เมื่อโควิดมาเคาะประตูบ้าน! เด็กติดโควิดได้ไม่ต่างจากผู้ใหญ่ ส่องสถานการณ์รอบโลก เด็กติดโควิด19 เยอะแค่ไหน ป้องกันอย่างไรให้ลูกเรารอด
โควิดระลอกใหม่ร้ายกว่าเดิม เมื่อมีรายงานพบทารกและเด็กเล็กไทยติดเชื้อโควิด-19อย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ล่าสุดพบทารกวัย 3 เดือนติดเชื้อจากเพื่อนของคุณพ่อซึ่งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงมากินเลี้ยงที่บ้าน และทารกวัย 5 เดือนจากจ.ระยอง ติดเชื้อปริศนาหลังตรวจไม่พบเชื้อจากพ่อแม่และคนใกล้ชิด
สหรัฐน่าเป็นห่วง ตัวเลข เด็กติดโควิด19 พุ่งไม่หยุด
หากมองสถานการณ์การติดเชื้อโควิดในต่างประเทศจะพบว่ามี เด็กติดโควิดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รายงานจากสถาบันกุมารแพทย์เวชศาสตร์อเมริกัน (AAP) ระบุว่ามีเด็กในสหรัฐเกือบ2.4 ล้านคนติดเชื้อโควิด-19 นับตั้งแต่เริ่มมีการระบาด และมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ( 24 ธค 2020 – 7 มค 2021) มีเด็กทั่วประเทศติดเชื้อมากถึง 298,985 คน คิดเป็น 12.5 % จากจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมด
และที่น่ากลัวกว่านั้นคือแค่เพียงสัปดาห์เดียว (31ธค 2020 – 7 มค 2021) พบ เด็กติดโควิด19 เพิ่มมาถึง 171,079 คน เท่ากับว่าในจำนวนเด็ก 1 แสนคนจะตรวจพบเด็กเป็นโควิดมากถึง 3,055 คน ขณะที่พบว่ามีเด็กป่วยรุนแรงและเสียชีวิตจากเชื้อโควิดเพียง 0.00-0.02 % เท่านั้น จึงทำให้ดูเหมือนว่าขณะนี้อาการป่วยรุนแรงจากโควิด-19 ยังพบได้น้อยในเด็ก แต่นักวิทยาศาสตร์ต่างเสนอให้มีการเก็บข้อมูลเร่งด่วนเกี่ยวกับผลกระทบของโรคต่อสุขภาพหลังติดเชื้อ อารมณ์ และสุขภาพจิตของเด็กๆด้วย
สำหรับประเทศอื่นๆ ยังไม่มีรายงานจำนวน เด็กติดเชื้อโควิด19 ที่ชัดเจน เพียงแต่พบว่ามีมาตรการปิดโรงเรียน และสถานศึกษาระยะยาวในหลายประเทศ เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อังกฤษ กรีซ ไอซแลนด์ และแอฟริกา
ขณะที่ประเทศอังกฤษประกาศสถานการณ์ควบคุมการระบาดเข้มข้นหลังพบว่าเชื้อโควิดกลายพันธุ์อย่างรวดเร็ว และเริ่มระบาดในหลายประเทศในยุโรปทั้งอิตาลี เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ รวมถึงอีกฟากหนึ่งของโลกอย่าง ออสเตรเลีย ฮ่องกง สิงคโปร์ รวมถึงประเทศไทยซึ่งตรวจพบจากชาวอังกฤษที่เดินทางเข้าประเทศ และได้กักตัวใน State Quarantine แล้ว
ผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศเรียกไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ว่า ‘VUI-202012/01’ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมไปจากเชื้อก่อโรคโควิด-19 ดั้งเดิมจำนวนมาก มีความสามารถติดเชื้อสูงขึ้น 2 เท่าในห้องปฏิบัติการ และลดประสิทธิภาพของแอนตี้บอดี้ในเลือดของผู้ติดเชื้อลง ส่งผลให้ระบาดได้เร็วกว่าเชื้อดั้งเดิมสูงสุดถึงร้อยละ 70 ซึ่งอาจสามารถแพร่เชื้อในเด็กได้ง่ายขึ้นเหมือนกับผู้ใหญ่
