โรค คาวาซากิ ในเด็กในช่วง 5-7 วันแรกสำคัญ หากได้รีบรักษา จะช่วยป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนที่ทำให้เสียชีวิตได้ การสังเกตสัญญาณอันตรายช่วยลูกได้เหมือนเคสจริงนี้
สังเกตสัญญาณเตือนจากเคสจริงโรค คาวาซากิ อันตราย!!
คาวาซากิ (Kawasaki disease) คือ กลุ่มอาการของโรคที่ประกอบด้วยไข้สูง ร่วมกับมีการเปลี่ยนแปลงของผิวหนัง เยื่อบุผิว และต่อมน้ำเหลืองที่คอโต พบบ่อยในเด็กชาวเอเชีย โดยเฉพาะที่ประเทศญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน และ ประเทศจีน ส่วนในชาวยุโรปและอเมริกาพบได้น้อย และพบได้น้อยมากในเด็กชาวผิวดำ ซึ่งโรคนี้พบมากขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศไทย แต่ยังไม่ทราบถึงอุบัติการณ์ที่แน่ชัด และไม่สัมพันธ์กับฤดูกาล
ระยะของโรคคาวาซากิ แบ่งได้เป็น 3 ระยะ
- ระยะ เฉียบพลัน (Acute stage)
- ระยะ Subacute stage
- ระยะ Convalescent stage
ดังนั้น การให้การวิเคราะห์โรคตั้งแต่เนิ่นๆ โดยเฉพาะ ภายใน 5-7 วันแรกของโรคมีความสำคัญมากเพื่อรีบให้การรักษา เพื่อป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นที่หัวใจและเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจ (coronary artery)
ศึกษาสัญญาณเตือนจากเคสจริง!!
ทีมแม่ ABK ได้รับโอกาสถ่ายทอดเรื่องราวของคุณแม่ใจดีท่านหนึ่ง ที่เล่าประสบการณ์ของลูกมาให้เป็นอุทาหรณ์แก่คุณแม่ท่านอื่น ในการสังเกตสัญญาณเตือน อาการจากโรคคาวาซากิ เพราะยิ่งเจอเร็ว จะได้รีบรักษาลดอัตราการสูญเสียได้มาก
เรื่องราวของการป่วยหนักของลูกชาย ที่รุนแรงที่สุด จนเกือบถึงชีวิต หากได้รับการรักษาไม่ทันการณ์…ว่าด้วยเรื่องของโรค #คาวาซากิน้องตอนอายุ 9 เดือน เริ่มมีอาการท้องเสียในช่วงเช้า ถ่ายเป็นน้ำไม่หยุด และเริ่มมีไข้จาก 38.7 ในช่วงบ่าย แม่กับพ่อตัดสินใจพาไป ร.พ. เอกชน ประจำตัวลูก ไปถึงคุณหมอก็ตรวจและให้แอดมิททันที พยาบาลจัดยาชุดใหญ่สำหรับลดไข้และฆ่าเชื้อมาให้ คุณหมอสันนิษฐานว่าน่าจะมาจากได้รับเชื้อแบคทีเรียจากไข่ไก่ อยู่ที่ ร.พ. 7 วัน อาการท้องเสียเริ่มดีขึ้น แต่อาการไข้ยังมีสวิง ขึ้นลง เนื่องจากค่ารักษาค่อนข้างสูง พ่อกับแม่เลยตัดสินใจขอพาน้องกลับมาดูแลต่อเองที่บ้าน เพราะอาการท้องเสียเริ่มดีขึ้นพอกลับมาถึงบ้าน น้องทานอาหารและนมได้น้อยลง ตัวร้อนขึ้น แม่ก็เช็ดตัวให้ตลอด และให้กินยาแก้ไข้กับยาฆ่าเชื้อที่คุณหมอจัดมาให้ แต่อาการก็ยังสวิง วัดไข้ทุกชั่วโมงได้ 40.2 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ บวกกับอาการอื่นๆ ที่เพิ่มเข้ามาคือ ตาลูกเริ่มแดง และมีอาการอักเสบบริเวณที่ฉีดปลูกฝี มีรอยแตกเป็นเส้นๆ ขยายออกมา (ถ้าคนที่ดูหนังซอมบี้ จะมีลักษณะคล้ายแบบนั้นเลย) เลยตัดสินใจรีบพาลูกไป ร.