องหมั่นดูแลรักษาสุขลักษณะของสถานที่และอุปกรณ์เครื่องใช้ ของเล่นให้สะอาดอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น แก้วนํ้า หลอดดูด ผ้าเช็ดหน้า และผ้าเช็ดมือ นอกจากนี้ ควรเฝ้าระวังหากพบเด็กป่วย ต้องรีบแยกเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่ไปยังเด็กคนอื่นๆ และให้เด็กหยุดรักษาตัวที่บ้านประมาณ 5 – 7 วัน หรือจนกว่าจะหายเป็นปกติ เพื่อป้องกันการระบาดของโรคนี้

 

ขอบคุณข้อมูลจาก สื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โทร 02-613-3030

เรียบเรียงโดย: กองบรรณาธิการเว็บไซต์

ภาพ: shutterstock

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up