หนึ่งในสัญญาณของโรคที่พบได้บ่อยในเด็ก ๆ ก็คือ การนอนกรน ซึ่งเป็นสัญญาณอันตรายที่พ่อแม่ไม่ควรชะล่าใจ ลูกนอนกรน หายใจเสียงดัง
สังเกตลูกให้ดี ลูกนอนกรน หายใจเสียงดัง ควรรีบพาไปพบหมอ
อาการนอนกรนในเด็กเป็นสัญญาณสำคัญของร่างกาย ที่พ่อแม่ไม่ควรชะล่าใจ โดยเฉพาะถ้าเกิดร่วมกับภาวะการหายใจที่ลดลง หรือหยุดหายใจในขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea Syndrome) จากคลิปคุณแม่ต้นหอม ศกุนตลา ได้โพสต์น้องปกป้องในวัยเกือบ 2 ขวบ กำลังนอนหลับอย่างน่าเอ็นดู แต่กลับมีเสียงกรน จนทำให้หลายคนเป็นห่วงและคอมเมนท์ให้คุณแม่รีบพาน้องปกป้องไปพบแพทย์เพื่อตรวจอย่างละเอียด
เครดิตภาพ : instagram.com/djtonhorm
สำหรับการนอนกรนในเด็กเป็นเรื่องที่พ่อแม่ต้องใส่ใจ และควรพาลูกไปพบแพทย์ เพราะมีอันตรายมากกว่าที่คิด
ลูกนอนกรนอันตรายแค่ไหน
การนอนกรนในเด็กจะอันตรายเมื่อเกิดร่วมกับภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (Obstructive Sleep Apnea Syndrome :OSAS) โดยมีอาการหลัก ๆ ได้แก่
- หายใจเสียงดัง
- หายใจหอบ หายใจสะดุ้งสำลัก
- บางรายหายใจเข้าแล้วหน้าอกบุ๋ม
อาการอื่น ๆ ที่มักมีร่วมด้วย
- เหงื่อออกมากเวลานอน
- ตื่นกลางคืนบ่อย
- ปัสสาวะรดที่นอน
- อ้าปากหายใจ เพราะหายใจติดขัด
- ปัญหาทางพฤติกรรม สมาธิสั้น อยู่นิ่งไม่ได้
- ปัญหาด้านการเรียน เช่น ระดับสติปัญญาต่ำกว่าปกติ พัฒนาการช้า
- อ่อนเพลีย ง่วงนอนบ่อย อาจมีความดันโลหิตสูงหรือความดันเลือดในปอดสูงร่วมด้วย
ส่วนอาการอื่น ๆ ที่สะท้อนว่าที่ลูกกรนนั้นเสี่ยงจะมีอาการรุนแรง ได้แก่ การนอนหลับในท่าทางที่ผิดปกติ กรนทุกวัน กรนเสียงดัง ตอนนั้นลูกอาจหยุดหายใจขณะหลับเป็นช่วง ๆ ปลุกตื่นยากหลังตื่นนอน เพลียและอยากนอนเสมอ อาจมีผลด้านอารมณ์หงุดหงิดง่าย โมโหง่าย หากลูกอยู่ในวัยที่เข้าเรียนแล้วก็จะนอนหลับด้วยความอ่อนเพลียในคาบเรียน หรือมีอาการปวดศีรษะระหว่างวัน หลังตื่นนอน หากลูกบ่นว่าปวดหัวบ่อย ๆ ร่วมกับอาการอื่นเหล่านี้ควรรีบพบแพทย์
ผลกระทบการนอนกรนต่อร่างกายของเด็ก
หากลูกมีอาการนอนกรนร่วมกับภาวะนี้ อาจทำให้ออกซิเจนในเลือดต่ำ ออกซิเจนไปเลี้ยงสมองไม่พอเพียง นอนกระสับกระส่าย ตื่นบ่อย ๆ คุณภาพการนอนลดลง ส่งผลต่อการใช้ชีวิต ทำให้ลูกอ่อนเพลีย พัฒนาการเด็กไม่เหมาะสมกับวัย
