ไทรอยด์เป็นพิษ ลูกเป็นแต่เล็ก ส่งผลต่อพัฒนาการล่าช้า - Amarin Baby & Kids
ไทรอยด์เป็นพิษ

ไทรอยด์เป็นพิษ ลูกเป็นแต่เล็ก ส่งผลต่อพัฒนาการล่าช้า

Alternative Textaccount_circle
event
ไทรอยด์เป็นพิษ
ไทรอยด์เป็นพิษ

ภาวะ ไทรอยด์เป็นพิษ เป็นภาวะที่พบได้บ่อยมาก สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกวัย รวมทั้งเด็กและทารก และมีโอกาสเป็นในเด็กผู้หญิงมากกว่าเด็กผู้ชาย ไทรอยด์เป็นพิษในเด็ก หากเป็นขั้นรุนแรงอาจจะส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กได้

ไทรอยด์เป็นพิษ ในเด็ก ลูกเป็นแต่เล็ก ส่งผลต่อพัฒนาการล่าช้า

ต่อมไทรอยด์นั้นเป็นต่อมไร้ท่อที่อยู่บริเวณลำคอด้านหน้าใต้ลูกกระเดือกและติดกับหลอดลม มีลักษณะรูปร่างคล้ายผีเสื้อแบ่งเป็นซีกซ้ายและซีกขวาที่แผ่ออกทางด้านข้าง ซึ่งทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ที่ใช้ในการทำงานของร่างกาย และฮอร์โมนไทรอยด์มีหน้าที่กระตุ้นให้เซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายทำงาน และมีบทบาทที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตของกระดูก การเพิ่มความสูงตามวัย พัฒนาการของสมอง และกล้ามเนื้อระดับสติปัญญา ทั้งยังควบคุมการเผาผลาญของเซลล์ต่าง ๆ ควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย ระบบการทำงานของหัวใจ ระบบการขับถ่าย และระดับไขมันในเลือด เป็นต้น ซึ่งถ้าหากเกิดความผิดปกติจนทำให้ต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป จนทำให้ฮอร์โมนที่ถูกผลิตออกมามีปริมาณมากเกินความต้องการของร่ายกาย จนกลายเป็นพิษและส่งผลต่อร่างกายในด้านต่าง ๆ หรือเกิดภาวะ “ไทรอยด์เป็นพิษ” ขึ้นนั้นเอง

“โรคไทรอยด์เป็นพิษในเด็ก” หรือ Hyperthyroidism in Children เป็นภาวะที่ต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนไทรอยด์ออกมามากผิดปกติ ร่างกายมีระดับฮอร์โมนไทรอยด์มากกว่าปกติ กระตุ้นให้เซลล์ในร่างกายทำงานเร็วเกินไป อัตราการทำงานของระบบเมตาบอลิซึมจะเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ระบบเผาผลาญในร่างกายทำงานมากขึ้นกว่าปกติ เป็นสาเหตุให้เกิดอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ขึ้นได้ เช่น ทำให้น้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็วแบบผิดปกติ เหนื่อยง่าย ใจสั่น ขี้ร้อนง่าย มีเหงื่อออกมากผิดปกติ อุจจาระและปัสสาวะบ่อย อาจมีปัญหาสมาธิสั้น ส่งผลให้การเรียนล่าช้า ในวัยรุ่นผู้หญิงอาจมีประจำเดือนผิดปกติ เป็นต้น เมื่อเด็กมีภาวะไทรอยด์เป็นพิษขั้นรุนแรง ก็อาจส่งผลเสียต่อการเจริญเติบโต มีพัฒนาการช้า กระสับกระส่าย ขาดสมาธิ รวมถึงความผิดปกติทางพัฒนาการด้านสติปัญญา ความจำไม่ดี โดยอาการของโรคนี้ในเด็กอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับช่วงอายุที่จะแสดงอาการและความรุนแรงของโรคนั้นขึ้นอยู่กับการทำงานของต่อมไทรอยด์เป็นสำคัญ

