โรคเชื้อราแมว โรคติดเชื้อจากสัตว์เลี้ยง เป็นเรื่องที่พ่อแม่ต้องระวังการเลี้ยงลูกใกล้ชิดสัตว์เลี้ยง รวมไปถึงเห็บหมัดเข้าตาเข้าหูลูกได้ อันตรายแค่ไหนต้องดู!!
โรคเชื้อราแมว แพทย์เตือนเลี้ยงลูกใกล้สัตว์เลี้ยงต้องระวัง!!
ทาสแมวมีผวา เมื่อ โรคเชื้อราแมว สามารถติดจากสัตว์สู่คนได้ การเลี้ยงลูกให้ใกล้ชิดสัตว์เลี้ยงมากจนเกินไปอาจมีโทษได้ แล้วรู้หรือไม่ โรคเชื้อราแมว ใช่ว่าจะติดต่อได้แค่จากแมวเท่านั้น
เชื้อราแมว ใช่ว่ามีแต่ในแมว!!
เชื้อราแมว (Microsporum canis) คือ เชื้อราที่ทำให้แมวเป็นโรคผิวหนัง แมวที่ติดเชื้อจะมีขนหลุดออกมาเป็นหย่อม ๆ ผิวหนังแดง แห้ง ลอกเป็นขุย ๆ และมีการตกสะเก็ดร่วมด้วย ซึ่งผู้ที่ชอบสัมผัสกับแมวโดยไม่ทำความสะอาดหลังจากสัมผัสมีโอกาสเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้ นอกจากแมวแล้วสัตว์เลี้ยงชนิดอื่น ๆ เช่น สุนัข แฮมสเตอร์ ก็สามารถพบการติดเชื้อรานี้ได้เช่นกัน
เชื้อราจากแมว คืออะไร?
เชื้อราจากแมวที่พบได้บ่อยคือเชื้อ Microsporum canis เป็นเชื้อราที่อาศัยอยู่ผิวหนังของสัตว์ โดยไม่ก่อให้เกิดโรค แต่สามารถติดต่อมายังคนได้ผ่านทางการสัมผัสโดยตรง โดยไม่จำเป็นต้องมีบาดแผล ก็ทำให้คนเลี้ยงติดเชื้อราจากแมวได้อย่างง่ายดาย พฤติกรรมที่นำไปสู่การติดเชื้อ เช่น อุ้ม กอด นอนร่วมที่นอนเดียวกัน เป็นต้น
โรคเชื้อราแมว ติดแล้วมีอาการอย่างไร??
- ผื่นแดงขึ้นตามร่างกายทั้งวงเล็ก และวงใหญ่
- มีขุยขึ้นตามบริเวณรอบ ๆ ผื่นแดง
- มีอาการคันตามผื่นแดง
- อาจเกิดผื่นแดงเพิ่มขึ้นเมื่อเกาที่บริเวณผื่นแดง และไปสัมผัสจุดอื่น ๆ บนร่างกาย
- หากมีการติดเชื้อที่หนังศีรษะอาจพบเส้นผมในบริเวณที่ติดเชื้อร่วงเป็นหย่อม
การรักษาเมื่อติดเชื้อ
- สำหรับที่ผิวหนัง
– ให้ทายาฆ่าเชื้อราที่ได้รับจากแพทย์อย่างต่อเนื่อง โดยอาการต่าง ๆ จะดีขึ้นภายใน 3 สัปดาห์
– หากพบผื่นจำนวนมาก แพทย์อาจให้รับประทานยาต้านเชื้อราควบคู่กับการทายาฆ่าเชื้อราไปด้วย - สำหรับการติดเชื้อบนหนังศีรษะ
แนะนำให้รับประทานยาต้านเชื้อราตามที่แพทย์สั่งอย่างต่อเนื่อง การใช้ยาทา หรือแชมพูฆ่าเชื้อราเพียงอย่างเดียวอาจมีประสิทธิภาพในการรักษาไม่เพียงพอ
กลุ่มเสี่ยงของการติดเชื้อจากสัตว์เลี้ยง
- ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรง
- เด็ก
- ผู้สูงอายุ
ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : อ. ดร. พญ.กรวลี มีศิลปวิกกัย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย /www.rama.mahidol.ac.th
โรคติดเชื้อจากสัตว์เลี้ยงแสนรัก ที่ต้องระวัง!!