พ.อีกครั้ง ครั้งนี้ไปที่ ร.พ.ธรรมศาสตร์รังสิต ซึ่งเป็นอีก ร.พ.ที่น้องต้นน้ำไปรักษาตัวอยู่ประจำเมื่อไปถึงพยาบาลคัดกรองวัดไข้ วัดความดันให้ ปรากฏว่า ไข้ขึ้นสูงถึง 41.8 เลยส่งไปที่ห้องฉุกเฉิน เมื่อไปถึงเราก็ไม่ได้รับการตรวจรักษาในทันทีเนื่องจากคนไข้ฉุกเฉินเยอะ ต้องเป็นไปตามคิว แม่เข้าไปห้องฉุกเฉินกับน้อง และต้องคอยเช็ดตัวให้ตลอด ผ่านไปเกือบ 2 ชั่วโมง คุณหมอจึงมาแจ้งให้แอดมิท เพราะประสานไปที่ ร.พ.ที่รักษาก่อนหน้านี้แล้ว ได้ผลตรวจที่มีความเสี่ยงติดเชื้ออย่างอื่น เมื่อแอดมิท คุณหมอประจำตัวและคุณหมอท่านอื่นก็มาตรวจดูอาการ แต่ที่สงสารลูกจับใจคือ ลูกไข้ขึ้นสูง ไม่ลงเลย แตะที่ 41-42 กว่าๆ ตลอด คุณหมอเจาะเลือดไปดูผล ก็มาแจ้งผลว่ายังหาสาเหตุไม่ได้ อาการไม่ใช่ RSV ไม่ใช่ไข้หวัดใหญ่ จึงต้องหาสาเหตุการป่วยต่อ ผ่านไป 1 วัน พยาบาลก็มาช่วยกันเช็ดตัว เช็ดแบบแทบจะอาบให้ลูกเลย เช็ดแรงมากๆ พยาบาลบอกว่าถ้าไม่ทำแบบนี้ไข้จะไม่ลง และกลัวเด็กตัวร้อนจนชัก เลยมาเช็ดตัวให้ทุก 2 ชั่วโมง ลูกร้องไห้หาพ่อกับแม่ตลอด ส่งสายตาให้ช่วย แต่เราทำอะไรไม่ได้ ได้แต่ให้กำลังใจลูก เพราะคุณพยาบาลทำหน้าที่ได้ดีมากๆ พูดเพราะทุกคน ใจดีกับน้อง และเอ็นดูน้อง หลังจากเช็ดตัวและกินยาไข้ก็ลงมาแต่ก็ยังสูงอยู่ที่ 40-42 อยู่ดีเช้าวันต่อมา อาจารย์หมอมาตรวจดูอาการจับตัวน้อง แล้วบอกทันทีนี่คือ อาการของโรค #คาวาซากิ โรคคาวาซากิ เป็นโรคที่มีการอักเสบของหัวใจ และหลอดเลือดแดงในเด็ก จะมีอาการอักเสบ 5 อย่างในตัวเด็ก และยังหาสาเหตุการเกิดของโรคนี้ไม่ได้ จุดกำเนิดมาจากญี่ปุ่น
อาการเตือนที่พ่อแม่ต้องสังเกตลูกน้อย
- เด็กจะมีไข้สูง ถ้าไม่ได้รับการรักษาไข้จะสูงนาน ประมาณ 1-2 สัปดาห์
- อาการตาแดง โดยเยื่อบุตาขาวจะแดง 2 ข้าง ไม่มีขี้ตา และเป็นหลังมีไข้ประมาณ 1-2 วัน และเป็นอยู่นาน ประมาณ 1-2 สัปดาห์
- มีการเปลี่ยนแปลงของริมฝีปากและภายในช่องปาก โดยริมฝีปากแดงแห้ง เป็นอยู่ประมาณ 1-2 สัปดาห์และผิวหนังริมฝีปากอาจแตกแห้ง เลือดออกและผิวหนัง หลุดลอกได้ ภายในเยื่ออุ้งปากจะแดงและลิ้นจะแดงคล้ายลูกสตรอเบอรี่ (Strawberry tongue)
- ฝ่ามือและฝ่าเท้าจะบวมแดงแต่ไม่เจ็บ หลังจากนั้นจะมีการลอกของผิวหนังบริเวณปลายนิ้วมือและนิ้วเท้า (ประมาณ 10-14 วันหลังมีไข้) และอาจลามไปที่ฝ่ามือฝ่าเท้าได้ บางรายเล็บอาจหลุดได้ หลังจากนั้นบางราย 1-2 เดือนจะมีรอยขวางที่เล็บ (Beau’s line)
- ผื่นตามตัวและแขนขา มักเกิดหลังมีไข้ 1-2 วัน และมีได้หลายแบบ และผื่นอยู่นานประมาณ 1 สัปดาห์ บางรายมีผื่นแถวอวัยวะเพศร่วมด้วย และพบประมาณ 60% มีผื่นแดงที่บริเวณฉีดยากันวัณโรดที่หัวไหล่ร่วมด้วย
- ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต โดยพบประมาณร้อยละ 50-70 ของผู้ป่วย ขนาดโตกว่า 1.5 ซม. แต่ไม่เจ็บ
- อาการแสดงอื่นๆ ที่อาจเกิดร่วมด้วย ได้แก่ ปวดตามข้อ ทางเดินปัสสาวะอักเสบแบบไม่ติดเชื้อ ปวดท้อง ท้องเสีย เยื่อหุ้มสมองอักเสบ มีการเปลียนแปลงการทำงานของตับ และบางรายมาด้วยอาการช็อก
ทั้งนี้ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการแสดงไม่ครบตามข้อกำหนด (criteria) เรียกภาวะนี้ว่า Incomplete Kawasaki Disease หรือ Atypical Kawasaki disease เป็นต้น
จากอาการเตือนที่คุณหมอได้ให้พ่อแม่ไว้สังเกตอาการของลูกข้างต้น จะพบอาการของน้องจากเคสจริงของคุณแม่ได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งคุณแม่เจ้าของเคสก็ได้สรุปอาการของลูกที่เป็นเหมือนสัญญาณเตือนเอาไว้ ดังนี้
อาการที่เป็นเกณฑ์ และที่พบในตัวลูก คือ ตาแดง/ปากบวมแดง ลิ้นแห้ง/มือบวมแดง/และมีความอักเสบที่แผลฉีดฝีอาจารย์หมอสั่งให้ไป เอคโค่ตรวจหัวใจด่วน เพราะโรคนี้ส่งผลให้หลอดเลือดแดงที่เลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบโป่งพอง (coronary aneurysm) กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ลิ้นหัวใจอักเสบ หัวใจเต้นผิดจังหวะซึ่งภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวเป็นสาเหตุให้เกิดการเสียชีวิตได้
เอคโค่คืออะไร??
ตรวจให้รู้ว่าเป็น “โรค คาวาซากิ” หรือไม่…ได้ด้วยวิธีนี้
การตรวจวินิจฉัยโรคคาวาซากินั้น อาศัยประวัติและการตรวจร่างกายพบความผิดปกติดังกล่าว ร่วมกับการวิเคราะห์แยกโรคจากสาเหตุอื่น รวมทั้งการตรวจเลือด การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ถ่ายภาพรังสีทรวงอก และทำ Echocardiogram เพื่อตรวจดูว่ามีโรคแทรกซ้อนที่หัวใจและหลอดเลือดหรือไม่ และทำ Echocardiogram ฃ้ำหลังการรักษา เพื่อดูว่ามีโรคแทรกซ้อนที่หัวใจและหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจหรือไม่ และถ้ามี..ระดับโรครุนแรงแค่ไหน เพื่อวางแนวทางการรักษาต่อไป
ไปตรวจคุณหมอพบว่า เส้นเลือดหัวใจเริ่มขยายตัวขึ้นจากเดิม 0.7 มม. ต้องรีบให้ยารักษาด่วน ซึ่งยาตัวนี้ราคาสูงมาก 16,000 บาท ต้องฉีด 2 ครั้ง และต้องสังเกตอาการ หากฉีดไปแล้วร่างกายน้องตอบรับ สิ่งแรกคือไข้จะลดลง อาการอักเสบต่างๆ ในร่างกายจะลดลงตามลำดับ และต้องให้ยาแอสไพรินควบคู่ในการรักษาด้วย แต่ถ้าร่างกายน้องไม่ตอบรับตัวยา ก็เสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจเฉียบพลันและเสียชีวิตได้ตอนนั้นบอกเลยว่าค่ายาแพงขนาดนี้ บวกกับห้องที่แอดมิท