การรักษาโรคถุงน้ำในอัณฑะ
โรคถุงน้ำในอัณฑะ(Hydroceles) มักจะดีขึ้นและหายได้เองภายในอายุ 1 ปี และในผู้ใหญ่จะดีขึ้นเองภายในเวลา 6 เดือน โดยไม่ต้องรักษาใด ๆ แต่ในกรณีที่ไม่สามารถหายได้เอง สังเกตดูว่าถุงอัณฑะมีขนาดใหญ่มากหรือโตขึ้นเรื่อย ๆ จนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน หรือมีภาวะถุงน้ำในอัณฑะชนิดมีทางติดต่อกับช่องท้องจนอาจทำให้มีอาการของโรคไส้เลื่อน แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยบางรายเข้ารับการผ่าตัด โดยจะฉีดยาชา และผ่าบริเวณช่องท้องหรือถุงอัณฑะเพื่อระบายของเหลวออกจากถุงอัณฑะ จะเป็นการผ่าตัดขนาดเล็ก ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงสามารถกลับบ้านได้ภายในวันเดียวกันหลังการผ่าตัด แต่บางรายอาจจำเป็นต้องนอนที่โรงพยาบาลเป็นเวลา 2-3 วัน เนื่องจากต้องใส่ท่อระบายของเหลว รวมถึงการผ่าตัดในเด็กที่จำเป็นจะต้องใช้วิธีการดมยาสลบและพักฟื้นในโรงพยาบาลเป็นเวลา 1-2 วัน
ประสบการณ์จริง!! เมื่อลูกต้องผ่าตัดโรคถุงน้ำในอัณฑะ
ไม่แน่ใจ : ไข่ลูกไม่เท่ากัน ในบางที
เรื่องเริ่มจาก สังเกตเห็นว่าทำไมลูกชายอายุขวบกว่า ถึงชอบเอามือจับไข่เวลาเขานั่งยอง ๆ แต่ไม่ได้มีอาการเจ็บปวดใด ๆ เวลาอาบน้ำ เช็ดตัวให้ลูกก็สังเกตพบว่าไข่ของเขามีขนาดไม่เท่ากัน แต่พอเขานอนราบก็ไม่พบอาการดังกล่าว จึงเริ่มสังเกตละเอียด พบว่าจะเป็นเฉพาะตอนยืน หรือนั่งยอง ๆ ในช่วงแรกเราก็ไม่แน่ใจ คิดว่าเราคิดไปเองหรือเปล่า แบบที่เห็นคืออาการปกติหรือไม่ และคิดเข้าข้างตัวเองว่าเด็กขนาดนี้คงไม่มีอะไร บอกตามตรงไม่อยากให้ลูกต้องมีปัญหาอะไรเพราะเขายังเล็กมาก
อาการบวมมากขึ้น อยู่เฉยไม่ได้แล้ว!!
เมื่อรอเวลาผ่านไป และเก็บความกังวลตลอดมา จนลูกอายุใกล้ 2 ขวบ พบว่าอาการไข่บวมข้างเดียว ของลูกไม่ดีขึ้น ซ้ำร้ายยังบวมขึ้นจนเห็นได้ชัด เราจึงไม่รอช้า รีบพาเขาไปหาหมอ เพราะกลัวว่ายิ่งยื้อไปจะยิ่งเป็นอันตรายกับลูกหรือไม่ คุณพ่อของน้องก็บอกว่าอาการแบบนี้คงไม่ปกติแล้ว ประกอบกับทางบ้านมีญาติที่เคยเป็นโรคไส้เลื่อน จึงทำให้กลัวว่าลูกจะเป็นเช่นกัน
วันพบคุณหมอ!!
เมื่อคุณหมอได้ตรวจร่างกายของลูก ก็ได้วินิจฉัยว่า ลูกน่าจะเป็น โรคถุงน้ำอัณฑะ มากกว่าโรคไส้เลื่อน โดยคุณหมอได้ใช้ไฟฉายส่องไปที่ไข่ของลูกชายแล้วชี้ให้เห็นว่า แสงส่องผ่านมาจะเห็นเป็นน้ำ ไม่มีรอยของไส้เลื่อนที่หลุดออกมา คิดว่าลูกชายน่าจะมีช่องท้องที่ปิดไม่สนิท ทำให้น้ำจากช่องท้องไหลลงมาที่ถุงอัณฑะได้ จึงเป็นสาเหตุให้น้ำไหลกลับไปมาระหว่างช่องท้อง และถุงอัณฑะทำให้เราเห็นว่า บางครั้งก็บวม บางครั้งก็ยุบ
ต้องตัดสินใจ ผ่าตัดเด็ก 2 ขวบ เอาจริงหรือ!!
