ลูกมีตุ่มแดงคล้ายยุงกัด แต่ไม่คันให้เฝ้าระวังโรคฮีน็อค อันตราย!
โรคฮีน็อค ชื่อที่ฟังไม่คุ้นหู แต่รู้หรือไม่ว่า อาการที่พบมีลักษณะเป็นตุ่มแดง ผื่นแดง คล้ายยุงกัด หรืออาการแพ้แบบปกติทั่ว ๆ ไป แบบที่เราพบเจอได้บ่อยครั้งจึงทำให้คุณพ่อคุณแม่ไม่ทันระวัง คิดว่าตุ่มแดงที่เกิดขึ้นตามตัวของลูกนั้นเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อยตามปกติ แต่หากเป็นอาการของโรคฮีน็อค และปล่อยไว้นานเกินไป อาจอันตรายต่อชีวิตของลูกได้
เรื่องเล่าประสบการณ์จริง กับโรคฮีน็อค
เริ่มจากเป็นจุดเล็ก ๆ เริ่มเยอะขึ้น เริ่มปวดท้อง ไปหาหมอน้องเป็นฮีน๊อค เวลาปวดท้องเเทบไม่กินเลยตอนนี้น้ำหนักลดเป็นโล ลูกอดทนสู้มากถ้าไม่ปวดมากจริง ๆ คือทน
โรคฮีน็อค คือ อาการแสดงของการอักเสบของหลอดเลือดขนาดเล็กในอวัยวะร่างกายหลาย ๆ ระบบ เช่น ผิวหนัง ทางเดินอาหาร ไต ข้อและระบบประสาท สาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัด
ปวดท้อง เลือดออกทางเดินอาหาร ผื่นแดงนูน purpura ข้ออักเสบหรือปวดข้อ และปัสสาวะมีเลือดตอนนี้หมอนัดถี่ กลัวลงไตวันนี้เข้าวันที่16 เเล้วลูกมาขอกำลังใจ เเละโรคนี้ไม่มีวิธีป้องกัน อยากให้พ่อเเม่หมั่นสังเกต ผื่น จะกดไม่จาง ตอนเเรกคล้ายตุ่มยุงกัดตอนนี้ลูกเปลี่ยนยาเเนวการรักษาเป็น Prednisolone เป็นยาสเตียรอยด์ที่ใช้รักษาโรค และภาวะผิดปกติหลายชนิด เช่น ต้านการอักเสบ กดภูมิคุ้มกัน รักษาอาการแพ้ ผลข้างเคียงเยอะ สู้ ๆ นะลูก การที่เห็นลูกเจ็บหัวใจเเม่นั้นต้องเข้มแข็งเข้าไว้ได้เเต่ให้กำลังว่าลูกจะหาย ลูกถามทุกวันหนูจะหายมั้ย
ขอขอบคุณเรื่องเล่า และรูปภาพจากประสบการณ์จริงของคุณแม่ Audi Jun
จากประสบการณ์จริงของคุณแม่เจ้าของเรื่อง ที่พบว่าลูกมีอาการเริ่มต้นเพียงแค่จุดเล็ก ๆ ตามตัวไม่มาก และลามมาจนกระทั่งเต็มตัว ร่วมกับมีอาการปวดท้อง ที่ถึงแม้น้องจะมีความเข้มแข็ง อดทนสู้ต่ออาการปวดท้องจนน้ำหนักลด แต่คุณแม่ก็ไม่นิ่งนอนใจพาไปพบแพทย์จนได้รู้ว่าเป็นโรคฮีน็อค และสามารถเข้ารับการรักษาได้ทัน ก่อนสาย แต่สิ่งหนึ่งที่คุณแม่อยากเล่าไว้เป็นอุทาหรณ์เพื่อให้คุณแม่ท่านอื่น ๆ ได้หมั่นสังเกต อาการของลูกน้อย เพื่อจะได้รีบรักษาเสียแต่เนิ่น ๆ และไม่ต้องมาทนเห็นลูกเจ็บ และทรมานจากอาการของโรคฮีน็อคนี้ พวกเรา ทีมแม่ ABK ขอเป็นอีกหนึ่งกำลังใจ เอาใจช่วยให้น้องหายวันหายคืน
ฮีน็อค ชอนไลน์ เพอพูรา หรือ โรคเส้นเลือดฝอยอักเสบเฉียบพลัน!!
