โรคเฮอร์แปงไจน่า โรคระบาดที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการคล้ายกับโรคมือ เท้า ปาก มักเกิดกับเด็กเล็ก มีวิธีป้องกันอย่างไร พ่อแม่ต้องรู้ภาวะแทรกซ้อนจากโรคอันตราย!!
โรคเฮอร์แปงไจน่า ในเด็กไม่รุนแรงแต่ต้องระวังภาวะแทรกซ้อน!!
ในบรรดาโรคระบาดที่น่ากลัวสำหรับเด็ก โรคเฮอร์แปงไจน่า อาจเป็นชื่อที่ไม่คุ้นหูสำหรับใครหลายคน แต่ว่าโรคนี้อยู่ใกล้ตัวมากกว่าที่คิด โดยเฉพาะกับเด็กอายุน้อยที่อยู่รวมกันในสถานที่ต่าง ๆ จำนวนมาก คุณพ่อคุณแม่ควรทำความรู้จักกับโรคนี้ไว้เพื่อเป็นแนวทางในการดูแลสุขภาพ และเพื่อป้องกันโรคให้ลูกรักกันนะคะ
รู้จักโรคเฮอร์แปงไจน่า รู้ไว้ไม่ประมาท

โรคเฮอร์แปงไจน่า (Herpangina) เป็นโรคที่ติดเชื้อจากไวรัสชนิดเดียวกันกับโรคมือ เท้า ปาก ซึ่งเป็นกลุ่มของเอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) แต่มีอาการที่แตกต่างกันคือจะมีแผลเฉพาะที่ปากเท่านั้น เป็นโรคที่พบได้ทุกช่วงอายุ แต่จะพบมากในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โรคนี้จะติดต่อกันได้ในสถานที่ที่มีเด็ก ๆ อยู่รวมกันจำนวนมาก เช่น โรงเรียน สถานรับเลี้ยงเด็ก เป็นต้น
ขอขอบคุณคลิปดี ๆ จาก RAMA CHANNEL
อ่านเพิ่มเติม >> การติดเชื้อ เอนเทอโรไวรัส 71 โรคระบาดสายพันธุ์รุนแรง
อ่านเพิ่มเติม >>ทำไมเด็ก ๆ ถึงชอบเป็น โรคมือเท้าปาก
โรคมือ เท้า ปาก กับ โรคเฮอร์แปงไจน่า แตกต่างกันอย่างไร?
แม้ว่าโรคมือ เท้า ปาก และ โรคเฮอร์แปงไจน่า จะเกิดจากการติดเชื้อไวรัสกลุ่มเดียวกัน แต่อาการแตกต่างกัน คือ โรค มือ เท้า ปาก จะมีไข้ มีผื่น ตุ่มน้้าใส หรือเม็ด แดง ๆ ในปาก ฝ่ามือ ฝ่าเท้า บางรายอาจมีอาการ อาเจียน ถ่ายเหลวรุนแรง ร่างกายขาดน้้า ปอดบวมน้้า หอบเหนื่อย ซึม ชัก เกร็ง ช็อกเสียชีวิต
ส่วนโรคเฮอร์แปงไจน่า จะไม่พบผื่นบริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้า จะสังเกตอาการของโรคนี้ได้ค่อนข้างลำบากในช่วงแรก ต่อเมื่อเริ่มมีผื่นขึ้นจึงจะสามารถสังเกตอาการได้ บางรายอาจพบเพียงผื่น และแผลตื้น ๆ กราย ๆ ในช่องปาก เท่านั้น
เฝ้าระวังอาการแบบไหนคือเฮอร์แปงไจน่า
อาการของโรคจะแตกต่างกันไปในเด็กแต่ละคน ที่พบได้คือ
- มีไข้แบบเฉียบพลัน ได้รับยาลดไข้แล้วไม่ดีขึ้น และอาจมีไข้สูง 40 องศา เด็กบางคนอาจมีอาการชักจากไข้สูง