คุณหมอแนะนำว่า การรักษามี 2 แบบ คือ รอให้เขาโตแล้วรอดูว่าช่องว่างที่ไม่ปิดนั้น จะปิดตัวเองลงได้หรือไม่ แต่จะเสี่ยงกับการที่เขาจะมีโอกาสพัฒนาเป็นไส้เลื่อนต่อไปได้ กับการผ่าตัดปิดช่องท้องนั้น เด็กต้องดมยาสลบ คุณแม่เริ่มใจเสีย เด็กเล็กขนาดนี้ ต้องให้เขาเข้ารับการผ่าตัด และดมยาสลบ คำถามความกังวลต่าง ๆ นานา ผุดขึ้นมาในหัว ลูกจะเป็นอะไรไหม การผ่าตัดจะเป็นไปได้ด้วยดีหรือไม่ ลูกดมยาสลบแล้วจะฟื้นขึ้นมาหรือเปล่า จึงขอเวลาคุณหมอกลับมาตัดสินใจอีกสักหน่อย
โรคไส้เลื่อนในเด็ก และภาวะไส้เลื่อนขาหนีบติดคา!!
คุณแม่ลองกลับมาหาข้อมูลพบว่า อาการถุงน้ำในอัณฑะสามารถหายเองได้ก็จริง แต่สิ่งที่คุณหมอกังวลคือ ลูกอาจพัฒนาไปเป็นโรคไส้เลื่อน ซึ่งมีโอกาสสูง เนื่องจากมีประวัติญาติเคยเป็น จึงลองหาข้อมูลเกี่ยวกับโรคไส้เลื่อนในเด็ก พบคำแนะนำจากคุณหมอในเพจ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ซึ่งก็ตรงกับคำของคุณหมอเจ้าของไข้ที่ชี้แจงมาเช่นกัน
เมื่อบอกผู้ปกครองว่าควรจะผ่าตัด ผู้ปกครองมักจะอิดเอื้อนไม่อยากให้ผ่าตัดด้วยกลัวว่าเด็กจะมีอันตรายจากการดมยาสลบ และมีแนวโน้มที่ผู้ปกครองจะประวิงการผ่าตัดให้ทำผ่าตัดในเด็กที่โตกว่านี้ คุณหมอก็อยากจะเรียนว่าการผ่าตัดไส้เลื่อนในเด็กไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิดเลย การดมยาสลบในเด็กซึ่งไม่เคยมีโรคประจำตัวใดๆ มาก่อนมีความเสี่ยงต่ำมากๆ การผ่าตัดนี้ไม่ได้ผ่าตัดเข้าไปภายในช่องท้องเพียงแต่ผ่าตัดซ่อมแซมผนังหน้าท้องที่เป็นปัญหาเท่านั้น การผ่าตัดใช้เวลานาน 30 – 45 นาที และเมื่อเด็กฟื้นจากการดมยาสลบและตื่นได้ดี ทางโรงพยาบาลก็จะให้กลับบ้านได้เลยในวันเดียวกัน โดยไม่จำเป็นต้องนอนรับการรักษาในโรงพยาบาล
การประวิงเวลาของการผ่าตัดออกไปอาจจะเกิดภาวะไส้เลื่อนติดคาซึ่งเป็นอันตรายต่อเด็กได้ คำแนะนำของคุณหมอในการรักษาโรคนี้ก็คือควรได้รับการผ่าตัดรักษาทันทีที่ผู้ป่วยพร้อม โดยไม่ต้องคำนึงถึงขนาดร่างกายของผู้ป่วย การผ่าตัดไส้เลื่อนไม่ใช่เรื่องน่ากลัว
วันผ่าตัด !!