พญ.นุชนาฏ รุจิเมธาภาส นายแพทย์ชำนาญการงานโรคผิวหนัง สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เปิดเผยว่า โรคฮีน็อค ชอนไลน์ เพอพูรา หรือ โรคเส้นเลือดฝอยอักเสบ เกิดได้กับคนทุกวัย โดยเฉพาะเด็กวัย 2-11 ปี โดยโรคนี้ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของภูมิคุ้มกันร่างกายเฉียบพลัน เพราะติดเชื้อแบคทีเรีย หรือ ไวรัสบางชนิด ทำให้หลอดเลือดเล็กอักเสบ และแสดงอาการออกมาทางส่วนต่าง ๆ เริ่มจากผื่นที่ผิวหนัง ซึ่งผู้ปกครองมักเข้าใจว่าเป็นผื่นจากแมลงกัด
“ผื่นที่เกิดจากโรคเส้นเลือดฝอยอักเสบ ลักษณะผื่นระยะแรกจะเป็นจุดแดงๆ คล้ายยุงกัด แต่เด็กจะไม่มีอาการคัน หากปล่อยไว้ก็จะเพิ่มขึ้น จะสังเกตว่าผื่นจะเป็นที่บริเวณขาทั้ง 2 ข้างเท่าๆ กัน เวลากดลักษณะผื่นจะเป็นสีแดง กดไม่จาง ถ้าเป็นมากขึ้นเด็กจะรู้สึกไม่อยากเดิน ปวดขา ปวดข้อเท้า ถ้าเป็นมากขึ้นอีก ก็จะมีอาการปวดท้อง ลักษณะปวดเป็นๆ หายๆ ถ้าเป็นมากขึ้นอีกก็อาจจะถ่ายเป็นเลือด” พญ.นุชนาฏ กล่าว
แพทย์จะรักษาผู้ป่วยโรคฮีน็อคตามอาการที่ปรากฏ พร้อมกับให้ยาลดการอักเสบของเส้นเลือดฝอย โดยผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นได้ภายใน 2-3 สัปดาห์ หากไม่มีอาการแทรกซ้อน แต่ก็ยังจำเป็นต้องติดตามอาการตลอด 1 ปี โดยห้ามผู้ป่วยวิ่ง ออกกำลังกายหนัก เพราะโรคนี้อาจกลับมาเป็นซ้ำได้อีก
แม้ว่าประเทศไทยยังไม่มีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตจากโรคฮีน็อค และโรคนี้ไม่ใช่โรคติดต่อ แต่เนื่องจากป้องกันไม่ได้ ผู้ปกครองจึงต้องหมั่นสังเกตความผิดปกติของบุตรหลาน เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้องและทันเวลา
ข้อมูลอ้างอิงจาก news.thaipbs.or.th
ผื่นแดง ตุ่มแดง แบบไหนควรเฝ้าระวัง!!
อาการผื่นแดงตามตัวที่เกิดจากเส้นเลือดฝอยอักเสบนั้นเรียกว่า “โรคฮีน็อค” โดยจะเกิดอาการบวมของเส้นเลือด มีจุดแดงขึ้นเหมือนผื่น ไม่คัน บางรายอาจรู้สึกเจ็บ เป็นกลุ่มโรคภูมิต้านทานทำร้ายตัวเอง มักเกิดจากพันธุกรรมหรือเกิดการติดเชื้อนำมาก่อน เมื่อติดเชื้อแล้วภูมิต้านทานทำงานผิดปกติ ทำให้เส้นเลือดฝอยเกิดการอักเสบกลายเป็นโรคฮีน็อคในที่สุด
อาการแสดงของโรคฮีน็อคแสดงออกได้หลากหลายอย่าง โดยอาการจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันของร่างกายของแต่ละคน และจะแสดงอาการในแต่ละระบบร่างกายแตกต่างกันไป ดังนี้
- ผิวหนัง พบมากถึงร้อยละ 97 ในเด็กที่เป็นโรคนี้ โดยส่วนใหญ่จะเป็น ลมพิษ macular eruption หรือผื่นแดง (palpable purpura) ที่หน้าแข้ง ขา ก้น แขน มักไม่ค่อยพบที่บริเวณใบหน้าหรือแขน โดยมักพบเท่า ๆ กันทั้ง 2 ข้าง แต่ในเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 3 ปี อาจพบที่ศีรษะ และหน้าได้
