ลูก "แพ้น้ำลายยุง" มีจริงไหม? อาการแบบไหนเรียกแพ้ยุง? - Amarin Baby & Kids
แพ้น้ำลายยุง

ลูก “แพ้น้ำลายยุง” มีจริงไหม? อาการแบบไหนเรียกแพ้ยุง?

Alternative Textaccount_circle
event
แพ้น้ำลายยุง
แพ้น้ำลายยุง

จากข่าว “น้องพูม่า” ลูกของคุณ “พลอย พลอยพรรณ” ที่มีอาการปากบวมเจ่อเพราะถูกยุงกัด ทราบหรือไม่ว่า อาการแพ้ยุงนั้น ไม่ได้มีแค่ปากบวมเจ่อ แต่คนที่โดนยุงกัดจนขาลาย ก็เรียกได้ว่า แพ้น้ำลายยุง เช่นกัน

ลูก “แพ้น้ำลายยุง” มีจริงไหม? อาการแบบไหนเรียกแพ้ยุง?

แพ้น้ำลายยุง เรื่องเล็ก ๆ ที่ไม่เล็ก

ยุง ศัตรูตัวร้ายที่อยู่คู่คนไทยมาช้านาน ยุงที่นอกจากจะสร้างความรำคาญแล้ว ยังอาจทำให้เกิดโรคร้ายแรง เช่น โรคไข้เลือดออก โรคชิคุนกุนยา ที่เมื่อเป็นแล้วอาจจะอันตรายถึงชีวิตได้ ในกรณีที่ลูกโดนยุงกัดและยุงตัวนั้นไม่ได้เป็นพาหะของโรคต่าง ๆ ก็ไม่ใช่ว่าแม่ ๆ จะนิ่งนอนใจได้ เพราะ ยุงก็อาจทำให้ลูกทรมานจากอาการแพ้ยุงได้ ดังเช่นกรณีของ น้องพูม่า ลูกแม่ พลอย พลอยพรรณ ได้ ดังข่าวต่อไปนี้

ทำเอาหัวอกคนเป็นแม่อย่าง “พลอย พลอยพรรณ” แทบจะไม่อยู่กับเนื้อกับตัว เมื่อจู่ ๆ ตื่นมาก็เจอกับสภาพลูกชายคนเล็ก “น้องพูม่า” ปากบนบวมเจ่อแบบน่ากลัวมากๆ โดยที่ไม่รู้สาเหตุว่าเกิดจากอะไร จนตัวเองต้องรีบหอบลูกไปส่งโรงพยาบาลทันที ก่อนที่จะออกมาโพสต์อัพเดตอาการหลังได้รับการตรวจจากคุณหมอว่าลูกชายโดนยุงกัด

น้องพูม่า ปากบวม
น้องพูม่า ปากบวม

โดยวันนี้ 6 พฤศจิกายน 2563 หลังจากสาวพลอยเดินทางกลับจากโรงพยาบาล ทีมข่าวอมรินทร์ทีวีก็มุ่งหน้าไปอัพเดตกับคุณแม่ทันที ว่าที่มาที่ไปของเหตุการณ์ระทึกใจยามเช้าคืออะไร เจ้าตัวก็เล่าให้ฟังว่าช่วงตี 3 “น้องพูม่า” ตื่นขึ้นมาพร้อมกับพี่เลี้ยง ซึ่งตอนนั้นพี่เลี้ยงบอกว่าปากน้องยังปกติ แต่เมื่อเวลาผ่านไปประมาณตี 4-5 ปากก็เริ่มบวมเปล่งขึ้น วินาทีแรกที่เห็นปากลูกก็ตกใจมากเพราะทั้งบวมทั้งเจ่อผิดปกติ แต่ยังไม่กล้าสรุปว่าโดนอะไรกัด จึงลองสัมผัสดูก็พบว่ามีความอุ่น ๆ ตรงจุดที่บวม คาดว่าน่าจะเป็นผลข้างเคียงของพิษ ซึ่งใจลึกๆก็คิดว่าเป็นกิ้งกือขนาดเล็กที่ตนเคยเจอในบ้านเมื่อหลายวันที่ผ่านมา บวกกับ “น้องพูม่า” ชอบลงมานอนเล่นบนพื้นกับพี่เลี้ยงด้วย จึงให้ทานยาแก้แพ้ไปก่อนที่จะออกจากบ้านไปโรงพยาบาล

ขอบคุณข้อมูลจาก : Instagram – apoptoday

แพ้น้ำลายยุง คืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร?

