ทำไมโรคนี้ถึงอันตราย? ไวรัสตับอักเสบ มีกี่ชนิด เกิดจากอะไร ติดต่อทางไหน อันตรายถึงชีวิตหรือไม่
ไวรัสตับอักเสบ มีกี่ชนิด
หลายคนคงเคยได้ยินเรื่องเชื้อไวรัสตับอักเสบ แต่อาจรู้ไม่เท่าทันถึงอันตรายของไวรัสตับอักเสบ! จากสถานการณ์โรคไวรัสตับอักเสบในประเทศไทย พบว่ามีจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง ประมาณ 2.2–3 ล้านคน โดยพบมากในคนที่เกิดก่อนปี พ.ศ.2535 จึงพบการการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังกับคนที่อายุ 30 ปีขึ้นไป เนื่องจากภายหลังได้มีการบรรจุวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี ในแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคด้วยวัคซีนของประเทศ ทำให้โรคนี้ไม่ค่อยพบในคนที่เกิดหลังปี พ.ศ.2535 ส่วนผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ประมาณ 7.5 แสนคน พบมากในผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ใช้สารเสพติดชนิดฉีด จะเห็นได้ว่าสองสายพันธุ์ที่พบบ่อยในเมืองไทย ได้แก่ ไวรัสตับอักเสบบีและไวรัสตับอักเสบซี
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จึงได้เน้นย้ำให้ประชาชนระมัดระวังการใช้ชีวิตและดูแลสุขภาพให้ดี เพราะการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบถือเป็นภัยเงียบที่เป็นปัญหาสำคัญในประเทศไทย เพราะเป็นโรคที่ถ่ายทอดเชื้อจากคนหนึ่งสู่อีกคนหนึ่งได้ ทั้งยังเป็นสาเหตุของภาวะตับอักเสบ ตับแข็ง และมะเร็งตับ แต่นอกจากไวรัสตับอักเสบบีและไวรัสตับอักเสบซี ก็ยังมีไวรัสตับอักเสบชนิดอื่น ๆ ที่พบได้ ทั้งยังเป็นอันตรายต่อร่างกาย จนเรียกได้ว่าเป็นภัยเงียบด้านสุขภาพที่สำคัญ เป็นสาเหตุให้เกิดมะเร็งตับได้
สำหรับภาวะตับอักเสบที่เกิดขึ้นกับร่างกาย จะเกิดเป็นภาวะอักเสบจากการทำลายเนื้อเยื่อ จนการทำหน้าที่ต่าง ๆ ของตับนั้นผิดปกติ และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนเป็นโรคร้ายแรงอย่าง โรคตับแข็งและโรคมะเร็งตับ
ชนิดของไวรัสตับอักเสบ
ไวรัสตับอักเสบมีทั้งหมด 5 ชนิด ได้แก่ ไวรัสตับอักเสบเอ ไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี ไวรัสตับอักเสบดี และไวรัสตับอักเสบอี โดยแบ่งออกการออกได้เป็น 2 ระยะ โรคตับอักเสบเฉียบพลันและโรคตับอักเสบเรื้อรัง
โรคตับอักเสบเฉียบพลันมีอาการดังนี้
- ตัวเหลือง
- ตาเหลือง
- มีไข้
- ปวดท้องบริเวณใต้ชายโครงขวา
- เซลล์ตับถูกทำลาย
ส่วนโรคตับอักเสบบีเรื้อรัง จะมีอาการนานเกินกว่า 6 เดือน โดยแบ่งได้อีกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ ชนิดตับอักเสบเรื้อรังไม่รุนแรง (Chronic Persistent) แบบค่อยเป็นค่อยไป ชนิดตับอักเสบเรื้อรังแบบรุนแรง (Chronic Active Hepatitis) เป็นอาการอักเสบที่เกิดจากตับถูกทำลายไปมากและเกิดอาการตับแข็ง