ภาวะแทรกซ้อนของโรคนี้จะทำให้เด็กมีอันตรายถึงขั้นเกิดภาวะหัวใจทำงานล้มเหลวได้ นอกจากนี้ ยังส่งผลต่อพัฒนาการทางสมอง ทำให้มีสติปัญญาต่ำ ระดับการเรียนรู้ต่ำลง ร่วมกับสมาธิสั้น
ด้วยอาการที่คล้ายกับโรคสมาธิสั้น (ADHD) เช่น เด็กจะซนกว่าปกติ หงุดหงิดโมโหง่าย ถ้าไม่ได้สังเกตเรื่องการนอนกรน อาจทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นโรคสมาธิสั้นได้ พ่อแม่จึงต้องสังเกตการนอนของลูก ดูพฤติกรรมของลูก ควบคู่กันไปเพื่อนำอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นไปปรึกษาคุณหมอ จะได้รักษาอย่างถูกโรคและทันท่วงที
หายใจเสียงดัง สัญญาณอันตราย
Obstructive Sleep Apnea Syndrome (OSAS) เกิดจากทางเดินหายใจที่มีการอุดกั้นบางส่วน หรืออุดกั้นอย่างสมบูรณ์ อาการเกิดได้เป็นพัก ๆ จึงรบกวนต่อระบบการระบายลมหายใจ และระบบการนอนหลับ
ความเสี่ยงของลูกนอนกรนที่พบภาวะ OSAS
- เด็กมีต่อมทอนซิลโต หรือมีต่อมอดีนอยด์โต และอาจจะโตได้ทั้ง 2 ต่อม
- โรคอ้วน หรือเด็กมีน้ำหนักเกินมาตรฐาน
- โรคปอดเรื้อรัง
- โครงสร้างของระบบทางเดินหายใจผิดปกติ เช่น กรามเล็ก และขนาดทางเดินหายใจแคบกว่าปกติ
- มีความผิดปกติของสมอง ทำให้การคุมการทำงานของกล้ามเนื้อระบบทางเดินหายใจผิดปกติ เช่น Cerebral Palsy
- กล้ามเนื้ออ่อนแรงจากสาเหตุต่าง ๆ
- พบความผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น ดาวน์ซินโดรม
วิธีรักษาลูกนอนกรน
- แพทย์อาจตัดต่อมอะดีนอยด์และต่อมทอนซิล ในกรณีที่เด็กมีต่อมอะดีนอยด์โตและต่อมทอนซิลโต เพื่อรักษาการอุดตันของทางเดินหายใจในขณะหลับ ช่วยให้เด็กมีอาการดีขึ้นได้ถึง 75-100%
- หากไม่สามารถผ่าตัดได้ อาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ เพื่อป้องกันการอุดตันของทางเดินหายใจในขณะหลับ
- บางรายอาจทำการรักษาด้วยการผ่าตัดแก้ความผิดปกติของโครงสร้างของทางเดินหายใจส่วนบนที่แคบกว่าปกติ
- ในเด็กที่มีอาการภูมิแพ้หรือมีน้ำหนักตัวมาก แพทย์จะรักษาอาการของโรคเหล่านี้ร่วมด้วย
การนอนกรนในเด็กไม่ใช่เรื่องเล็ก หากเข้ารับการรักษาช้า ลูกอาจมีพัฒนาการที่ล่าช้า หรือมีสมาธิสั้นได้ หากลูกนอนกรน หรือหายใจเสียงดัง พ่อแม่ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์
อ้างอิงข้อมูล : gj.mahidol.ac.th , vitalsleepclinic.com และ sleepcenterchula.org
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม
สุดยอด!แม่สังเกตจนรู้ ลูกไม่ได้เป็น ตากุ้งยิง แท้จริงคือชีสต์