- กลืนลำบาก ทำให้เบื่ออาหาร น้ำลายไหล
- อาเจียน
- อาจพบมีภาวะร่างกายขาดน้ำ เช่น ริมฝีปากแห้ง ตาโหล ร้องไห้ไม่มีน้ำตา ปัสสาวะสีเข้ม ปัสสาวะน้อย
- พบแผลในปาก เป็นแผลเล็ก ๆ หลายแผลบริเวณเพดานอ่อน ต่อมทอนซิล ผนังคอด้านหลัง ลักษณะของแผลที่พบจะเกิดใน 2 วันหลังการติดเชื้อ โดยแผลมีขนาด 2-4 มิลลิเมตร สีขาวหรือเทาอ่อนมีขอบแดง ซึ่งส่วนใหญ่แผลหายภายใน 7 วัน
แพทย์จะวินิจฉัยจากลักษณะรอยแผลในปาก โดยเฮอแปงไจน่าจะมีลักษณะเฉพาะแตกต่างจากแผลจากโรคอื่น ๆ ทั้งนี้แพทย์จะซักประวัติอาการป่วยเพิ่มเติมอย่างละเอียด
การติดต่อของโรคเฮอร์แปงไจน่า
การติดต่อเกิดขึ้นได้จากการสัมผัส นอกจากนี้ยังสามารถแพร่เชื้อได้ง่ายผ่านทางน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ อุจจาระ หรือการแพร่เชื้อที่ปนเปื้อนมาในน้ำ อาหาร ภาชนะ มือ ของเล่น โต๊ะเก้าอี้ จึงมักพบในโรงเรียนหรือสถานรับเลี้ยงเด็ก
โรคเฮอร์แปงไจน่าอันตรายแค่ไหน?
โดยทั่วไปแล้วโรคเฮอร์แปงไจน่ามักจะมีอาการไม่รุนแรง ยกเว้นไข้สูง แต่ก็ต้องระวังภาวะแทรกซ้อนที่สามารถพบได้จากโรคนี้ เช่น การอักเสบของก้านสมอง กล้ามเนื้ออ่อนแรง และกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ อย่างไรก็ตามภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวพบได้น้อย
ตื่นตัวไม่ตื่นตูม

สำหรับไวรัสเอนเทอโร ที่เป็นไวรัสก่อโรคเฮอร์แปงไจน่า พบว่า ในช่วง 12 ปีที่ผ่านมาศูนย์ปฏิบัติการโรคทางสมอง คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ พบว่า ไวรัสเอนเทอโรเป็นต้นเหตุของสมอง และเยื่อหุ้มสมองอักเสบในเด็กอายุน้อยกว่า 14 ปี 34 ราย และผู้ใหญ่ 4 ราย จากจำนวนทั้งหมด 930 ราย
ทั้งนี้ ในผู้ใหญ่ พบว่าอาการไม่มากเป็นเพียงเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และหายเองภายในเวลา 2-3 วัน และยังพบอีกว่า ทารกแรกคลอดเมื่อกลับบ้านก็มีโอกาสติดเชื้อได้ทันที และมีจำนวน 36% ในเด็กอายุน้อยกว่า 3 เดือน ที่มีการติดเชื้อรุนแรงและสมองอักเสบ ที่เกิดจากเชื้อเอนเทอโร
“การที่ผู้ใหญ่พบการติดเชื้อน้อย น่าจะอธิบายจากการที่ได้สัมผัสเชื้อ ต่อเนื่องเป็นเวลานานจนมีภูมิต้านทาน ดังนั้น…ถ้ามีการติดเชื้อและมีอาการรุนแรงในวงกว้างของเชื้อเอนเทอโรในผู้ใหญ่ จำเป็นต้องมีการหาสาเหตุอย่างละเอียด…เมืองไทยก็มีสายพันธุ์ต่าง ๆ ของเชื้อเอนเทอโร 71 เกือบครบถ้วนไม่แตกต่างจากประเทศเพื่อนบ้านนัก”
โดยมีทั้ง C1 C2 และ C4 รวมทั้ง B5 แต่ก็ไม่มีโรครุนแรงดังเช่นประเทศต่างๆ เป็นเครื่องแสดงว่า ชนิดของสายพันธุ์มิได้เป็นตัวกำหนดความรุนแรงเพียงอย่างเดียว ยังขึ้นกับปัจจัยในคนอีกด้วย
สิ่งสำคัญที่ควรท่องจำกันให้ขึ้นใจนั่นก็คือ ข้อควรปฏิบัติในการป้องกันตนเอง โดยมีหัวใจสำคัญอยู่ที่การรักษาสุขอนามัยอย่างเคร่งครัด “กินร้อน…ช้อนกลาง และล้างมือด้วยน้ำสบู่บ่อย ๆ ไอจามปิดปาก ผู้ใดมีอาการเจ็บป่วยต้องแยกตัวไม่แพร่เชื้อไปสู่คนอื่น”
การทำความสะอาดกำจัดเชื้อก่อโรค
ถึงแม้เจลล้างมือ แอลกอฮอล์ 70% จะสามารถฆ่าเชื้อโรคได้มากมายหลายชนิด แต่ไม่ได้ผลในการฆ่าเชื้อเอนเทอโรไวรัส รวมถึงเชื้อก่อโรคมือเท้าปากที่กำลังเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขวันนี้ ดังนั้น แม้สะดวกแต่ไม่ได้ผลในการกำจัดเชื้อวิธีทำความสะอาดที่เหมาะสม คือ การล้างมือด้วยน้ำ และสบู่ เพื่อชะล้างเชื้อจากผิวหนัง
ส่วนการฆ่าเชื้อที่พื้น และอุปกรณ์จะต้องใช้ Sodium hypochlorite 0.5% เช่น ไฮเตอร์ Clorox ในกรณีที่เป็นผง ให้ใช้ขนาด 5 กรัม กับน้ำ 950 ซีซี เก็บไว้ใช้ได้นาน 7 วัน ยกเว้นถ้าเปลี่ยนสีแสดงว่าหมดอายุต้องทิ้ง เตรียมใหม่ น้ำยานี้ใช้ทำความสะอาดพื้นผิว สิ่งของ เครื่องใช้ ชุบน้ำยาชุ่มเช็ดบนพื้นผิวที่ต้องการ หรือราดที่พื้น ทิ้งไว้ 10 นาที แล้วจึงล้างหรือเช็ดออก
การนำอุปกรณ์ที่ทำความสะอาดแล้วตากแดดให้แห้ง จะช่วยเสริมการกำจัดเชื้อได้ดีขึ้น ส่วนน้ำยาฆ่าเชื้ออื่นที่ใช้ไม่ได้คือ แอลกอฮอล์ 70% ไลซอล อีเทอร์ คลอโรฟอร์ม ไอโซโปรพานอล (isopropyl alcohol) ความร้อนต่ำกว่า 50 องศาเซลเซียส สำหรับอาหารควรอุ่นให้เดือดหรือร้อนจัดอย่างน้อย 10 นาที