- ระบบทางเดินอาหาร พบร้อยละ 50-58 มีอาการปวดท้องรุนแรง คลื่นไส้อาเจียน อาจมีอาการอาเจียนเป็นเลือด ถ่ายเป็นเลือด หรือ ตรวจอุจจาระพบ occult blood เป็นผลบวก มักเกิดร่วมกับผื่นผิวหนัง แต่ก็สามารถเกิดอาการเฉพาะระบบทางเดินอาหารอย่างเดียวได้ อาการในระบบนี้อาจเกิดก่อนหรือหลังผื่นประมาณ 1 สัปดาห์ ภาวะแทรกซ้อนที่พบมีทั้งภาวะลำไส้กลืนกัน (Intussuscrption) พบได้ร้อยละ 2-10 อาจมีตับอ่อนอักเสบ ลำไส้ขาดเลือดหรือเป็นมากอาจมีลำไส้ทะลุได้ นอกจากนี้อาจตรวจพบว่าเกิดตับโต หรือตับอักเสบร่วมด้วยได้
- ระบบข้อ เกิดปวดข้อ และมีข้ออักเสบได้ ร้อยละ 74-78 ในเด็กโรคนี้ภาวะข้ออักเสบ(artritis) มักเป็นชั่วคราว เปลี่ยนข้อที่ปวดได้ ไม่ค่อยเกิดการเสียรูปของข้อ ตำแหน่งข้อที่พบบ่อยมักเป็นที่ ข้อเข่า ข้อเท้าเป็นอาการแรกที่พบในโรคนี้ประมาณร้อยละ 15 อาจเกิดก่อนผื่นได้ 1-2 วัน จึงทำให้ในเด็กเล็กบางรายไม่ยอมเดิน
- ไต อาการทางด้านนี้มักไม่รุนแรง พบประมาณร้อยละ 20-54 พบว่ามีปัสสาวะเป็นเลือด มีโปรตีนรั่วออกมาในปัสสาวะ อาการรุนแรงก็คือ ความดันโลหิตสูง และไตวาย
- อาการอื่นที่พบได้แต่ค่อนข้างน้อยก็คือ อาการทางระบบประสาท เช่น ปวดศีรษะ ชัก เดินเซ เป็นต้น
การรักษา
ข่าวดี!! แม้ว่าโรคฮีน็อคจะไม่สามารถป้องกันได้ และอาการอาจดูน่ากลัว แต่สามารถรักษาให้หายได้โรคหนึ่งในกลุ่มหลอดเลือดอักเสบ เพราะเป็นโรคที่สามารถพยากรณ์โรคได้ดี หากคุณพ่อคุณแม่เฝ้าระวัง สงสัยให้รีบพามาพบแพทย์ ตรวจวินิจฉัยได้เร็วจะยิ่งดีต่อการรักษา โดยแนวทางการรักษาที่พบได้ เป็นดังนี้
- รักษาตามอาการ เช่น ให้ยาแก้ปวดข้อ ยาลดกรด ให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ เป็นการรักษาหลักในโรคนี้ การรักษาอื่นๆ ขึ้นอยู่กับอาการที่เป็นที่ระบบใดของร่างกาย
- ในเด็กที่มีอาการระบบทางเดินอาหาร ปวดท้องมากนี้ ควรนอนโรงพยาบาลเพื่อดูอาการแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น อาจพิจารณาให้ยากดภูมิคุ้มกันหรือยา Steroid
- ควรเฝ้าดู ความดันโลหิตและไตวาย พิจารณาให้ยาลดความดันโลหิต ถ้ามีความดันโลหิตสูงและอาจให้ steroid ในผู้ป่วยที่มีอาการไตอักเสบ
- กรณีที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกันหรือ steroid จำเป็นต้องได้รับยาไปสักระยะแล้วค่อย ๆ ลดขนาดยาลง ดังนั้น ควรมาพบแพทย์ตามนัด ไม่ควรหยุดยาเอง
ข้อมูลอ้างอิงจาก รพ.เด็กสินแพทย์
คลิปรายการ “มีผื่น ปวดขา ถ่ายเหลวเฝ้าระวัง “โรคฮีน็อค” พบบ่อยในเด็ก : พบหมอรามา ช่วง Big Story”
ขอขอบคุณคลิปรายการจาก www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel
สิ่งสำคัญที่สุดในการเฝ้าระวังการเกิดโรคฮีน็อค คือ การสังเกต และหากสงสัยให้รีบพาลูกไปพบแพทย์ เพื่อการตรวจหาโรคได้ทันก่อนอาการหนัก เพราะอย่างที่คุณหมอได้กล่าวแม้จะเป็นโรคที่มีอาการน่ากลัว และอาจพัฒนาไปกระทบต่อระบบร่างกายส่วนอื่นหากเป็นหนัก แต่หากคุณพ่อคุณแม่สามารถพบ และรักษาได้ทันท่วงทีตั้งแต่แรก ๆ ก็จะลดความเสี่ยงต่อการเสี่ยงชีวิต ลดอาการเจ็บปวดให้น้อยลง และสามารถรักษาให้หายขาดได้อีกด้วย จึงขอแนะนำให้ศึกษาเกี่ยวกับโรค และหมั่นสังเกตอาการของลูกน้อยอยู่เสมอ
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่