อาการไทรอยด์เป็นพิษในเด็กตามแต่ละช่วงวัย

ภาวะไทรอยด์เป็นพิษในเด็กนั้น แตกต่างกันไปตามช่วงอายุ โดยแบ่งเป็น

ไทรอยด์เป็นพิษทารกแรกเกิด

อาการไทรอยด์เป็นพิษในเด็กแรกเกิด มักแสดงอาการไม่ชัดเจน และอาจเกิดขึ้นในช่วงสองสามสัปดาห์หรือเดือนแรก อาจปรากฏอาการบางอย่างที่สังเกตได้ดังนี้

  • ทารกมีอาการตัวเหลืองและจุดขาวที่ตา
  • ลิ้นโต มีขนาดใหญ่คับปากและยื่นออกมา
  • มีอาการท้องผูก
  • ตัวเย็น
  • ร้องไห้น้อยลง ไม่ร้องกวน
  • หายใจดัง
  • นอนหลับมากเกินไปหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ น้อยลง จนทำให้ต้องคอยปลุกให้ตื่นขึ้นมาเพื่อให้นม
  • จุดนิ่มบนศีรษะขยายใหญ่ขึ้น
  • ทารกมีแนวโน้มที่จะมีปัญหาเกี่ยวกับการรับประทานอาหาร ส่งผลให้ตัวเล็ก แคระเกร็น

ไทรอยด์เป็นพิษในเด็ก

ไทรอยด์เป็นพิษในเด็กเล็ก

ภาวะไทรอยด์เป็นพิษที่เริ่มในเด็กเล็กนั้น จะแสดงอาการดังนี้

  • มีการเจริญเติบโตช้ากว่าปกติ
  • ส่วนสูงน้อยกว่าความสูงเฉลี่ย มีรูปร่างเตี้ย แคระแกร็น หรืออาจส่งผลให้ทําให้หยุดการเจริญเติบโต
  • ฟันแท้ขึ้นช้ากว่าปกติ
  • เข้าสู่ช่วงวัยเจริญพันธุ์ช้ากว่าเด็กในรุ่นเดียวกัน
  • มีพัฒนาการเรียนรู้และพัฒนาการทางอารมณ์ช้า ไม่ร่าเริง ไม่แจ่มใส เฉื่อยชา
  • อัตราการเต้นของหัวใจช้ากว่าปกติ
  • เส้นผมขาดง่าย
  • หน้าบวม

ไทรอยด์เป็นพิษในวัยรุ่น

ภาวะไทรอยด์เป็นพิษในเด็กวัยรุ่น มักเกิดในเด็กผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และมักเกี่ยวข้องกับเด็กที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคเกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน เช่น โรคต่อมไทรอยด์อักเสบฮาชิโมโต โรคเกรฟ หรือเบาหวานชนิดที่ 1 ซึ่งจะมีความเสี่ยงสูงกว่าในการเกิดภาวะไทรอยด์เป็นพิษ รวมทั้งในเด็กที่มีภาวะทางพันธุกรรม เช่น โรคดาวน์ซินโดรม ก็จะมีความเสี่ยงที่สูงในการเกิดไทรอยด์เป็นพิษได้เช่นกัน โดยอาการไทรอยด์เป็นพิษที่เกิดในวัยรุ่นจะแสดงอาการคล้ายกับผู้ใหญ่ โดยอาการที่แสดงออกทางร่างกายและพฤติกรรมทางอารมณ์ เช่น