แม่จ่ายไม่ไหวแน่ๆ โชคดีที่น้องใช้สิทธิ์ 30 บาทรักษาตัวที่นี่อยู่ คุณหมอพรทิพา และคุณหมอท่านอื่นจึงรวมกันลงชื่อให้น้องสามารถใช้สิทธิ์ 30 บาทในการจ่ายค่ายาตรงนี้ได้ (แต่ค่าห้องแม่ต้องจ่ายเองตามปกติ) หลังจากเดินเรื่องเสร็จ ก็ได้เบิกยามาฉีด ทำการรักษาทันทีผ่านไปเพียงไม่ถึง 1 ชั่วโมง อาการไข้ของลูกเริ่มลดลงตามลำดับจาก 41 กว่าๆ ลงมาเหลือ 38 กว่าๆ หรือมีอาการไข้ต่ำๆ แสดงว่าร่างกายน้องตอบรับกับตัวยา ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมากๆ เพราะตอนนั้นคุณหมอ และพ่อกับแม่เองก็ลุ้นสุดๆ พอได้ยาเข็มที่ 2 อาการไข้ก็ลงมาเกือบจะปกติ ไม่มีอาการอักเสบที่มือ และตาเริ่มหายแดง เรารักษาตัวและรอดูอาการอยู่ที่ ร.พ. 10 วัน และได้ตรวจเอคโค่หัวใจก่อนกลับพบว่าอาการอักเสบที่หัวใจเริ่มปกติ ไม่พองตัวแล้ว คุณหมอจึงให้กลับบ้านได้ พร้อมนัดติดตามอาการทุกๆ 3 เดือน และให้ยาแอสไพรินมากิน ข้อเสียของการกินยานี้คือทำให้เด็กเบื่ออาหารและต้องระวังเรื่องโรคกระเพาะอาการของโรคนี้ค่อยดีขึ้นตามลำดับ แต่น้องยังต้องกินยาตลอด จนน้ำหนักตัวของน้องไม่เพิ่มขึ้นเลย ไปตามหมอนัดตรวจอาการและเอคโค่หัวใจทุก 3 เดือน ก็ยังมีอาการเส้นเลือดพองในช่วงแรกๆ แต่ไม่มากจนต้องทำการรักษา เลยต้องกินยาแอสไพรินต่อไป จนอายุ 1 ขวบ 8 เดือน (น้ำหนักน้องไม่ขึ้นเลย อยู่เท่าเดิมที่ 9.6-9.8 kg.) หลังการตรวจครั้งสุดท้ายคุณหมอพบว่าเส้นเลือดหัวใจเป็นปกติ จึงให้หยุดยาหลังจากหยุดยา น้องก็ทานอาหารได้เยอะขึ้น ร่างกายแข็งแรงขึ้น จากเด็กน้อย ตัวเล็กหัวโตเหมือนปลาช่อน เป็นเด็กเบิ่ม 3 ขวบครึ่ง 21.6 kg. ในตอนนี้ตอนน้องป่วยสิ่งที่น้องต้องการที่สุดคือแม่และพ่อ เราตัวติดกัน นอนกอดกันเป็นลูกลิงน้อย วางไม่ได้เลย สงสารลูกที่สุด…แต่ถึงน้องจะป่วยแต่น้องก็ยังร่าเริง ยิ้มได้ จนเป็นที่เอ็นดูของคุณหมอและพยาบาล
การพยากรณ์โรคและการดำเนินโรค
การพยากรณ์โรคและการดำเนินโรคจะดีถ้าผู้ป่วยไม่เกิดโรคแทรกซ้อนที่หัวใจ และเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจ ก่อนและหลังการรักษา โดยหลังจากไข้ลดลงแล้ว ต้องทานยากันเลือดแข็งตัว (Aspirin) ต่ออีกนานประมาน 60 วัน ของโรค หรือจนกว่าเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจโป่งพอง (aneurysm) กลับเป็นปกติ
