โอมิครอน BA.4 BA.5 ติดง่ายกว่าเดิม อันตรายแค่ไหน
โอมิครอน BA.4 BA.5 เป็นโควิดเชื้อสายพันธุ์ย่อยชนิดใหม่ ของเชื้อกลายพันธุ์โอมิครอนที่แพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อโรคโควิดพุ่งสูงขึ้นทั่วโลก รวมทั้งในไทยด้วย องค์กรอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้สายพันธุ์ BA.4 BA.5 เป็นสายพันธุ์ย่อยที่ต้องเฝ้าระวัง และคาดว่าจะกลายเป็นสายพันธุ์หลักของการแพร่ระบาดทั่วโลก สายพันธุ์นี้คิดง่าย ติดไว กว่าเดิม อันตรายแค่ไหน มาดูกันค่ะ
สถานการณ์การแพร่ระบาดของ โอมิครอน BA.4 BA.5 ในไทย
ท่ามกลางมาตรการผ่อนคลายต่าง ๆ และการเปิดประเทศ กระทรวงสาธารณสุขออกมายอมรับว่า มีแนวโน้มผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยกำลังรักษา ผู้ป่วยอาการหนัก และผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน BA.4/BA.5 ซึ่งพบมากจากผู้เดินทางจากต่างประเทศเข้าไทย
ทำไมถึงต้องเฝ้าระวัง
สาเหตุที่ต้องเฝ้าระวังโอมิครอน สายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 คือ
- สายพันธุ์นี้มีการกลายพันธุ์ในตำแหน่ง L452R ซึ่งเป็นตำแหน่งเดียวกันกับสายพันธุ์เดลตา (Delta) เชื้อไวรัสมีความสามารถในการแบ่งตัว เพิ่มจำนวนในเซลล์ปอดได้ดี ซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการปอดอักเสบในผู้ติดเชื้อ แตกต่างจากสายพันธุ์ BA.1 และ BA.2 ที่เชื้อมีความสามารถในการแบ่งตัวได้ดีในเซลล์ของเยื่อบุระบบทางเดินหายใจส่วนบน
- สายพันธุ์ย่อย BA.4/BA.5 ยังมีความสามารถในการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกัน ดื้อต่อแอนติบอดี้ของมนุษย์ นั่นจึงเป็นสาเหตุให้เกิดการติดเชื้อซ้ำ (Re-infection) แม้ว่าจะเคยติดเชื้อหรือฉีดวัคซีนมาแล้วก็ตาม
- แพร่ระบาดได้ง่าย และรวดเร็วยิ่งขึ้นกว่าเดิม
จุดเด่นของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน คือ การแพร่เชื้อได้เร็ว (High transmissibility) กว่าสายพันธุ์อื่น 5 เท่า
ขอบคุณภาพจากโรงพยาบาลศิครินทร์
อาการที่เด่นชัด
โดยอาการของโควิดสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 ไม่แตกต่างอย่างชัดเจนจากสายพันธุ์โอมิครอน อาการที่เด่นชัดของสายพันธุ์นี้ได้แก่ “อ่อนเพลีย เหนื่อย, ไอแห้ง, เจ็บคอ, ไข้, มีน้ำมูก, ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ ปวดเมื่อยตามร่างกาย และถ่ายเหลว”
นอกจากนี้ยังพบอาการ สูญเสียการได้กลิ่น และการรับรส อาการผิดปกติเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร กลุ่มอาการของระบบทางเดินหายใจ หายใจถี่ หายใจลำบาก และกลุ่มอาการนอกระบบที่ไปคล้ายกันกับสายพันธุ์เดลตาได้เช่นกัน
ขอบคุณภาพจากโรงพยาบาลศิครินทร์
กลุ่มเสี่ยงคือ ผู้สูงอายุ เด็ก และผู้มีโรคประจำตัวร้ายแรง