ด้านศาสตราจารย์ไรนา แมคอินไตย์ (Prof Raina MacIntyre) ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาดจากมหาวิทยาลัยรัฐนิวเซาท์เวลส์ ออสเตรเลีย ระบุว่า
“ดูเหมือนว่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้จะสามารถแพร่กระจาย และทำให้เกิดการระบาดในเด็กได้ง่าย มันจะเปลี่ยนแปลงทุกสิ่ง ทั้งในแง่ของการปิดสถานศึกษา และความปลอดภัยในการเปิดทำการเรียนการสอน และเราต้องคำนึงถึงทั้งหมดนี้ จึงต้องระมัดระวังอย่างมาก ทุกสิ่งที่เข้ามายังออสเตรเลียนั้นล้วนมาจากต่างประเทศ ดังนั้น หากมีไวรัสโคโรนาชนิดใหม่เกิดขึ้นในอังกฤษ เรากำลังตกอยู่ในความเสี่ยงที่ไวรัสชนิดนี้จะเข้ามาในออสเตรเลีย”
ด้วยเหตุนี้นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกจึงเฝ้าจับตาเจ้าเชื้อโควิดกลายพันธุ์นี้เป็นพิเศษ เพื่อศึกษาถึงความรวดเร็วในการแพร่ระบาดและความรุนแรงของโรคให้แน่ชัดต่อไป
อาการของ เด็กติดโควิด19 รุนแรงแค่ไหน
เด็กติดเชื้อโควิด-19 มักมีอาการน้อยกว่าผู้ใหญ่ หรือไม่แสดงอาการใดเลย ส่วนใหญ่มักมีอาการเหมือน “ไข้หวัด” ทั่วไป ซึ่งหายได้องภายใน 1- 2 สัปดาห์ ส่วนที่พบว่ามีอาการรุนแรงถึงวิกฤตเป็นเพียง 6 % เท่านั้น ซึ่งมักอยู่ในกลุ่มทารกและเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ
MUST READ วิธี ป้องกันลูกจากโควิด กับ 4 ข้อ ที่พ่อแม่ต้องเพิ่มความระวัง!
MUST READ ภาวะ MIS-C หลังเด็กหายป่วยโควิด โรคอันตรายที่พ่อแม่ต้องรู้!!
ส่วนอาการที่เข้าข่ายสงสัยว่า เด็กติดโควิด หรือไม่ จะพิจารณาเบื้องต้นจากอุณหภูมิร่างกายที่สูงกว่า 37.5 องศาเซลเซียส (แต่พบว่าเด็กติดเชื้อราว 40 -56 % ไม่มีไข้) มีอาการเจ็บคอ ไอ มีน้ำมูก หายใจเร็ว หอบเหนื่อย พร้อมกับการสอบสวนโรคว่ามีการเดินทางในพื้นที่เสี่ยง หรือสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ เช่น อยู่บ้านเดียวกัน คุณพ่อคุณแม่เคยพาไปตลาด ห้างสรรพสินค้า เดินทางด้วยรถสาธารณะ หรือสถานที่ชุมชนอื่นๆ
ฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ และทุกคนในบ้านต้องระมัดระวังการใช้ชีวิตนอกบ้านให้มากขึ้น ทั้ง การเดินทาง การพบปะผู้คนในที่ทำงาน ช้อปปิ้ง กิจกรรมต่างๆนอกบ้าน หรือแม้แต่การแวะเวียนมาของคนนอกครอบครัวที่อาจต้องดูแลเป็นพิเศษด้วย
แหล่งข้อมูล www.si.mahidol.ac.th www.bbc.com www.dailynews.co.th news.thaipbs.or.th
บทความน่าสนใจอื่นๆ
โควิดรอบใหม่ ไร้อาการ ปอดอักเสบ หมอย้ำ “ติดง่ายเป็นหนัก” วัยทำงานต้องระวัง
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่