อาการแพ้น้ำลายยุง คืออาการแพ้อย่างหนึ่ง ซึ่งเกิดจากการที่ถูกยุงกัด เพราะในขณะที่ยุงกัด น้ำลายของยุงจะมีสารเคมีชนิดหนึ่ง ที่ทำให้ร่างกายมีปฏิกิริยาแพ้ รวมทั้งความสกปรกจากน้ำลายยุงอีกเช่นกัน เนื่องจากขณะที่ยุงดูดเลือด มันจะปล่อยโปรตีนซึ่งมีผลกับการแข็งตัวของเลือดออกมา เพื่อทำให้การดูดเลือดของมันสะดวกขึ้น ซึ่งในน้ำลายของยุงมีสารโปรตีนที่เป็นสาเหตุของผื่นคันและอาการแพ้ จนทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังของเรานั่นเอง

รู้ได้อย่างไรว่าลูกแพ้น้ำลายยุง?

โดยปกติแล้วเด็กทั่วไป อาการแสดงได้หลายรูปแบบ และอาการขึ้นกับปริมาณยุงที่กัดด้วย ส่วนใหญ่เมื่อโดนกัดซ้ำหลาย ๆ ครั้ง อาการมักจะน้อยลง โดยทั่วไปจะเห็นเป็นตุ่มนูน แดง คัน ขึ้นอยู่นานประมาณ 20 นาที และค่อย ๆ ยุบไปได้เอง ตำแหน่งที่พบบ่อยคือบริเวณขา ซึ่งอาการเหล่านี้ไม่ถือว่าเป็นการแพ้ แต่เป็นปฏิกริยาต่อน้ำลายยุงเท่านั้น และเมื่อตุ่มนูนแดงยุบแล้ว ผิวบริเวณที่โดนกัดก็จะไม่ทิ้งร่องรอยจากการโดนกัดไว้นาน แต่เด็กที่แพ้น้ำลายยุงนั้น เมือถูกกัด จะมีอาการใดอาการหนึ่ง ต่อไปนี้

  • พบตุ่มนูนแดงคงอยู่นานหลายวัน หรือพบตุ่มนูนแดงขนาดใหญ่ (บางครั้งใหญ่เกิน 5 เซนติเมตร)
  • มีตุ่มน้ำพอง จ้ำเลือด ในบริเวณที่โดนกัด
  • มีอาการคันมาก
  • เมื่อหายแล้วจะทิ้งรอยดำไว้ในบริเวณที่โดนกัด
  • มีอาการเหมือนอาการแพ้ทั่วไป เช่น มีผื่นขึ้น ตาบวม ปากบวม เป็นต้น
  • ในบางรายมีผื่นลมพิษทั่วตัวหรือลมพิษชนิดลึกร่วมกับมีอาการหมดสติได้ ซึ่งในกลุ่มนี้มักมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนจากการแกะเกาและมีรอยดำตามมาได้บ่อย
แพ้ยุง
แพ้ยุง

ใครบ้างที่เสี่ยงแพ้ต่อการยุง?

  • เด็กเล็กซึ่งยังไม่เคยโดนยุงกัดมาก่อนเนื่องจากมีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติต่อยุงน้อย มักพบบ่อยในเด็กอายุ 2-10 ขวบ จะสังเกตเห็นว่าเด็กมักมีผื่นยุงกัดมากกว่าผู้ใหญ่ หรือนักท่องเที่ยวที่ไม่เคยสัมผัสกับยุงในสถานที่นั้นๆมาก่อน
  • คนที่มีโรคเกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกันเช่น โรคเอดส์ โรคมะเร็งเม็ดเลือดบางชนิด
  • คนที่ใช้ชีวิตหรือทำงานนอกบ้านเป็นส่วนใหญ่

ทำอย่างไรเมื่อลูกถูกยุงกัด?