กรณีที่ผู้ป่วยไม่มีการแทรกซ้อนที่หัวใจและเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจ (coronary artery) หลังได้รับการรักษาสามารถเล่นและทำกิจกรรมได้เหมือนเด็กปกติทั่วไป มีประมาณร้อยละ 5-7 ของผู้ป่วย ที่มีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนที่หัวใจ โดยเกิดเส้นเลือดโป่งพอง ( เช่น coronary artery aneurysm ขนาดเกิน 4- >10 มม. เป็นต้น) ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้มีโอกาสที่จะเสียชีวิตได้ จึงควรให้รับการรักษาดูแลอย่างต่อเนื่องจากกุมารแพทย์โรคหัวใจ ด้วยการตรวจ Echocardiogram เป็นระยะ ตามความเหมาะสมของโรคแทรกซ้อน รวมทั้งบางรายอาจต้องทำ Exercise Stress Test, Computer Tomography (CT) และการสวนหัวใจ เพื่อดูความรุนแรงของโรค และวางแผนการรักษาต่อเนื่องได้อย่างถูกต้อง จนถึงเป็นผู้ใหญ่
*เด็กที่ป่วยเป็นโรคนี้ และได้รับการรักษาด้วย ยา Intravenous Gammaglobulin (IVIG) จะต้องเว้นการรับ Vaccine ชนิดมีตัวเป็นเวลา 7-9 เดือน นับจากได้รับยารักษา
โรคนี้สามารถเกิดเป็นซ้ำได้ ประมาณ 3-3.5 % หรือ 6.89 คนต่อผู้ป่วยเด็ก 1000 ราย ต่อปี โดยเฉพาะผู้ป่วยเด็กที่มีโรคแทรกซ้อน และพบได้บ่อยในเด็กที่อยู่ในครอบครัวเดียวกัน หรือมีสายสัมพันธ์กันทางสายเลือด โดยพบประมาณ 1-2%
จะบอกว่า สิ่งที่คุณหมอบอกมาคือ การเป็นโรคคาวาซากิ ถ้าได้รับการรักษาช้า หรือไม่ได้รับยา เราอาจต้องเสียลูกไป ดีที่แม่กับพ่อสังเกตอาการและไม่รอช้าที่จะพาลูกมาพบแพทย์กรณีของลูกที่มีการอักเสบที่บริเวณปลูกฝี คือเป็นเคสกรณีศึกษาที่อาจารย์หมอ ให้คุณหมอและนักศึกษาแพทย์ท่านอื่นมาเอาไปเป็นเคสตัวอย่าง เพราะไม่ค่อยได้พบเจอมากนัก
ขอขอบคุณ : คุณหมอและพยาบาลที่ ร.พ.ธรรมศาสตร์รังสิตทุกท่านที่ทำให้น้องผ่านพ้นช่วงที่ป่วยหนักที่สุดในชีวิตมาขอขอบคุณเรื่องราวที่ร่วมแบ่งปันและภาพประกอบ จาก Tonnam Kids Shop
สัญญาณเตือนเพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ให้ผลที่คุ้มค่า แลกกับระยะเวลาที่รวดเร็วในการที่ลูกจะได้เข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงที เหมือนอย่างเคสจริงของคุณแม่ ที่เฝ้าสังเกตอาการของลูกอย่างใกล้ชิด และไม่ละเลยเห็นว่าเป็นอาการเล็กน้อยรีบพาลูกเข้าไปพบคุณหมอ ทำให้น้องรักษาได้ทัน ไม่ต้องพบเจอกับเรื่องเศร้า และความสูญเสีย จึงอยากขอเป็นอีกหนึ่งเสียงที่จะแชร์ความรู้ให้กับคุณพ่อคุณแม่ทุกคนในการศึกษาอาการเตือนของโรคต่าง ๆ และคอยสังเกตลูกเมื่อมีอาการผิดปกติใด ๆ อย่ารีรอรีบไปพบกับผู้เชียวชาญ พบแพทย์ เพราะชีวิตลูกน้อยสำคัญกว่าสิ่งอื่นใด
ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจากบทความ พ่อแม่ต้องรู้ทัน!สัญญาณเตือน โรคคาวาซากิในเด็ก
ของ นพ.วัชระ จามจุรีรักษ์ กุมารแพทย์เฉพาะทางด้านหัวใจ รพ.พญาไท2
โรคคาวาซากิ อาการ ที่ต้องระวัง อันตรายจากภาวะแทรกซ้อนถึงชีวิต
แม่ลูก หัวใจเต้น พร้อมกันไหม จะเริ่มได้ยินเสียงหัวใจลูกเมื่อไหร่
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่