รู้จัก5สายพันธุ์ไวรัสตับอักเสบก่อนสายกลายเป็น มะเร็งตับ!! - Amarin Baby & Kids
มะเร็งตับ

รู้จัก5สายพันธุ์ไวรัสตับอักเสบก่อนสายกลายเป็น มะเร็งตับ!!

Alternative Textaccount_circle
event
มะเร็งตับ
มะเร็งตับ

ABCDE วันนี้ไม่ได้มาชวนเรียนภาษา แต่จะพามารู้จักกับไวรัสตัวร้ายสาเหตุของ มะเร็งตับ คร่าชีวิตคนไทย ไวรัสตับอักเสบทั้ง 5 ชนิดที่ควรรู้จักไว้ก่อนสาย

รู้จัก5สายพันธุ์ไวรัสตับอักเสบก่อนสายกลายเป็น มะเร็งตับ!!

ในปีพ.ศ. 2561 มีรายงานว่าไทยมีผู้ป่วยมะเร็ง 80,665 ราย โรคมะเร็งตับถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 จากปัญหาโรคมะเร็งที่มีอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นของประเทศ โดยมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งตับ 15,912 ราย และเมื่อเร็ว ๆ นี้จากการที่มีนักแสดงไทยพึ่งเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งตับ จึงทำให้เกิดการตื่นตัวขึ้นในสังคมถึงการตระหนักถึงภัยร้ายที่เราควรหันมาใส่ใจกับสุขภาพของตนเอง และคนในครอบครัวที่นับว่าไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลยสักนิด

มะเร็งตับ…โรคร้ายอันตรายถึงชีวิต

     มะเร็งตับ เป็นโรคมะเร็งที่เกิดขึ้นในเนื้อตับ ซึ่งเกิดจากเซลล์ตับที่มีการเจริญเติบโตผิดปกติจนกลายเป็นเนื้องอกร้าย เรียกว่า มะเร็งเซลล์ตับ (hepatocellular carcinoma) และถ้าเนื้องอกเกิดจากเซลล์บุท่อน้ำดีเจริญเติบโตผิดปกติจะเรียกว่า มะเร็งท่อน้ำดี (cholangiocarcinoma) ในขณะที่เนื้องอกร้ายในเนื้อตับของผู้ป่วยบางรายเกิดจากเซลล์มะเร็งที่มีต้นกำเนิดในอวัยวะอื่นแล้วแพร่กระจายมายังตับ เรียกมะเร็งกลุ่มนี้ว่า มะเร็งตับแพร่กระจาย (metastatic liver cancer) ซึ่งอาจมีต้นตอของเซลล์มะเร็งมาจากเนื้องอกร้ายของตับอ่อน กระเพาะอาหาร ลำไส้ เต้านม หรือปอด เป็นต้น

ภัยเงียบจากไวรัสตัวร้าย นำพามะเร็งตับ

รู้หรือไม่ว่า นอกจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งตับแล้ว ยังมีอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้เจ้าโรคมะเร็งตับตัวร้ายมาเยือนเราได้ แม้ว่าเราจะดูแลรักษาตัวเองเป็นอย่างดีก็ตาม นั่นคือ เจ้าไวรัสตับอักเสบ ขึ้นชื่อว่าไวรัสแล้วนั้น ย่อมมีอยู่ทั่วไปรอบ ๆ ตัวเรา และที่สำคัญมันไม่ได้มีแค่ชนิดเดียว ไวรัสตับอักเสบหลากหลายสายพันธุ์นี้นอกจากจะนำพาโรคร้ายอย่าง มะเร็งตับแล้วยังเป็นตัวนำโรคต่าง ๆ ที่ร้ายไม่แพ้กันมาสู่เราได้อีกด้วย

ทำความรู้จักกับไวรัสตับอักเสบชนิดต่าง ๆ 

ขอขอบคุณคลิปจาก Siriraj Pr รายการ พบหมอศิริราช ออกอากาศวันที่ 16/7/2560

โรคไวรัสตับอักเสบ เป็นโรคติดต่อโรคหนึ่งที่เราได้ยินชื่ออยู่บ่อย ๆ แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่าแท้ที่จริงโรคไวรัสตับอักเสบติดต่อกันอย่างไร มีกี่ชนิด มีวิธีการตรวจและรักษาอย่างไร และอาจนำพาไปสู่โรคร้ายใดได้บ้าง มาร่วมฟังคำอธิบายต่างๆ นี้จาก อ.นพ. สุพจน์ นิ่มอนงค์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล

อยากขอเน้นย้ำตรงจุดนี้ไว้ว่า โรคไวรัสตับอักเสบนั้นเป็นโรคติดต่อจากคนหนึ่งสู่อีกคนได้ค่อนข้างง่าย ถือว่าเป็นเรื่องที่คนในปัจจุบันยังให้ความใส่ใจระมัดระวังไม่ดีเท่าที่ควร เราควรมาทำความรู้จักกับไวรัสชนิดนี้ เพราะมันไม่ได้มีเพียงแค่ ไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี เท่านั้น แต่แท้จริงแล้วไวรัสตับอักเสบนั้นมีหลายสายพันธุ์ หลายชนิด มาดูว่ามีอะไรบ้าง และติดต่อกันได้อย่างไร จะได้เพิ่มความไม่ประมาทซึ่งเป็นข้อดีในการป้องกันการเกิดโรค

ไวรัสตับอักเสบชนิด เอ(A)

การติดต่อ : ไวรัสตับอักเสบชนิด เอ เกิดจากการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป ผัก ผลไม้ และน้ำดื่ม จึงไม่ควรรับประทานของร่วมกัน
ต้นเหตุแห่งโรค : เด็กมักจะมีอาการน้อย ผู้ใหญ่จะมีอาการชัดเจนของตับอักเสบเฉียบพลัน เชื้อนี้จะออกมากับอุจจาระของผู้ป่วยตั้งแต่ในระยะ สัปดาห์ก่อนมีอาการ จนถึงระยะที่มีอาการของโรค เชื้อไวรัสนี้จะทนอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นาน ทำให้พบมีการระบาดในชุมชน กลุ่มคนที่รวมกันตาม โรงเรียน หอพัก ค่ายทหาร เป็นต้น ตับอักเสบจากไวรัส เอ เมื่อเป็นแล้วจะหายเป็นปกติ ไม่เป็นพาหะไม่เรื้อรัง ร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นได้หลังจากฟื้นตัว อัตราการตายต่ำมาก

ไวรัสตับอักเสบชนิด บี(B)

พบคนที่เป็นพาหะ(Carrier) ของเชื้อไวรัสนี้ ในประชากรโลกกว่า 200 ล้านคน ประเทศไทยมีความชุกของพาหะร้อยละ 8-10 คือ ประมาณ ล้านคนที่มีเชื้อไวรัสนี้ในร่างกาย

การติดต่อ : พบเชื้อได้ในเลือด น้ำเหลือง สิ่งคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ เช่น น้ำอสุจิ น้ำในช่องคลอด น้ำลาย น้ำตา น้ำนม ทำให้มีโอกาสแพร่เชื้อได้หลายทาง ทางเข้าของเชื้อได้แก่
1. ทางเพศสัมพันธ์ กับผู้เป็นพาหะของเชื้อนี้
2. ทารกคลอดจากมารดาที่เป็นหาหะ อาจติดเชื้อระหว่างคลอด การเลี้ยงดู
3. ทางเลือดและน้ำเหลือง การได้รับเลือดของผู้ที่เป็นพาหะอาจเกิดจากการใช้เข็มฉีดยาเสพติดเข้าเส้นร่วมกัน การฝังเข็มการสักการเจาะหูที่ไม่สะอาด การใช้ใบมีดโกน แปรงสีฟันร่วมกัน เป็นต้น
4. ทางผิวหนังที่เกิดบาดแผล ผิวหนังถลอก
5. ทางสัมผัสใกล้ชิด (Close contact) ระหว่างพาหะกับผู้อื่น เช่นสมาชิกในครอบครัว เด็กวัยเรียน เป็นต้น