เมื่อลูกถูกยุงกัด วิธีการบรรเทาอาการคัน บวม และแดงคือจะต้องทำสิ่งเหล่านี้ให้เร็วที่สุดหลังจากถูกยุงกัด

  • ล้างทำความสะอาด ผิวหนังบริเวณที่ถูกยุงกัดด้วยสบู่และน้ำอุ่นทันทีที่รู้ว่าลูกถูกยุงกัด
  • ทายา ที่เป็นเนื้อครีมหรือโลชั่นซึ่งหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไปลงบนผิวบริเวณที่ถูกยุงกัด เช่น คาลาไมน์ (Calamine) และไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone) เพื่อลดอาการคัน หรือป้ายผิวหนังบริเวณนั้นด้วยเบกกิ้งโซดาผสมกับน้ำ แล้วทาครีมเหล่านี้ซ้ำวันละหลาย ๆ ครั้งจนกว่าอาการจะดีขึ้นและหายไป
  • ประคบเย็น ไปบนผิวหนังบริเวณที่ถูกยุงกัด อาจใช้ถุงน้ำแข็ง หรือผ้าเปียกชุบน้ำเย็นประคบเป็นเวลา 2-3 นาที เพื่อบรรเทาอาการ
  • รับประทานยา หากมีอาการรุนแรงพอสมควร ผู้ป่วยอาจรับประทานยาแก้ปวด หรือยาต้านฮิสตามีน (Antihistamine) เพื่อลดอาการแพ้ที่เกิดขึ้น แต่หากอาการยังไม่ดีขึ้น มีอาการรุนแรงมากขึ้น หรือมีอาการที่เป็นสัญญาณของการติดเชื้อ ควรรีบไปพบแพทย์ในทันที
  • ตัดเล็บให้สั้น และหลีกเลี่ยงการเกาตุ่มที่ถูกยุงกัด เพื่อป้องกันการเกิดแผลและการติดเชื้อ

แต่วิธีการเหล่านี้เป็นเพียงวิธีที่ช่วยบรรเทาอาการคัน บวม และแดงจากการถูกยุงกัดเท่านั้น หากลูกแพ้ยุง ลูกก็จะยังทรมานจากการโดนยุงกัดอยู่ดี ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดคือการป้องกันไม่ให้ลูกถูกยุงกัดค่ะ

ยุง
ยุง

วิธีป้องกันไม่ให้ลูกถูกยุงกัด

แม้การป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัดเลยจะเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก เพราะยุงเป็นสัตว์ที่มีขนาดเล็ก และมีการแพร่ขยายพันธุ์ได้ทั่วไป แต่คนทั่วไปสามารถลดความเสี่ยงที่จะเผชิญกับปัญหายุงกัดและการติดเชื้อโรคต่าง ๆ ที่มียุงเป็นพาหะได้ เช่น

  • หลีกเลี่ยงการอยู่อาศัยใกล้แหล่งน้ำนิ่งที่อาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุง
  • หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมนอกบ้านหากไม่จำเป็น ทายากันยุงเมื่ออยู่ในบริเวณที่เสี่ยงต่อการถูกยุงกัด
  • คว่ำภาชนะที่มีน้ำขัง เปลี่ยนน้ำในภาชนะของสัตว์เลี้ยงเป็นประจำ ไม่ปล่อยให้มีน้ำขังในภาชนะใด ๆ ที่อยู่ในบริเวณบ้าน
  • ใส่ทรายกำจัดลูกน้ำยุงลายในภาชนะที่มีน้ำ อย่างแจกันดอกไม้ โดยใช้ทรายในอัตราส่วนประมาณ 1 กรัม/น้ำ 10 ลิตร
  • กำจัดยางรถยนต์หรือภาชนะที่อาจทำให้มีน้ำท่วมขังจนกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงได้
  • ตัดหรือถางหญ้าให้สั้นและโล่งเตียน เพื่อป้องกันแหล่งที่มียุงอยู่ ชุกชุม
  • ไม่เปิดหน้าต่างหรือประตูบ้านทิ้งไว้ และติดมุ้งลวดตามประตูหน้าต่าง เพื่อป้องกันไม่ให้ยุงเล็ดลอดเข้ามาภายในบ้าน โดยควรหมั่นตรวจตราให้ประตูหน้าต่างและมุ้งลวดเหล่านั้นอยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานอยู่เสมอ
  • หากต้องนอนในบริเวณที่มียุงอาศัยอยู่ ควรกางมุ้งก่อนนอนเสมอ
  • ฉีดพ่นยากันยุงบริเวณตัวบ้านเป็นระยะ แต่ต้องระมัดระวังในการใช้ เนื่องจากเป็นสารเคมีอันตรายที่อาจเกิดผลข้างเคียงขึ้นได้หากใช้อย่างผิดวิธีหรือไม่ระมัดระวัง
  • หากต้องเดินทางไปในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของยุง ควรแต่งกายให้มิดชิดด้วยเสื้อผ้าแขนยาวขายาว สวมถุงเท้า สวมหมวกคลุมใบหน้าและลำคอที่มีผ้าตาข่ายป้องกันยุง
  • สำหรับผู้ที่มีอาการแพ้ยุงกัดอย่างรุนแรงหรือผู้ที่มีกลุ่มอาการสกีตเตอร์ซินโดรม (Skeeter Syndrome) ควรรับประทานยาต้านฮิสตามีนก่อน เมื่อทราบว่ากำลังต้องไปอยู่ในสถานการณ์หรือสถานที่ที่เสี่ยงต่อการถูกยุงกัด