สัตว์เลี้ยงแสนรัก สัตว์แต่ละชนิด หลากหลายประเภทที่แตกต่างกันไปตามความชอบของแต่ละบุคคล สัตว์เลี้ยงที่มนุษย์นิยมนำมาเป็นสัตว์เลี้ยง เพื่อคลายเหงา เป็นเพื่อนยามยากที่นิยมเลี้ยงกัน ได้แก่ สุนัข แมว กระต่าย นก เป็นต้น แต่รู้หรือไม่สัตว์เลี้ยงก็อาจเป็นแหล่งเชื้อโรคของโรคหลายชนิด โดยเฉพาะโรคติดเชื้อต่าง ๆ จากสัตว์สู่คน
สิ่งที่อยู่ในสัตว์เลี้ยงที่ทำให้เกิดโรค
- เชื้อรา
- ไวรัส
- แบคทีเรีย
- ปรสิต (เห็บ หมัด ไร)
โดยที่เชื้อโรคเหล่านี้บางตัวไม่ได้ทำให้เกิดโรคในสัตว์ แต่เมื่อเชื้อโรคเหล่านี้ติดมายังคนสามารถทำให้เราเป็นโรคติดเชื้อที่ร้ายแรงได้ โดยจะมีโรคอะไรบ้างที่เราต้องระวัง อันนอกเหนือจากโรคเชื้อราแมวที่กล่าวถึงข้างต้น ในที่นี้จะขอกล่าวถึงโรคติดเชื้อที่พบบ่อยที่มาจากสัตว์เลี้ยงที่มนุษย์นิยมเลี้ยง ได้แก่
โรคท้องเสียจากเชื้อแบคทีเรีย
มีเชื้อแบคทีเรียหลายชนิดสามารถติดต่อจากสุนัข หรือแมวมายังคนได้ที่พบบ่อยเช่น เชื้อ campylobacter เชื้อ salmonella การติดเชื้อเกิดจากการที่คนไปสัมผัสกับมูลของสัตว์แล้วไม่ได้ล้างมือให้สะอาดก่อนหยิบอาหารเข้าปาก อาการที่พบคืออาจมีไข้ปวดท้อง ถ่ายเหลว รวมถึง อาจถ่ายเป็นมูกเลือดได้ ในผู้ป่วยที่ภูมิคุ้มกันปกติมักจะหายเองได้การรักษาเป็นเพียงการรักษาแบบประคับประคองให้น้ำ และเกลือแร่ให้เพียงพอ ในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือในเด็กเล็ก อาจมีอาการรุนแรงได้ เช่นมีการติดเชื้อในกระแสเลือด แล้วไปมีการติดเชื้อตามอวัยวะต่าง ๆ เช่น เชื้อ salmonella อาจทำให้เกิด ิ หรือการติดเชื้อในข้อ หรือในกระดูก
โรคพิษสุนัขบ้า
โรคนี้มีการระบาดในปีที่ผ่านมา โรคนี้นับเป็นโรคที่ร้ายแรงมาก เพราะถ้าคนเป็นมีโอกาสเสียชีวิตเกือบ 100% โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัส rabies คนสามารถติดเชื้อโดยถูกสัตว์กัด หรือถูกสัตว์เลียที่บริเวณเยื่อเมือกหรือบริเวณแผลเปิด โดยเชื้อไวรัสนี้พบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด ซึ่งหมายความว่า พบได้ในสุนัขแมว หนูค้างคาว เป็นต้น ผู้ป่วยที่ติดเชื้อจะมีอาการกลืนไม่ได้ มีน้ำลายไหลมาก กลัวแสง กระสับกระส่าย มีพฤติกรรมก้าวร้าว แล้วซึมลงในที่สุด การป้องกันโรคนี้ทำได้โดย
- พาสัตว์เลี้ยงที่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเป็นประจำ
- หากถูกสัตว์กัด ควรรีบล้างแผลด้วยน้ำสบู่อย่างน้อย 15 นาที แล้วรีบฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า รวมถึงรับอิมมูนโกลบูลิน
- ถ้าสังเกตอาการของสุนัข หรือแมวที่กัดได้ ควรสังเกตอย่างน้อย 10 วัน ถ้าภายใน 10 วัน สัตว์เสียชีวิต ควรติดต่อทางสถานเสาวภา เพื่อนำสัตว์ไปตรวจว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้าหรือไม่
การติดเชื้อพยาธิของสัตว์