ตัดสินใจให้ลูกชายได้รับการผ่าตัดในใกล้วัย 2 ขวบ คุณหมอให้ทำการงดนม งดอาหาร และน้ำมาก่อนเข้ารับการผ่าตัด ซึ่งได้รับคิวช่วงเช้า ระหว่างพามาที่โรงพยาบาลน้องหลับอยู่ มาตื่นอีกทีก็ในห้องผ่าตัดเลย พร้อมดมยาสลบเสียแล้ว ซึ่งพอลูกชายตื่นมาเห็นห้องผ่าตัด ด้วยสถานที่ที่ไม่คุ้นตาจึงร้องไห้ไม่ยอมปล่อยคุณแม่ คุณหมอจึงให้ดมยาสลบบนอ้อมกอดแม่เลย ตอนนั้นสงสารลูกจับใจ เมื่อยาสลบไหลผ่านมา ไม่นานลูกก็เหมือนคนหลับไป จึงเริ่มขั้นตอนการผ่าตัด ซึ่งแม่ต้องออกมารอด้านนอกห้อง ช่วงนั้นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใด ๆ บนสากลโลก ถูกหยิบยกออกมาวิงวอนร้องขอให้ลูกปลอดภัยทั้งหมด แม้ว่าจะวางใจในฝีมือคุณหมอ แต่คุณหมอขา!! โปรดเข้าใจหัวอกแม่สักนิด จะให้ไม่ห่วง กังวลคงยาก
การผ่าตัดเรียบร้อยด้วยดี!!
เวลาแม้ผ่านไปไม่นาน แต่สำหรับคนเป็นแม่ช่างยาวนาน ชะเง้อคอมองเข้าไปหน้าห้องผ่าตัดแม้จะไม่เห็นอะไรก็ตามที จนเมื่อคุณหมออนุญาตให้เข้าไปได้ที่ห้องพักฟื้น แม่นี้พุ่งตัวเลยจ้า เห็นลูกกำลังนอนหลับอยู่ คุณหมอแจ้งว่าเดี๋ยวหมดฤทธิ์ยาสลบก็ฟื้น การผ่าตัดเป็นไปได้ด้วยดี เฝ้าจนกระทั่งลูกฟื้นขึ้นมา คำแรกที่ลูกพูด คือ กลับบ้าน ๆ น้ำตาแม่จะไหลเลยจ้า ลูกดูไม่เจ็บปวด เรียกได้ว่าแทบไม่มีอาการใด ๆ รอยแผลที่ผ่าตัดก็เล็กนิดเดียวแทบมองไม่เห็น แต่ที่จะเรียกกลับบ้านเพราะไม่คุ้นสถานที่ คุณหมอให้ดูอาการอีกสักพัก แล้วจึงอนุญาตให้กลับบ้านได้ในวันนั้นเลย ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล
อยากบอกว่า อย่ากลัวการผ่าตัด!!
ลูกชายหลังจากกลับบ้านก็ยังคงเล่นได้ตามปกติ ไม่มีอะไร แค่ถึงเวลานัดก็ไปให้คุณหมอเช็กแผล และตรวจความเรียบร้อยอีกครั้ง แต่ที่ สำคัญ ไม่เห็นลูกคอยจับไข่ของเขา หรือตีหว่างขา พฤติกรรมแบบนี้ไม่มีให้เห็นอีกเลยหลังจากผ่าตัดไป จึงอยากบอกคุณพ่อคุณแม่อย่างที่คุณหมอได้แนะนำไว้ว่า การผ่าตัดเด็กไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด เด็กฟื้นตัวไวมากกว่าผู้ใหญ่เสียอีกด้วย ลูกแทบไม่มีอาการใด ๆ เลย แผลก็หายไว จนตอนนี้แทบจะไม่เห็นรอยผ่าเลย การประวิงเวลาไม่ให้ลูกได้รับการรักษาจะอันตรายต่อตัวเด็กมากกว่าเสียอีก หวังว่าประสบการณ์ของตัวเองนี้จะช่วยในการตัดสินใจของพ่อแม่ที่กำลังประสบปัญหาเดียวกันนี้ได้
ข้อมูลอ้างอิงจาก www.jia1669.com /www.petcharavejhospital.com/www.pobpad.com/
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่