  • มีอาการอ่อนเพลียและเหนื่อยง่าย ใจสั่น หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดปกติ นอนไม่หลับ เจ็บหน้าอก
  • อุณหภูมิร่างกายไม่คงที่ ทำให้เหงื่ออกมากกว่าปกติ ฝ่ามือมีเหงื่อชุ่มตลอดเวลา ขี้ร้อนง่าย
  • มีปัญหาทางอารมณ์และพฤติกรรม เช่น อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย ภาวะซึมเศร้า เป็นต้น
  • มีพัฒนาการเจริญเติบโตช้า ตัวไม่สูง และดูเด็กกว่าเพื่อนในวัยเดียวกัน
  • กินอาหารจุแต่น้ำหนักตัวกลับลดลง
  • ความจำสั้น สมาธิสั้น ส่งผลต่อปัญหาด้านการเรียน
  • ในเด็กวัยรุ่นผู้หญิงจะเริ่มมีประจำเดือนช้า ประจำเดือนมาไม่ปกติ ไม่สม่ำเสมอ หรือบางครั้งอาจพบว่าประจำเดือนไม่มาเลย
  • ขนาดอัณฑะใหญ่ในเด็กผู้ชาย
  • เข้าสู่ช่วงวัยเจริญพันธุ์ช้า
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรงลงบริเวณต้นขาและต้นแขน มีอาการปวดกล้ามเนื้อและข้อต่อติดขัด บางครั้งอาจมีอาการมือสั่น
  • ผิวแห้ง ผิวหนังบางกว่าเดิม
  • เล็บและผมเปราะบางขาดง่าย และผมร่วง
  • คอโตผิดปกติ ใบหน้าบวม ตัวบวม ตาโปน
  • เสียงแหบ ต่อมไทรอยด์ใหญ่ขึ้น
  • มีอาการถ่ายเหลว คลื่นไส้ อาเจียนคล้ายท้องเสีย

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของภาวะไทรอยด์เป็นพิษในเด็ก

  • โรคเกรฟวส์ (Graves’ disease) หรือโรคคอพอกตาโปน

เป็นสาเหตุของโรคไทรอยด์เป็นพิษที่พบบ่อยที่สุดในเด็ก โดยจะพบเพศหญิงมากกว่าเพศชาย มักเกิดขึ้นในช่วงก้าวเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ ทั้งนี้สาเหตุของการเกิดโรคยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดจากอะไร แต่คาดว่ามีความผิดปกติร่วมกันระหว่างปัจจัยทางพันธุกรรมที่มีประวัติสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคนี้หรือมีปัญหาเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันส่งผลต่อต่อมไทรอยด์ รวมถึงปัจจัยจากสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันผิดปกติ มีการสร้างสารภูมิต้านทานต่อไทรอยด์ มากระตุ้นให้ต่อมไทรอยด์หลั่งฮอร์โมนไทรอยด์ออกมามากผิดปกติ ส่งผลให้มีฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินจนเกิดภาวะไทรอยด์เป็นพิษ โดยผู้ที่ป่วยโรคนี้จะมีอาการของต่อมไทรอยด์โต และมักมีอาการตาโปนร่วมด้วย

  • ภาวะขาดไอโอดีน

สารไอโอดีนเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์จากต่อมไทรอยด์ แม้ร่างกายจะต้องการไอโอดินเพียงเล็กน้อยแต่ก็ถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้ เด็กและวัยรุ่นที่ขาดสารไอโอดีนหรือได้รับมากเกินไปอาจเสี่ยงต่อภาวะไทรอยด์เป็นพิษได้ เนื่องจากต่อมไทรอยด์ทำงานมากขึ้น เป็นผลให้ทารกมีความบกพร่องในการพัฒนาสมอง ร่างกายแคระแกรน ร่างกายจะเติบโตช้ากว่าปกติได้

การได้รับไอโอดีนที่เหมาะสมต่อร่างกายในเด็กนั้นจึงจำเป็นต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็กทารกตั้งแต่ช่วงอยู่ในครรภ์มารดา ที่มีส่วนช่วยพัฒนาการทางด้านร่างกายและสมอง เพื่อป้องกันภาวะขาดไอโอดีน คุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกน้อยได้รับประทานอาหารที่มีไอโอดีนอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1-2  ครั้ง หรือใช้เกลือเสริมไอโอดีนในการประกอบอาหารเพื่อให้ได้รับสารไอโอดีนเพียงพอ โดยปริมาณไอโอดีนที่ควรได้รับใน 1 วัน ขึ้นกับช่วงอายุและสภาพร่างกาย สำหรับเด็กอายุ 6 เดือนถึง 6 ปี ต้องการไอโอดีน 50-90 ไมโครกรัม ส่วนเด็กวัยเรียนต้องการ 120 ไมโครกรัม และควรระวังไม่ให้รับประทานไอโอดีนที่มากเกินไปด้วยเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคไทรอยด์เป็นพิษ (ข้อมูลจาก : www.healthandtrend.com)

  • ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน

ทารกบางรายอาจเกิดมาโดยต่อมไทรอยด์ทำงานบกพร่องหรือไม่มีต่อมไทรอยด์ ทำให้สร้างฮอร์โมนไทรอยด์ได้น้อยมาตั้งแต่กำเนิด ในบางกรณีก็เกิดจากการที่ต่อมไทรอยด์อยู่ผิดที่ ซึ่งเรียกว่า “โรคพร่องไทรอยด์ฮอร์โมนแต่กำเนิด” โดยภาวะนี้จะส่งผลต่อพัฒนาการของสมอง การทำงานระบบต่าง ๆ ของร่างกาย และพัฒนาการทางร่างกาย “โดยเฉพาะในช่วง 3 ขวบปีแรกซึ่งเป็นช่วงที่สำคัญของการเจริญเติบโตและพัฒนาการของสมอง หากร่างกายเด็กขาดฮอร์โมนตัวนี้ก็จะส่งผลต่อสติปัญญาและพัฒนาการของลูกน้อย จึงจำเป็นต้องมีการตรวจคัดกรองตั้งแต่แรกเกิดเพื่อให้การรักษาได้อย่างทันท่วงที อาการมักจะยังไม่แสดงอาการเมื่อแรกเกิด เนื่องจากได้รับไทรอยด์ฮอร์โมนจากแม่ผ่านมาทางรก (ข้อมูลจาก :  www.samitivejhospitals.com)

  • ภาวะไทรอยด์เป็นพิษขณะตั้งครรภ์

ไทรอยด์เป็นพิษตอนท้อง เกิดจากระดับฮอร์โมนไทรอยด์สูงผิดปกติ ทําให้การทํางานของระบบเผาผลาญในร่างกายเสียสมดุล คุณแม่ที่ป่วยไทรอยด์เป็นพิษขณะตั้งครรภ์ควรได้รับการตรวจรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น หากได้รับยาต้านไทรอยด์มากเกินไปอาจส่งผลกระทบต่อเด็กในครรภ์ทำให้มีภาวะไทรอยด์ทำงานต่ำได้ รวมถึงการไม่ได้รับการรักษาหรือไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมเมื่อเกิดภาวะไทรอยด์เป็นพิษขณะตั้งครรภ์ อาจทำให้ในเด็กบางรายมีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้ได้เมื่อโตเนื่องจากถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ ทั้งนี้คุณแม่ท้องจึงควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ ได้ใช้ยาที่ปลอดภัยและปรับปริมาณยาให้เพียงพอในการควบคุมโรค รวมทั้งได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม

รักษาไทรอยด์เป็นพิษ

การรักษาภาวะไทรอยด์เป็นพิษในเด็ก

เมื่อพบว่าลูกมีอาการไทรอยด์เป็นพิษหรือสงสัยเกี่ยวกับโรคนี้ วิธีที่ดีสุดคือการเข้าพบหมอ เนื่องจากร่างกายของแต่ละคนจะแสดงอาการของโรคแตกต่างกัน โดยแนวทางการรักษาจากแพทย์มีหลายวิธี