เชื้อพยาธิของสุนัขหรือแมวอาจมาติดคนได้โดยไข่ของพยาธิปนเปื้อนมากับมูลของสัตว์เหล่านี้ แล้วคนติดโดยการกินไข่ของพยาธิเข้าไป อาการที่พบคือตัว พยาธิจะไชไปตามที่ต่าง ๆ เช่นที่ผิวหนังก็จะทำให้เกิด อาการคัน อาจไปที่ทางเดินหายใจ ทำให้มีอาการ ไอ หอบเป็นต้น ถ้าไปที่ตา ก็จะทำให้การมองเห็นผิดปกติได้
โรคทอกโซพลาสโมซิส (Toxoplasmosis)
โรคนี้เกิดจากเชื้อปรสิตชื่อว่า Toxoplasma โดยปกติจะพบเชื้อนี้ในอุจจาระของแมว คนติดเชื้อนี้จากแมวโดยไปสัมผัสมูลของแมวแล้วไม่ล้างมือให้สะอาดก่อนหยิบอาหารเข้าปาก หรือเชื้อจากมูลของแมวไปปนเปื้อนในดินและในผักที่รับประทาน ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันปกติอาจไม่มีอาการ หรือมีอาการไข้ต่อมน้ำเหลืองที่คอโตแล้วหายเอง ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ อาจทำให้มีอาการปอดอักเสบ ที่สำคัญคือมีการติดเชื้อในสมองทำให้มีอาการอ่อนแรงของแขนขาได้ ในหญิงตั้งครรภ์ถ้าติดเชื้อนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ จะทำให้ทารกในครรภ์ติดเชื้อนี้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ได้ซึ่งอาจแท้งได้ ทารกที่เกิดมาอาจมีความพิการแต่กำเนิด เช่น มีการอักเสบของจอประสาทตา มีศีรษะเล็ก มีอาการชัก มีตับ ม้ามโต เป็นต้น ทารกบางคนที่ติดเชื้ออาจไม่แสดงอาการตอนแรกเกิด แต่มามีอาการในวัยเด็ก เช่น มีอาการชัก พัฒนาการช้า ตาบอด เป็นต้น ดังนั้นจึงมีการแนะนำว่าหญิงตั้งครรภ์ ไม่ควรไปสัมผัสมูลของแมว
โรคซิตาโคซิส (Psittacosis)
เป็นโรคที่ติดจากนกที่เลี้ยง เช่น นกแก้ว นกพาราคีท โรคนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรียกลุ่มที่เรียกว่า คลามัยเดีย (Chlamydia psittaci) เชื้ออาจพบในมูลของนก ตามขนของนก แล้วคนหายใจเอาเชื้อนี้เข้าไป อาการของโรคจะคล้ายกับไข้หวัดใหญ่ คือมีไข้สูง ปวดเมื่อยตามตัว ไอแห้ง ๆ เจ็บหน้าอก มีอาการของปอดอักเสบ เป็นต้น
โรคฉี่หนู (Leptospirosis)
โรคนี้ตามชื่อเกิดจากการสัมผัสปัสสาวะของหนู เช่น ไปย่ำน้ำที่มีการปนเปื้อนของปัสสาวะหนู แต่พบว่าสามารถพบในปัสสาวะสุนัขได้เช่นกัน เชื้อนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรียกลุ่มเลปโตสไปรา (leptospira) อาการที่เกิด คือ มีไข้สูง ปวดน่อง ตาแดง ในรายที่อาการรุนแรงอาจมีภาวะไตวาย ตับอักเสบ และไอเป็นเลือดได้
การป้องกันโรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คน
- พาสัตว์เลี้ยงไปตรวจกับสัตวแพทย์ และให้วัคซีนในสัตว์ตามกำหนด
- ล้างมือ ฟอกสบู่ให้สะอาดทุกครั้งหลังสัมผัสสัตว์เลี้ยง
- หากถูกสัตว์กัด และมีแผลลึก มีเลือดออกควรไปพบแพทย์
ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก ผู้เขียน : อ. นพ.นพพร อภิวัฒนากุล ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
เด็ก!! เสี่ยงติด “โรคพิษสุนัขบ้า” โรคที่ไม่ได้เกิดจากแค่สุนัข
พ่อแม่ต้องรู้!! อาการโอไมครอนในเด็ก เจอสัญญาณต่อไปนี้ พบแพทย์ทันที
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่