โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง SMA โรคหายากในเด็ก - Amarin Baby & Kids
โรคกล้ามเนื้อ่อนแรงsma

โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง SMA โรคทางพันธุกรรมที่ไม่ควรมองข้าม

Alternative Textaccount_circle
event
โรคกล้ามเนื้อ่อนแรงsma
โรคกล้ามเนื้อ่อนแรงsma

โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง SMA เป็นโรคหายากที่เกิดจากความผิดปกติของกรรมพันธุ์ในยีนด้อย ความผิดปกติทางพันธุกรรมดังกล่าวส่งผลต่อระบบประสาทและกล้ามเนื้อ ทำให้เซลล์ประสาทสั่งการสูญเสียการส่งสัญญาณจากไขสันหลังไปยังกล้ามเนื้ออย่างต่อเนื่อง เป็นโรคที่หายากสามารถเกิดได้ในเด็กและเด็กแรกเกิด และมีโอกาสพบได้บ่อยเป็นอันดับสองรองจากโรคธาลัสซีเมีย ทางทีมแม่ ABK จึงมีข้อมูลดี ๆ ที่เกี่ยวกับ โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง SMA จากคุณหมอผู้เชี่ยวชาญมาฝากคุณแม่ค่ะ

โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง SMA

กระทรวงสาธารณสุขให้คำจำกัดความของ “โรคหายาก” ว่าเป็นโรคที่มีจำนวน ผู้ป่วยภายในประเทศไทยน้อยกว่า 10,000 ราย จึงมักถูกละเลยเนื่องจากเป็นโรคที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักหรือไม่มีผลกระทบต่อคนส่วนมาก แต่แท้จริงแล้ว มีการคาดการณ์ว่าจำนวนผู้ป่วยโรคหายากที่มีอยู่รวมกันกว่า 7,000 โรค อาจมีสูงถึง 300 ล้านคนทั่วโลก ดังนั้น การสร้างความตระหนักและผลักดันการรักษาที่มีประสิทธิภาพให้กับผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากโรคหายากจึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก เพื่อให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น ได้รับการฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจอย่างเหมาะสม ขณะเดียวกันยังช่วยลดผลกระทบต่อเศรษฐสถานะของผู้ป่วย ครอบครัวและสังคม อย่างไรก็ตาม การรักษาโรคหายากยังคงเป็นสิ่งที่สังคมอาจมองข้าม เนื่องจากขาดแคลนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและต้องอาศัยเทคโนโลยี งบประมาณในการวิจัยและพัฒนา อีกทั้งความเชี่ยวชาญขั้นสูงด้านการคัดกรอง วินิจฉัย และรักษา

ทั้งนี้ เนื่องในโอกาสวันโรคหายากสากล ซึ่งตรงกับวันที่ 28 กุมภาพันธ์ของทุกปี โรช ไทยแลนด์ ได้ร่วมมือกับมูลนิธิโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงแห่งประเทศไทย F)E)N)D) เพื่อสร้างองค์ความรู้และรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักให้กับผลกระทบของโรคหายาก โดยเฉพาะโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ซึ่งเป็นโรคหายากที่พบในทารกแรกเกิดและเด็ก

โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Spinal Muscular Atrophy: SMA) เป็นโรคหายากที่เกิดจากความผิดปกติของกรรมพันธุ์ในยีนด้อย หากบิดาหรือมารดาเป็นพาหะทั้งคู่ ย่อมมีโอกาสสูงถึง 1 ใน 4 ที่บุตรจะมีโอกาสเป็นโรคนี้ ความผิดปกติทางพันธุกรรมดังกล่าวส่งผลต่อระบบประสาทและกล้ามเนื้อ ทำให้เซลล์ประสาทสั่งการสูญเสียการส่งสัญญาณจากไขสันหลังไปยังกล้ามเนื้ออย่างต่อเนื่อง อุบัติการณ์โดยประมาณของโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง SMA พบได้ในเด็กแรกเกิดทั่วโลกจำนวน 1 คน