  • การกินยาต้านไทรอยด์ เป็นการรักษามาตรฐานลำดับแรกที่ใช้ในเด็กที่มีอายุน้อย อาการยังไม่รุนแรงมาก และต่อมไทรอยด์ไม่โตมาก แพทย์มักจะแนะนำให้รักษาด้วยการกินยาต้านไทรอยด์โดยตัวยาจะไปกดการทำงานของต่อมไทรอยด์ ช่วยลดการสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ไม่ให้ผลิตออกมามากจนเกินไปภายใน 2-8 สัปดาห์ ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้ปรับขนาดการใช้ยาให้ทุก ๆ 1-2 เดือน โดยพิจารณาจากผลการตรวจระดับฮอร์โมนไทรอยด์เป็นหลัก โดยที่ขนาดยานั้นจะแตกต่างกันไป ตามอายุของเด็ก และปัจจัยอื่น ๆ
  • การรักษาด้วยสารรังสีไอโอดีน เป็นการรักษาด้วยกินน้ำที่ประกอบด้วยสารไอโอดีน กัมมันตรังสี ที่ได้รับการคำนวณขนาดไว้ให้พอดีกับแต่ละบุคคล โดยสารชนิดนี้จะถูกดูดซึมโดยต่อมไทรอยด์และเกิดการทำลายขอเนื้อเยื่อต่อมไทรอยด์ ทำให้เนื้อไทรอยด์ค่อย ๆ หดตัวลดลงอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับคนปกติ และสร้างฮอร์โมนได้น้อยลง ซึ่งมักจะใช้ระยะเวลาในการรักษาประมาณ 3-6 เดือน โดยวิธีนี้ไม่ต้องเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด และจะใช้การรักษาวิธีนี้ในเด็กโตที่แพ้ยาต้านไทรอยด์ หรือมีการกลับเป็นซ้ำหลังจากหยุดยาต้านไทรอยด์
  • การผ่าตัดรักษาไทรอยด์เป็นพิษ สำหรับกรณีที่ผู้ป่วยไม่สมารถรักษาด้วยยาต้านไทรอยด์หรือรังสีไอโอดีนได้ ทำการผ่าตัดโดยการวางยาสลบ และตัดเนื้อไทรอยด์ส่วนเกินออกให้เหลือเนื้อไทรอยด์อยู่ในระดับใกล้เคียงกับคนปกติ วิธีนี้หลังผ่าตัดผู้ป่วยจะหายจากอาการของไทรอยด์เป็นพิษทันที แต่อาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นจากการผ่าตัดได้ เช่น เสียงแหบ อาการชา เป็นตะคริว ฯลฯ ที่อาจมีผลต่อกิจวัตรประจำวันตลอดชีวิต แต่ภาวะแทรกซ้อนอาจพบได้ไม่บ่อยนัก (ข้อมูลจาก : www.si.mahidol.ac.th)

จะเห็นได้ว่าการเกิดภาวะไทรอยด์เป็นพิษในเด็กนั้น หากได้รับการรักษาเร็วก็จะเป็นผลดี แต่หากปล่อยทิ้งไว้ก็จะส่งผลเสียต่อพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของลูกน้อยทั้งทางร่างกายและสติปัญญารวมถึงอารมณ์ได้ไม่น้อย อย่างไรก็ตามเพื่อป้องกันการเกิดภาวะไทรอยด์เป็นพิษในเด็ก สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีภาวะของโรคนี้ควรได้รับการรักษาที่เหมาะสม และในเด็กทารกควรจะเข้ารับการคัดกรองเด็กภายใน 4 สัปดาห์แรกหลังคลอด เพื่อไม่ให้ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นกับตัวลูกน้อย หากคุณพ่อคุณแม่สงสัยหรือมีคำถามเกี่ยวกับภาวะไทรอยด์เป็นพิษในเด็ก ควรปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อทำความเข้าใจและหาวิธีการรักษาเป็นการดีที่สุดค่ะ.

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : www.medthai.comwww.thaipedendo.orgwww.hellokhunmor.com

อ่านต่อบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ คลิก

ไทรอยด์ เรื่องใกล้ตัวลูกตรวจได้ตั้งแต่แรกเกิด

เมื่อป่วยไทรอยด์เป็นพิษ…ตอนท้อง

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up