ต้นเหตุแห่งโรค : พาหะของเชื้อไวรัสตับอักเสบบีนี้ มักไม่มีอาการแต่สามารถแพร่เชื้อต่อไป ส่วนหนึ่งอาจป่วยเป็นตับอักเสบเรื้อรัง ตับแข็ง มะเร็งตับได้ ผู้เป็นพาหะของเชื้อนี้มีโอกาสเสี่ยงของมะเร็งตับสูงกว่าคนทั่วไปถึง 223 เท่าอย่างไรก็ตาม เราสามารถป้องกันโรคนี้ได้โดยใช้วัคซีน

ไวรัสตับอักเสบชนิด ซี(C)

การติดต่อ : เชื้อไวรัสตับอักเสบซี พบในประชากรทั่วไปประมาณร้อยละ 1 ติดต่อได้โดยทางเลือดและน้ำเหลือง การใช้เข็มฉีดยาร่วมในกลุ่มผู้ติดยาเสพติด นอกจากนี้ อาจติดเชื้อได้ทางเพศสัมพันธ์ 
ต้นเหตุแห่งโรค :  ทำให้เกิดโรคตับอักเสบเฉียบพลัน เชื้อไวรัสนี้ยังทำให้เกิดโรคตับอักเสบเรื้อรังและเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับได้เช่นเดียวกับไวรัสตับอักเสบชนิดบี และยังคงเป็นปัญหาต่อไปตราบเท่าที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคนี้

ไวรัสตับอักเสบชนิด ดี(D)

การติดต่อ : เป็นไวรัสที่ไม่สมบูรณ์ ต้องอยู่ร่วมกับไวรัสตับอักเสบ บี พบเชื้อนี้ในกลุ่มผู้ติดยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้นที่มีเชื้อไวรัส บี

ต้นเหตุแห่งโรค : ตับอักเสบเฉียบพลัน ผู้ป่วยตับเรื้อรังรุนแรงเสี่ยงเสียชีวิตได้

ไวรัสตับอักเสบชนิด อี(E)

การติดต่อ : เชื้อไวรัสนี้แพร่โดยการกิน เช่นเดียวกับไวรัสตับอักเสบ เอ เกิดจากทานอาหารที่ปรุงไม่สุก เช่น เนื้อหมู สัตว์ปีก

ดูแลสุขภาพห่างไกลมะเร็งตับเพื่อลูกน้อย
ดูแลสุขภาพห่างไกลมะเร็งตับเพื่อลูกน้อย

สังเกตอาการ ห้ามละเลย

1. โรคไวรัสตับอักเสบเฉียบพลัน

ระยะเวลา : ส่วนใหญ่มีอาการ 2 – 3 สัปดาห์แต่ไม่เกิน 2 เดือน

อาการ : มีไข้ต่ำ ๆ ปวดเมื่อยตัว และอ่อนเพลียง่ายกว่าปกติ อาจจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เจ็บบริเวณใต้โครงขวาซึ่งเป็นตำแหน่งของตับ ตาเหลือง ตัวเหลือง หรือในบางกรณีเกิดการอักเสบรุนแรงจนเกิดภาวะตับวายเฉียบพลัน และเสียชีวิตได้ถ้าไม่ได้รับการปลูกถ่ายตับ

2. โรคไวรัสตับอักเสบเรื้อรัง

ระยะเวลา : มีเชื้อไวรัสในร่างกายนานกว่า 6 เดือน

อาการ : มักไม่แสดงอาการ ผู้ป่วยจะมีการอักเสบของตับแบบค่อยเป็นค่อยไป และไม่รุนแรง แต่ก็สามารถที่จะทำให้ตับมีการอักเสบมาก และเกิดตับแข็งได้ จนกลายเป็นมะเร็งในที่สุด

การรักษาโรคไวรัสตับอักเสบ

  1. ยาฉีดกลุ่มแพ็กอินเตอร์เฟอรอน ทำหน้าที่กระตุ้นภูมิต้านทานและควบคุมปริมาณไวรัส
  2. ยาต้านไวรัสชนิดรับประทาน ทำหน้าที่กดการสร้างไวรัส ทำให้การอักเสบของตับลดลง

โดยแพทย์จะเลือกยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย เมื่อได้รับการรักษาสมรรถภาพของตับจะดีขึ้นลดความเสี่ยงในการเกิดตับวาย และมะเร็งตับ