BA.4 และ BA.5 จะสามารถแพร่ระบาดได้ง่ายขึ้น อาจเป็นเพราะภูมิคุ้มกันที่ผู้คนมีในร่างกายเริ่มลดลง หรืออาจเป็นเพราะเชื้อไวรัสเกิดการกลายพันธุ์ ขณะเดียวกัน การที่ประเทศต่าง ๆ เริ่มยกเลิกมาตรการควบคุมโรคโควิด แล้ว ก็ทำให้เชื้อไวรัสชนิดนี้มีโอกาสที่จะแพร่ระบาดได้มากขึ้น
BA.4 และ BA.5 ยังทำให้คนที่เพิ่งติดเชื้อโอมิครอนชนิดอื่นติดเชื้อซ้ำได้อีก และการระบาดระลอกใหม่อาจทำให้มีผู้ป่วยเข้ารักษาที่โรงพยาบาล หรือมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีก
เช่นเดียวกับโควิดสายพันธุ์อื่น ๆ ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัวร้ายแรง คือกลุ่มเสี่ยงที่สุดที่จะล้มป่วยหนักจากการติดเชื้อ BA.4 และ BA.5
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวว่า สัดส่วนการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในกลุ่มผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีอายุระหว่าง 12-17 ปี น่ากังวล โดยตัวเลขผู้สูงอายุที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น หรือเข็มที่สาม มีเพียง 47.1% ของตัวเลขผู้สูงอายุทั้งหมด ขณะที่ฝั่งนักเรียนซึ่งได้รับเข็มกระตุ้นมีเพียงแค่ 20.5% เท่านั้น
ป้องกันอย่างไร
การป้องกันตนเอง ก็ยังช่วยป้องกันความเสี่ยงจากการติดเชื้อได้ โดยควรสวมหน้ากากอนามัย เมื่อต้องเดินทางไปในสถานที่แออัด หรือสถานที่อับอากาศ หมั่นล้างมือบ่อย ๆ หลังสัมผัสสิ่งของ หรือจุดสัมผัสสาธารณะ
สำหรับผู้ที่สัมผัสเสี่ยงสูง หรือมีอาการเสี่ยงติดเชื้อ แนะนำให้ตรวจ ATK ด้วยตนเอง โดยควรเลือก ATK ที่ได้รับมาตรฐาน และมีค่าความไว (Sensitivity) และค่าความจำเพาะ (Specificity) ไม่ต่ำกว่า 90%
แม้วัคซีนต้านโควิดที่มีอยู่ในปัจจุบันจะไม่ใช่สูตรที่พัฒนาขึ้นเพื่อต่อต้าน BA.4 และ BA.5 โดยเฉพาะ แต่ก็ยังเป็นเครื่องมือดีที่สุดในการต่อสู้กับเชื้อทั้งสองชนิด เพราะฉะนั้นจึงควรฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น
ทำไมต้องฉีดเข็มกระตุ้น
สถิติจากกระทรวงสาธารณสุขไทยที่ศึกษาข้อมูลจากประชากร 5 แสนราย พบว่า ประสิทธิภาพของการฉีดวัคซีน 2 เข็ม นับว่าป้องกันการติดชื้อ “น้อยมาก” และป้องกันการป่วยหนักจนต้องใส่ท่อช่วยหายใจและเสียชีวิตได้ราว 75%
ขณะที่การฉีดวัคซีน 3 เข็ม ช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ราว 15% แต่สามารถป้องกันการป่วยหนักจนต้องใส่ท่อช่วยหายใจหรือเสียชีวิตได้ถึง 93%
นอกจากนี้ สถิติของผู้ฉีดวัคซีน 4 เข็ม ชี้ว่า สามารถลดการติดเชื้อได้ถึง 76% และลดการป่วยหนักจนต้องใส่ท่อช่วยหายใจและเสียชีวิตได้ถึง 96%
ข้อมูลปัจจุบันยังไม่พบผู้เสียชีวิตในกลุ่มที่ฉีดวัคซีน 4 เข็ม
ขอบคุณข้อมูลจาก
โรงพยาบาลศิครินทร์, BBC NEWS ไทย
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
เปลี่ยนแม่เป็นหมอ เปลี่ยนพ่อเป็นพยาบาล รับมือ โอมิครอนในเด็ก
เช็กเลย! อาการ โอมิครอน ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก ต่างกันอย่างไร