ลูกไม่ยอมกินนม ไม่อยากกินอาหารเสริม สัญญาณโรคในช่องปากบางอย่างที่สำคัญ เริมในช่องปาก
เริมในช่องปาก โรคยอดฮิตของเด็กเล็ก
ความเจ็บป่วยของทารกหรือเด็กเล็ก ๆ มักจะส่งสัญญาณเป็นอาการง่าย ๆ เช่น การไม่อยากกินนม หรือร้องงอแง เพราะเจ้าตัวน้อยยังพูดไม่ได้ จึงไม่อาจสื่อสารความเจ็บป่วยออกมาได้ คนเป็นพ่อเป็นแม่จึงต้องสังเกตลูกในทุก ๆ วัน เช่นเดียวกับคุณแม่ท่านนี้ ที่ลูกน้อยในวัย 11 เดือน ส่งสัญญาณผิดปกติด้วยการร้องไห้งอแงมากเป็นพิเศษ ไม่ยอมกินนม ไม่ค่อยกินข้าว แม่จึงเริ่มสงสัยว่า ลูกเป็นอะไรหรือเปล่า
อาการอื่น ๆ ก็ยังไม่ชัดเจน มีเพียงไข้ต่ำ ๆ ใน 2 วันแรก แต่คุณแม่รู้สึกไม่สบายใจจึงพาลูกไปหาหมอในวันที่ 3 หลังจากเริ่มงอแง คุณแม่เล่าว่า วันที่ 3 ที่แม่พาลูกไปหาหมอ ก็ได้รับการตรวจช่องปาก หมอจึงแจ้งว่าลูกเป็นเริม การรักษาคือต้องรับประทานยา 4 เวลา และทายาที่ช่องปาก
“คุณหมอให้ระวังมากขึ้นค่ะ เพราะเริมเกิดจากการติดต่อทางน้ำลาย หากผู้ปกครองท่านไหนที่มีแผลในปาก อย่าเคี้ยวอาหารให้เด็กทาน และหากลูกเป็นโรคนี้แล้ว ให้ดื่มน้ำเยอะ ๆ เพราะเริมเกิดจากการขาดน้ำค่ะ”
ส่วนสาเหตุของโรคนี้นั้นยังไม่ชัดเจน คุณแม่จึงฝากเรื่องนี้ให้ช่วยเตือนใจแม่ ๆ ทุกท่าน ต้องคอยสังเกตอาการของลูกอย่างใกล้ชิดในทุกวัน หากลูกไม่ยอมกินนม ไม่ยอมกินข้าว อาจเป็นสัญญาณว่าเจ้าตัวน้อยกำลังไม่สบายอยู่
เริมเกิดได้ภายในช่องปาก
เชื้อไวรัสเริม หรือเฮอร์ปีส์ซิมเพล็กซ์ (Herpes simplex virus – HSV) เป็นไวรัสต่างชนิดกับโรคงูสวัดและโรคอีสุกอีใส โดยมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด คือ ไวรัสเริมชนิดที่ 1 หรือ เอชเอสวี-1 (Herpes simplex virus 1 หรือ HSV-1) กับไวรัสเริมชนิดที่ 2 หรือ เอชเอสวี-2 (Herpes simplex virus 1 หรือ HSV-2) ซึ่งเริมในช่องปาก หรือ Herpetic gingivostomatitis พบได้บ่อยของการติดเชื้อไวรัสเริมชนิดที่ 1 ชนิดนี้มักเกิดอาการกำเริบที่ปากมากกว่าที่อวัยวะเพศ
เริมในช่องปากพบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ระยะฟักตัวของโรคประมาณ 2-3 วัน แต่บางคนอาจนานถึง 20 วัน ในการติดเชื้อครั้งแรก มักจะเป็นเริมในช่องปากชนิดเฉียบพลัน อาการสำคัญของเริมในช่องปากสำหรับเด็กเล็ก ได้แก่
- มีไข้
- ร้องกวน
- ไม่ยอมดูดนม
- ไม่กินอาหาร
- มีตุ่มน้ำพุขึ้นที่เยื่อบุของริมฝีปาก เหงือก ลิ้น และเพดานปาก
จากนั้นตุ่มพองจะแตกเป็นแผลตื้นสีเทาบนพื้นสีแดงขนาด 1-3 มิลลิเมตร มักมีอาการเหงือกบวมแดงร่วมด้วย บางครั้งอาจมีเลือดซึมและมีกลิ่นปาก เด็กอาจมีภาวะขาดน้ำเนื่องจากดื่มนมและน้ำได้น้อย คุณหมอมักตรวจพบต่อมน้ำเหลืองใต้คางโตและเจ็บ เด็ก ๆ จะอาการหนักใน 4-5 วันแรก แผลมักจะหายไปได้เองภายใน 10-14 วัน ส่วนเด็กโตและผู้ใหญ่จะมีอาการเจ็บคอในระยะแรก ตรวจพบหนองที่ผนังคอหอยหรือแผลบนทอนซิล จากนั้นจะพบแผลที่ลิ้น กระพุ้งแก้มและเหงือก พร้อมกับอาการไข้ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อย
ข้อควรระวังหากเป็นเริมภายในช่องปาก
อาการจะไม่หายขาด แต่เชื้อจะหลบซ่อนตัวอยู่ที่ปมประสาทของสมองคู่ที่ 5 (Trigeminal ganglion) เชื้ออาจแบ่งตัวเจริญเติบโตทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำ กลายเป็นเริมที่ริมฝีปาก (Herpes labialis/Fever blisters/Cold sores) เกิดเป็นตุ่มน้ำเล็ก ๆ พุขึ้นกลุ่ม แล้วแตกลายเป็นแผลตกสะเก็ด หรืออาจเป็นเริมที่ใบหน้าและจมูก
นอกจากนี้ ยังต้องระวัง เริมในช่องปากชนิดเป็นซ้ำ (Recurrent intraoral herpes simplex) เกิดแผลเปื่อยในช่องปาก มีแผลเดียวเกิดขึ้นที่เหงือกหรือที่เพดานแข็ง เริ่มจากตุ่มน้ำเล็ก ๆ แล้วแตกเป็นแผลเป็นสะเก็ดสีเหลืองปกคลุมอยู่บนพื้นสีแดง ลอกออกแล้วกลายเป็นแผลตื้นสีแดง
สำหรับเด็กเล็ก พ่อแม่ต้องคอยสังเกตอาการลูกให้ดี หากมีอาการผิดปกติต้องพาไปพบแพทย์ แต่สำหรับเด็กโตและผู้ใหญ่ ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ พยายามไม่เครียด ไม่อยู่กลางแจ้งหรือถูกแดดจัด ๆ อาการของเริมยังสามารถกลับมาได้ในช่วงมีประจำเดือน เป็นไข้หวัด หรือโรคอื่น ๆ เช่น มาลาเรีย ไข้กาฬหลังแอ่น สครับไทฟัส ทอนซิลอักเสบ ปอดอักเสบ รวมถึงการฟัน และผ่าตัดที่บริเวณใบหน้า ก็อาจมีผลทำให้กลับมาเป็นเริมซ้ำได้
อ้างอิงข้อมูล : mplusthailand
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม
ผื่นแพ้สัมผัส ลูกเป็นตุ่มแดง บวม คัน แพ้ไส้ในเบาะกันขอบเตียง