รู้ก่อน ชนะแน่ ไม่สายไป

การสังเกตอาการเพื่อให้สามารถรู้ หรือสงสัยว่าจะเป็นโรคตับอักเสบได้ก่อนนั้น ทำให้เราได้รับการตรวจหาเชื้อไวรัส และการรักษาได้ทันท่วงที โอกาสรักษาก็จะได้ผลดีกว่า โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคไวรัสตับอักเสบ คือ มีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการได้รับเชื้อ เช่น มีประวัติใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น หรือเคยใกล้ชิดกับผู้ที่เคยได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบ เมื่อสังเกตว่าตัวเองมีอาการใกล้เคียงดังกล่าวควรรีบไปพบคุณหมอ และแจ้งให้ทราบถึงความเสี่ยงนั้นด้วย เพื่อจะได้รับการเจาะเลือดตรวจหาเชื้อ และการตรวจดูโครงสร้างของตับเพื่อรับการวินิจฉัยต่อไป ไม่ปล่อยไว้จนเชื้อพัฒนา ลุกลาม กลายเป็นมะเร็งตับ

หมั่นล้างมือป้องกันไวรัสสาเหตุ มะเร็งตับ
หมั่นล้างมือป้องกันไวรัสสาเหตุ มะเร็งตับ

การป้องกันการติดเชื้อ ไวรัสตับอักเสบ

  • รักษาอนามัยส่วนบุคคล และส่วนรวมให้ดี ไม่ใช้สิ่งของ หรือทานน้ำ และอาหารร่วมกับผู้อื่น เพราะไวรัสสามารถติดได้ง่าย แม้เพียงแค่น้ำลาย หรือสารคัดคลั่งอื่น ๆ
  • หมั่นล้างมือให้สะอาดก่อนทำกิจกรรมใด ๆ หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับเลือด น้ำเหลือง หรือสารคัดหลั่งของผู้อื่น หรือหากต้องสัมผัส ควรสวมถุงมือ และหลังจากนั้นต้องล้างมือให้สะอาด
  • เลือกรับประทานอาหารที่สุก น้ำดื่มสะอาด ถูกหลักอนามัย
  • ใช้ถุงยางอนามัย เมื่อต้องการมีเพศสัมพันธ์
  • รับวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ ซึ่งในปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอ และบีเท่านั้น

วัคซีนช่วยลดโอกาสเสี่ยง

วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอ(A) ส่วนใหญ่จะฉีดให้กับกลุ่มเสี่ยง เพราะเป็นโรคที่มีอัตราการเสียชีวิตต่ำ และสามารถหายขาดได้เอง และเมื่อเป็นแล้วก็จะมีภูมิคุ้มกัน เช่น ผู้ป่วย และผู้ที่ใกล้ชิดโรคตับอักเสบเรื้อรัง ผู้มีพฤติกรรมรักร่วมเพศ(ชาย) พ่อครัวหรือแม่ครัวที่ปรุงอาหารเป็นประจำ เป็นต้น

การฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอ จะฉีด 2 ครั้ง ห่างกัน 6-12 เดือน

วัคซีนป้องกันไวรัสตับอับเสบบี(B) ปัจจุบันได้มีการให้วัคซีนแก่เด็กแรกเกิดทุกราย และแนะนำให้ทุกคนควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี เพราะมีประสิทธิภาพป้องกันได้ดี

การฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี จะฉีด 3 ครั้ง โดยครั้งที่สองห่างจากครั้งแรก 1-2 เดือน และครั้งที่ 3 ห่างจากครั้งแรก 6 เดือน

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก รพ.ศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ / รพ.วิภาวดี

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

โรคเสี่ยงลูกป่วย ปี 63 รวมโรคเด็ก ที่พ่อแม่ต้องระวัง

RSV อาการ เป็นแบบไหน ไวรัสอาร์เอสวี เกิดจากอะไร หน้าฝนทีไรมาทุกที

ชิคุนกุนยา โรคไข้ปวดข้อยุงลาย 5 จังหวัดนี้ คนป่วยเยอะสุด!

โรค hMPV คือ อะไร? ลงปอดเร็ว ป่วยนานไม่แพ้ RSV

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up