อันตรายของผู้ที่เป็นโรคตับอักเสบเรื้อรัง ผู้ป่วยมักไม่มีอาการ แต่เชื้อไวรัสจะทำลายตับไปเรื่อย ๆ จนเกิดอาการตับแข็ง และกลายเป็นมะเร็งตับในที่สุด
ความแตกต่างของไวรัสตับอักเสบแต่ละสายพันธุ์
A ไวรัสตับอักเสบชนิดเอ
สาเหตุของการติดเชื้อชนิดเอ เกิดจากการรับประทานอาหารปนเปื้อนเชื้อ ทั้งจากผักและผลไม้ รวมถึงน้ำดื่ม มักเกิดการระบาดในแหล่งชุมชน เช่น โรงเรียนและหอพัก โดยมีระยะฟักตัวที่ 2-6 สัปดาห์ โดยเฉลี่ย 4 สัปดาห์หลังรับเชื้อ สำหรับอาการที่แสดงของสายพันธุ์นี้ ผู้ใหญ่จะมีอาการชัดเจนของตับอักเสบเฉียบพลัน พบเชื้อออกมากับอุจจาระได้ตั้งแต่ก่อนมีอาการ โดยผู้ป่วยมักมีอาการไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร อาเจียน และดีซ่าน
สายพันธุ์เอ เมื่อเป็นแล้วมักจะหายและกลับมาเป็นปกติได้ ไม่เป็นเรื้อรัง ทำให้ไม่ค่อยพบผู้เสียชีวิต ทั้งยังไม่เป็นพาหะของโรคอีกด้วย โดยร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันหลังจากฟื้นตัว
B ไวรัสตับอักเสบชนิดบี
พบว่าสายพันธุ์นี้มีคนเป็นพาหะได้มาก ในเมืองไทยมีราว ๆ 5 ล้านคนที่มีเชื้อในร่างกาย พบได้ในเลือด น้ำเหลือง สารคัดหลั่ง เช่น น้ำตา น้ำนม น้ำลาย จึงมีโอกาสแพร่เชื้อได้หลายทาง เช่น
- ติดต่อผ่านทางเพศสัมพันธ์จากผู้เป็นพาหะ เพราะเชื้ออยู่ในน้ำอสุจิและน้ำในช่องคลอด
- การได้รับเลือดและน้ำเหลืองของผู้ที่เป็นพาหะ ก็ทำให้ติดต่อกันได้ พบมากในการใช้เข็มฉีดยาเสพติดเข้าเส้นร่วมกัน การเจาะหู ฝังเข็ม ที่ไม่สะอาด หรือแม้แต่การใช้แปรงสีฟันร่วมกัน
- หากเกิดบาดแผลหรือมีผิวหนังถลอก ก็เสี่ยงต่อการติดเชื้อเช่นกัน
- ถ้าสัมผัสอย่างใกล้ชิดกับผู้เป็นพาหะก็จะเพิ่มความเสี่ยง โดยเฉพาะสมาชิกในครอบครัว หรืออยู่ในโรงเรียน
- คนที่ตั้งครรภ์ หากติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี อาจทำให้ทารกคลอดก่อนกำหนด เสี่ยงต่อการตกเลือดหลังคลอด ตัวทารกอาจมีน้ำหนักตัวน้อย และถ้าแม่มีเชื้อไวรัสปริมาณสูง ก็จะมีความเสี่ยงว่าทารกจะติดเชื้อจากแม่ได้ แม้ว่าแม่จะเป็นพาหะ โดยติดเชื้อได้จากการคลอดลูก และการเลี้ยงดู
ร้อยละ 90 ของผู้ป่วยตับอักเสบเฉียบพลันจากไวรัสนี้จะหายเป็นปกติที่เหลือเป็นพาหะของเชื้อ แต่ผู้ที่เป็นพาหะมักไม่แสดงอาการ บางคนอาจป่วยเป็นตับอักเสบเรื้อรัง ตับแข็ง มะเร็งตับได้ โดยพาหะมีโอกาสเสี่ยงของมะเร็งตับสูงกว่าคนทั่วไปถึง 223 เท่า
C ไวรัสตับอักเสบชนิด ซี
ชื่อเดิมคือ ไวรัสตับอักเสบชนิด ไม่ใช่เอ ไม่ใช่บี โดยไวรัสตับอักเสบชนิด ซี มักเกิดภายหลังการได้รับเลือด จึงพบมากในผู้ที่ใช้สารเสพติด ด้วยการใช้เข็มฉีดยาเพื่อฉีดเข้าเส้นร่วมกัน ทั้งยังอาจติดเชื้อได้ผ่านทางเพศสัมพันธ์