ดูแลอย่างไร หากลูกป่วยเป็นเฮอร์แปงไจน่า
โรคนี้มีอาการไม่รุนแรง สามารถหายเองได้ภายใน 7-10 วัน ด้วยการรักษาตามอาการ ดังนี้
- ให้ยาลดไข้ พาราเซตามอล หรือ ให้ไอบูโปรเฟน ในกรณีเด็กมีไข้สูง โดยต้องมีการเช็ดตัวร่วมด้วยเสมอจนกว่าไข้จะลดลง
- ให้เด็ก จิบ ดื่มน้ำเย็นบ่อย ๆ หรือดื่มนมเย็นที่มีรสไม่หวานมาก
- กินน้ำแข็ง หรือไอศครีมที่มีรสชาติไม่เปรี้ยวและไม่หวานมาก
- ให้อาหารจืด อ่อน ย่อยง่าย (ไม่ควรให้น้ำผลไม้หรืออาหารรสเปรี้ยวมาก)
- ในกรณีที่เด็กไม่ยอมรับประทานอาหาร แพทย์อาจใช้ยาที่มีส่วนผสมของยาชา
แต่หากเด็กมีไข้สูง ได้ยาลดไข้แล้วไม่ดีขึ้น เด็กมีอาการชักจากไข้สูง ไม่ยอมดื่มน้ำ นม หรือรับประทานอาหารได้น้อยมาก มีภาวะขาดน้ำที่เห็นได้ชัด เช่น ปัสสาวะน้อยและมีสีเข้มมาก ริมฝีปากแห้ง ตาโหลลึก ซึมผิดสังเกต หรือแสดงอาการกระสับกระส่าย ผู้ปกครองควรรีบพาเด็กมาพบแพทย์โดยเร็ว
การป้องกันโรคเฮอร์แปงไจน่า
เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนในการป้องกันโรคนี้ คุณพ่อคุณแม่จะต้องดูแลเรื่องสุขอนามัยให้ลูกอยู่เสมอ ดังนี้

- หมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ โดยเฉพาะก่อนหลังรับประทานอาหาร รวมถึงก่อนปรุงอาหาร
- ใช้กระดาษชำระหรือผ้าเช็ดหน้าปิดเวลาไอจาม หรือใช้ท้องแขนปิดปาก
- ทิ้งกระดาษชำระที่ใช้แล้วลงถังขยะ และล้างมือหลังจากใช้ห้องน้ำทุกครั้ง
- ผู้ที่ดูแลเด็กที่ป่วยเป็นโรคนี้ ต้องล้างมือก่อนและหลังการเปลี่ยนผ้าอ้อม ชุดชั้นในเด็ก หรือหลังการสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ อุจจาระของเด็ก
- หมั่นทำความสะอาด พื้น โต๊ะ เก้าอี้ ของเล่น และวัสดุอื่นที่เด็กชอบหยิบจับ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อบ่อย ๆ
- หากเด็กป่วยเป็นโรคเฮอร์แปงไจน่า ต้องหยุดเรียน 1 สัปดาห์ เพื่อไม่ให้แพร่เชื้อ
เด็กเล็กภูมิคุ้มกันเขายังไม่มากพอ ดังนั้นพ่อแม่จึงควรดูแลลูกรักอย่างใกล้ชิด หมั่นรักษาความสะอาด ดูแลสุขอนามัย โดยเฉพาะในช่วงนี้ ที่เป็นช่วงเปิดเทอมที่เด็ก ๆ ต้องอยู่รวมกลุ่มกันในโรงเรียน เมื่อลูกไม่สบาย พ่อแม่ก็อย่าประมาท เฝ้าระวังอย่าให้ลูกอาการหนัก เมื่อติดเชื้อ แม้โอกาสที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนจะมีน้อยก็ตาม
ขอบคุณข้อมูลจาก
โรงพยาบาลเปาโล , รายการพบหมอรามา , โรงพยาบาลสมิติเวช , www.thairath.co.th
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่