ชนิดของยาทากันยุง

ยาทากันยุง มีหลายยี่ห้อในท้องตลาด ทั้งแบบครีม โลชั่น สเปรย์ แป้งและแผ่นอาบน้ำยา ซึ่งสารในยาทากันยุงเหล่านี้ จะระเหยเป็นกลิ่นที่ยุงไม่ชอบทำให้ยุงเข้ามากัดเราน้อยลง สารที่นิยมใช้มีดังนี้

  1. DEET (N,N-diethyl-3-methylbenzamide) สามารถทาที่ผิวหนังโดยตรงหรือใช้พ่นที่เสื้อผ้าหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ได้ ระยะเวลาป้องกันยุงขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของสาร โดยถ้าความเข้มข้นน้อยกว่า 10% จะป้องกันยุงได้ประมาณ 1-3 ชั่วโมง ถ้าความเข้มข้น 10-30% ป้องกันยุงได้ประมาณ 4-6 ชั่วโมง ไม่ควรทาบริเวณใกล้ตาหรือผิวหนังที่เป็นแผล ในเด็กเล็กควรใช้สารนี้เมื่ออายุมากกว่า 2 เดือนเพื่อป้องกันผลข้างเคียงต่อระบบประสาทและเลือกใช้ความเข้มข้นที่น้อยกว่า 10%
  2. ตะไคร้หอม สามารถนำมาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย citronella oil และ geraniol ข้อดีคือเป็นสารสกัดจากพืชธรรมชาติ แต่ป้องกันยุงได้ในช่วงสั้นประมาณ 20-30 นาที
  3. น้ำมันยูคาลิปตัส (lemon eucalyptus oil) เป็นสารสกัดจากธรรมชาติเช่นกัน ป้องกันยุงได้ในช่วงประมาณ 2-5 ชั่วโมง
  4. Permethrin นิยมใช้ฉีดพ่นที่ข้าวของเครื่องใช้เช่นเสื้อผ้า รองเท้า มุ้ง สามารถติดทนแม้จะทำการซักไปแล้วหลายครั้ง
  5. Picaridin เป็นสารตัวใหม่ที่นิยมใช้ในต่างประเทศ มีประสิทธิภาพดี ไม่มีกลิ่นและระคายเคืองต่อผิวหนังน้อยกว่า DEET

อ่านต่อ >> เปรียบเทียบสารสำคัญในสเปรย์กันยุงและแผ่นแปะกันยุง ซื้ออย่างไร แบบไหนดี?

ไม่ว่าลูกจะ แพ้น้ำลายยุง หรือไม่ก็ตาม การป้องกันไม่ให้ลูกถูกยุงกัดเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำที่สุด เพราะลูกจะได้ไม่ต้องเสี่ยงกับการเป็นโรคร้ายต่าง ๆ เช่น โรคไข้เลือดออก โรคชิคุนกุนยา โรคมาลาเรีย เป็นต้น

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

สารพัดวิธีกำจัดยุงร้าย ใกล้ลูกน้อยแบบปลอดภัย

3เก็บ ป้องกัน 3โรคจาก ยุงลาย รีบทำก่อนลูกป่วย!!

วิธีกำจัดยุง โดยไม่ใช้สารเคมี ลูกน้อยปลอดภัยจากยุงร้าย

โรคติดเชื้อไวรัสซิกา ระบาดหนัก!! เตือนแม่ท้องระวังยุงลาย

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, ผศ.พญ.นฤมล ศิลปอาชา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, พบแพทย์, healthline.com

ขอบคุณภาพจาก : www.instagram.com/purploy

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up