ในประชากร 10,000 คนในแต่ละปี และอัตราของคนที่เป็นพาหะอยู่ที่ 1:40–1:60 คน โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงมีโอกาสพบได้บ่อยเป็นอันดับสองรองจากโรคธาลัสซีเมีย อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการเสียชีวิตในทารกและเด็กเล็ก หากไม่ได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องหรือไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง SMA

รศ.พญ.อรณี แสนมณีชัย กรรมการมูลนิธิโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง อาจารย์ประจำสาขาระบบประสาทวิทยา ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า “ในปัจจุบันยังไม่มีการลงทะเบียนผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง SMA ในประเทศไทย ดังนั้น เราจึงไม่สามารถชี้แจงจำนวนผู้ป่วยที่แน่ชัดได้ อย่างไรก็ตาม ได้มีการค้นพบว่าอัตราพาหะของโรคในประเทศไทยอยู่ที่ 1:50 หากคำนวณจากประชากรในประเทศ จะพบว่าประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง SMA อยู่ประมาณ 10,000-20,000 ราย โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง SMA มีอาการแสดงได้ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยเด็ก ผู้ป่วยจะมีอาการแขน ขาอ่อนแรง บางคนอาจมีอาการหายใจลำบาก การดำรงชีวิตของผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงนั้นขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการและอายุที่เริ่มแสดงอาการ

ซึ่งก่อให้เกิดความยากลำบากในการเคลื่อนไหว ส่งผลให้ผู้ป่วยบางรายไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติปัจจุบันอาศัยการรักษาแบบประคับประคอง ด้วยการรักษาทางเวชศาสตร์ฟื้นฟู เช่น การทำกายภาพบำบัด ส่วนการรักษาเฉพาะโรคนั้น คือ การรักษาด้วยยีนบำบัดซึ่งจำเป็นต้องใช้ทีมแพทย์และทีมบำบัดที่เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ดังนั้น การร่วมมือกันระหว่างหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ รัฐบาล และองค์กรเอกชน จึงเป็นสิ่งสำคัญในการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงและขยายตัวเลือกในการรักษาผู้ป่วย”

ปัจจุบัน มีการคิดค้นนวัตกรรมการรักษาโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงในผู้ใหญ่และเด็กอายุ 2 เดือนขึ้นไป ซึ่งได้รับการพิสูจน์ทางการแพทย์แล้วว่าสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเซลล์ประสาทสั่งการได้อย่างมีนัยสำคัญ จากการทดลองทางคลินิกกว่าสองครั้งในกลุ่มประชากรตัวอย่างที่มีอายุและระดับความรุนแรงของโรคต่างกัน

“นวัตกรรมยารักษาโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ถือเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญทางการแพทย์ โดยเฉพาะในแวดวงของโรคหายากอย่างโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง SMA โดยยาตัวนี้สามารถช่วยเพิ่มโอกาสการอยู่รอดของทารกได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจถาวร ทำให้ผู้ป่วยสามารถนั่งได้โดยไม่ต้องประคองและทำกิจวัตรประจำวันที่ไม่เคยทำได้ เช่น การแปรงฟันและการหวีผมด้วยตนเอง ซึ่งถือเป็นพัฒนาการครั้งใหญ่ของการรักษาโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง SMA”

โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง SMA

ด้าน พญ. ศันสนี เลิศฤทธิ์เรืองสิน หัวหน้าฝ่ายการแพทย์ บริษัท โรช ไทยแลนด์ จำกัด กล่าว “เรามีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนานวัตกรรมการรักษาและวินิจฉัย เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยโรคหายาก ด้วยวัตถุประสงค์หลักที่จะคิดค้นการรักษาเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีให้กับผู้ป่วยโรคหายากที่มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต หรือไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ และช่วยให้พวกเขาสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุขและใกล้เคียงกับเด็กปกติให้มากที่สุด”

การจัดกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอในกลุ่มผู้ป่วยและสมาชิกในครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญ เพราะบางครั้งผู้ป่วยประสบปัญหาเรื่องการปรับตัวและการเข้าสังคม ดังนั้น การรวมกลุ่มกันของผู้ป่วยและผู้ดูแลเพื่อให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ทั้งยังแบ่งปันความรู้

และการดูแลตัวเองอย่างถูกวิธีจึงมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมาก มูลนิธิโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงแห่งประเทศไทย F)E)N)D) ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 2558 นับได้ว่าเป็นมูลนิธิแห่งความหวังและกำลังใจเพื่อเด็กไทยที่เป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง มีจุดประสงค์หลักในการมอบโอกาสให้เด็กโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงได้รับความช่วยเหลือจากทีมแพทย์ที่เชี่ยวชาญ พร้อมได้รับการดูแลสภาพร่างกายและฟื้นฟูสภาพจิตใจอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการจัดหาอุปกรณ์และเครื่องมือที่จำเป็น รวมถึงการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการศึกษาและกิจกรรมทางสังคม เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต เสริมสร้างกำลังใจ และเพิ่มศักยภาพในการใช้ชีวิตให้กับผู้ป่วย

โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง SMA

 ด.ช. ณัฐธีร์ เอี่ยมฤทธิไกร หรือน้องพีค อายุ 8 ปี พร้อมคุณแม่ น.ส. รัชดา ศรีพัฒนาวงศ์ ได้กล่าวในฐานะผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง SMA และผู้ดูแลว่า “น้องพีคได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง SMA เมื่ออายุได้ 9 เดือน โรคนี้ส่งผลต่อการดำรงชีวิตประจำวันอย่างมากเนื่องจากน้องไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้มาก จึงทำให้คุณแม่ต้องคอยอยู่เคียงข้างเพื่อดูแลน้องตลอดเวลา แม้กระทั่งตอนที่อยู่ที่โรงเรียน

ดังนั้น ความหวังสูงสุดของคุณแม่คงหนีไม่พ้นการที่จะให้อาการของน้องดีขึ้นและสามารถช่วยตัวเองได้มากขึ้น อยากให้ลูกใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงกับคนปกติให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้” คุณแม่รัชดา กล่าว ส่วนน้องพีคได้เล่าถึงความฝันสูงสุดและให้กำลังใจเพื่อนผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงว่า “ความใฝ่ฝันสูงสุดของผมคือการมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรง เพื่อที่ผมจะสามารถเดินได้เหมือนเด็กคนอื่น แม้จะเป็นแค่เพียงวันเดียวก็ตาม ผมอยากจะส่งกำลังใจกับเด็กคนอื่น ๆ ที่เป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ให้สู้ต่อไป อย่าท้อเพราะเราจะผ่านมันไปด้วยกัน”

โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง SMA และโรคหายากอื่น ๆ เป็นโรคที่ไม่ควรมองข้าม ทั้งยังต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องต่อการปฏิบัติตัวของผู้ป่วย และการได้รับกำลังใจจากผู้คนรอบข้าง เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่สมบูรณ์และเป็นปกติสุขมากที่สุดทั้งในด้านร่างกายและจิตใจ คุณแม่สามารถติดตามข่าวสารเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงได้ที่เฟซบุ๊กมูลนิธิโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงแห่งประเทศไทย fendfoundation หรือเว็บไซต์ www.roche.com

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : มูลนิธิโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงแห่งประเทศไทย

บทความที่น่าสนใจ

รวม 20 อาการต้องสงสัย ลูกไม่สบาย แบบนี้..! กำลังป่วยเป็นโรคอะไร?

ระวัง! โรค RSV รักษาไม่ถูกวิธี อาจติดเชื้อซ้ำซ้อน

เพจหมอชื่อดังเผย! 10 ข้อเท็จจริง ของ ไวรัส RSV โรคระบาดหนักในเด็กเล็ก

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up