ไวรัสตับอักเสบชนิด ซี จะทำให้เกิดโรคตับอักเสบเฉียบพลัน และยังทำให้เกิดโรคตับอักเสบเรื้อรัง ทั้งยังเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับได้เช่นเดียวกับไวรัสตับอักเสบชนิดบี
D ไวรัสตับอักเสบชนิด ดี
เนื่องจากเป็นไวรัสที่ไม่สมบูรณ์จึงอยู่ร่วมกับไวรัสตับอักเสบ บี พบการติดต่อเช่นเดียวกับไวรัสตับอักเสบชนิด ซี คือกลุ่มผู้ติดยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้นที่มีเชื้อไวรัส บี กลุ่มเสี่ยงจึงเป็นผู้ที่เป็นไวรัสตับอักเสบ บี ผู้ป่วยมักมีอาการตับอักเสบเฉียบพลัน ส่วนผู้ที่เป็นโรคตับเรื้อรังรุนแรงจะเสี่ยงเสียชีวิต
E ไวรัสตับอักเสบชนิด อี
การระบาดมักเกิดในบางประเทศ เช่น อินเดีย กัมพูชา แพร่โดยการกิน เช่นเดียวกับไวรัสตับอักเสบ เอ และอาจเกิดจากการกินอาหารปรุงไม่สุก เช่น เนื้อหมูและสัตว์ปีก โดยมักมีอาการตาเหลือง ตัวเหลือง และอ่อนเพลียร่วมด้วย
วิธีป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ
- ดูแลสุขภาพอนามัยให้ดี หมั่นล้างมือให้สะอาดก่อนและหลังรับประทานอาหาร ก่อนและหลังเข้าห้องน้ำ นอกจากจะป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบได้แล้ว ยังช่วยป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้อีกด้วย
- เลือกรับประทานอาหารที่ปรุงสุก สด สะอาด ถูกหลักอนามัย
- กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ในปริมาณที่เหมาะสม ดื่มน้ำสะอาดบ่อย ๆ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายเป็นประจำ
- ไม่ใช้ของใช้ร่วมกับผู้อื่น ไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด
- ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง หรือพาคู่รักไปตรวจโรคเป็นประจำ
- ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีตั้งแต่วัยทารกแรกคลอด โดยเฉพาะทารกที่มีแม่เป็นพาหะ กลุ่มเด็กก็ต้องฉีดเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ส่วนเด็กโตหรือผู้ใหญ่อาจเคยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ต้องตรวจเลือดเพื่อหาภูมิคุ้มเคยต่อไวรัส บี (HBc Ab) ถ้าผลตรวจเป็นลบ ควรฉีดวัคซีนป้องกันให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกัน
- การฉีดไวรัสตับอักเสบเอ ฉีดได้เมื่อเด็กมีอายุ 1 ปีขึ้นไป
ไวรัสตับอักเสบแต่ละชนิด ล้วนแล้วแต่ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย หากพบความผิดปกติของร่างกายเพียงเล็กน้อย ก็ควรไปตรวจร่างกายกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อทำการรักษาอย่างทันท่วงที
อ้างอิงข้อมูล : ddc.moph.go.th, vibhavadi.com และ facebook.com/skrhos
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม