โอไมครอน ไวรัสกลายพันธุ์โควิด19 ที่ต้องจับตามองจะเป็นเชื้อที่รุนแรงกว่าเดิมหรือไม่ แล้วเด็กเล็กที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนจะติดเชื้อรุนแรงแค่ไหน มาทำความรู้จักกัน
โอไมครอน (Omicron)ในเด็กมีสิทธิ์ติดเชื้อรุนแรงแค่ไหน?
ในช่วงของการระบาด Coronavirus COVID-19 นั้น แม้ว่าจะมีการติดเชื้อแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว และมีอัตราการเสียชีวิตสูง แต่กลับพบว่า เด็ก ๆ ที่มีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง รวมถึงประชากรวัยหนุ่มสาวส่วนใหญ่ ต่อการติดเชื้อไวรัส COVID-19 นั้นส่วนใหญ่จะมีอาการป่วยเล็กน้อย ถึงปานกลาง ไม่มีสัญญาณอันตราย หรือภาวะแทรกซ้อน อาการที่พบบ่อยที่สุด คือ มีไข้ เหนื่อยล้า ไอ และมีการอักเสบจากระบบหลายระบบภายหลังจากหายจากการติดเชื้อแล้ว เป็นต้น
COVID-19 กับอัตราการติดโรคของเด็ก
ในสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา พบเด็กที่ติดเชื้อ SARS-CoV-2 ที่ก่อให้เกิดโรค COVID-19 ประมาณร้อยละ 13 ของผู้ป่วยทั้งหมด แต่ส่วนใหญ่จะมีอาการไม่รุนแรงหรือไม่มีอาการเลย และพบน้อยมากที่เด็กติดเชื้อแล้วมีอาการรุนแรง และต้องรับการรักษาในหอผู้ป่วยวิกฤต หรือใช้เครื่องช่วยหายใจ แต่อย่างไรก็ตาม เด็กก็มีแนวโน้มที่จะเกิดอาการรุนแรงหรือมีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ หากผู้ป่วยเด็กคนนั้นมีภาวะอ้วน เป็นโรคเบาหวาน โรคหอบหืด โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคพันธุกรรมเมตาบอลิก หรือภาวะผิดปกติทางระบบประสาท
ส่วนในเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 1 ขวบ หากติดโควิด-19 จะมีอาการมากกว่าเด็กโต เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายยังพัฒนาได้ไม่ดีพอและช่องทางเดินหายใจยังมีขนาดเล็ก พูดให้เห็นภาพชัดขึ้นก็คือ มีลักษณะเหมือนเด็กที่เป็นโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งจะมีปัญหาของระบบทางเดินหายใจ ส่วนเด็กที่ได้รับวัคซีนป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียที่รุนแรงก็จะป้องกันได้เฉพาะเชื้อที่ฉีดวัคซีนป้องกันไปเท่านั้น
ข้อมูลอ้างอิงจาก www.samitivejhospitals.com
โอไมครอน (Omicron) ส่งผลต่อเด็กมากกว่าผู้ใหญ่หรือไม่?
รายงานล่าสุดจากแอฟริกาใต้ชี้ให้เห็นว่า มีเด็กจำนวนมากขึ้นเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล โดยมีอาการปานกลางถึงรุนแรงหลังจากการระบาดของโอไมครอน (Omicron) ในประเทศ
Dr. Rudo Mathivha หัวหน้าแผนก Intensive Care ที่โรงพยาบาล Chris Hani Baragwanath เปิดเผยว่า โรงพยาบาลรับเด็กครั้งละ 5-10 คน แพทย์ยังเน้นย้ำถึงกรณีที่รุนแรงของโควิด-19 อีก 2 ราย โดยในรายที่อายุ 15 ปีติดเชื้อไวรัส ในขณะที่เด็กอายุ 17 ปียังคงเข้ารับการรักษาในห้องไอซียู
อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลยังไม่ได้ยืนยันว่าทั้งสองมีอาการป่วยจากตัวแปร Omicron หรือไม่
“ตอนนี้เราเห็นเด็ก ๆ มาด้วยอาการปานกลางถึงรุนแรงซึ่งต้องการออกซิเจนเสริม ต้องการการบำบัดแบบประคับประคอง และต้องอยู่ในโรงพยาบาลเป็นเวลาหลายวัน” ดร. Mathivha กล่าว
เธอยืนยันว่าเด็กที่เกี่ยวข้องไม่มีภาวะสุขภาพมาก่อน มีไข้เพียงสองวันแรก หลังจากนั้นอาการทรุดลงอย่างรวดเร็ว
“และเราสูญเสียผู้ป่วยรายนั้น … นี่เป็นเหตุการณ์แรกของเด็กที่ไม่มีโรคประจำตัว และไม่มีอะไรที่มีอยู่ก่อนหน้าที่ผ่านจากโควิดที่ฉันทราบ” เธอกล่าวเสริม
ข้อมูลอ้างอิงจาก timesofindia.indiatimes.com
จากเหตุการณ์ในแอฟริกาใต้ ทำให้ผู้เชี่ยวชาญเชื่อกันว่า เด็กอาจมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัส Corona Omicron และมีอาการรุนแรงกว่าเชื้อไวรัสสายพันธุ์ก่อนหน้า อีกเหตุผลหนึ่งที่นอกเหนือจากการกลายพันธุ์ของไวรัสแล้วนั้น มาจากการที่ในหลาย ๆ ประเทศยังไม่ได้มีวัคซีนให้แก่เด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี
ไม่มีวัคซีนสำหรับเด็กเล็ก!!
แม้ว่าที่ผ่าน ๆ มาเมื่อเด็กติดเชื้อไวรัสโควิด19 เด็ก ๆ ที่ร่างกายแข็งแรงสามารถต่อสู้กับเชื้อได้ด้วยตัวเอง ทำให้มีอาการไม่มาก สามารถดูแลประคับประคองได้ และไม่มีอาการแทรกซ้อนใด ๆ ทำให้ในขั้นต้นนี้จึงยังไม่มีการให้ความสำคัญกับการฉีดวัคซีนในเด็ก พบว่าในหลาย ๆ ประเทศที่ยังไม่มีการฉีดวัคซีนให้เด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี หรือมีก็เป็นจำนวนที่น้อย
ถึงแม้ว่าวัคซีนโควิด 19 จะไม่ได้รับประกันว่าจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันที่สมบูรณ์ ทำให้ไม่ติดเชื้อไวรัส แต่วัคซีนก็มีศักยภาพพอที่จะลดความเสียหาย ลดโอกาสของความรุนแรงของโรค และลดความเสี่ยงของการรักษาในโรงพยาบาล ดังนั้นจึงเชื่อว่าวัคซีนเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่เด็ก ๆ ควรจะได้รับวัคซีนโดยเร็วที่สุด
วิธีป้องกันโรค COVID-19 ในเด็ก
เป็นที่ยอมรับกันดีอยู่แล้วว่า การป้องกันการติดเชื้อนั้นเป็นวิธีที่ง่าย และดีที่สุดต่อการห่างไกลโรคจากไวรัสโควิด19 ดังนั้นนอกจากการรอคอยวัคซีนให้แก่ลูกน้อยแล้ว การรู้จักวิธีป้องกันโรคโควิด19 หรือไวรัสกลายพันธุ์ โอไมครอน จึงยังเป็นสิ่งจำเป็น และได้ผลเสมอมา
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) และศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (CDC) ได้ให้คำแนะนำแนวทางสำหรับครอบครัวที่มีลูกเล็กในการป้องกันการแพร่เซื้อไวรัส SARS-CoV-2 ที่ก่อโรค COVID-19 จากเด็กที่ติดเชื้อไปสู่บุคคลอื่นไว้ ดังนี้
การดูแลและล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ (Keep your Hands Clean)
- สอนเด็กให้รู้จักล้างมืออย่างถูกต้องตามมาตรฐาน 7 ขั้นตอน
- หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่อย่างถูกวิธี นานอย่างน้อย 20 วินาที หรือใช้แอลกอฮอล์ล้างมือที่มีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ไม่ต่ำกว่า 70%
- ปฏิบัติตัวให้ถูกสุขลักษณะ ไอ/จามต้องปิดปากและจมูกด้วยการงอศอก หรือใช้กระดาษชำระปิด จากนั้นนำไปทิ้งในที่ที่เหมาะสม และล้างมืออีกครั้งเพื่อทำความสะอาด
- หลีกเลี่ยงการเอามือสัมผัสบริเวณ ตา จมูก ปาก
- ให้เด็กล้างมือด้วยน้ำและสบู่ทันทีที่กลับเข้าบ้าน หลังใช้ห้องสุขา และก่อนรับประทานอาหาร รวมถึงพ่อแม่ต้องดูแลความสะอาดก่อนจัดเตรียมอาหารด้วย
การเว้นระยะห่าง (Practice Social Distancing)
- หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับบุคคลอื่นในบ้าน ทั้งเด็กและสมาชิกในบ้าน
- ให้เว้นระยะห่าง 6 ฟุตหรือ 1 เมตร กับบุคคลอื่นที่ไม่ได้อยู่ในบ้าน
- กรณีมีเด็กคนอื่นมาที่บ้าน ควรให้เด็กเล่นกันนอกบ้าน และเว้นระยะห่าง 6 ฟุต
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่มีการใช้ของเล่นหรืออุปกรณ์ร่วมกัน เช่น ลูกฟุตบอล บาสเก็ตบอล ฯลฯ
การทำความสะอาดและฆ่าเชื้อภายในบ้าน (Clean and Disinfected your Home)
- ใช้สบู่กับน้ำสะอาด หรือแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ไม่ต่ำกว่า 70% หรือน้ำยาที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อได้ เช่น น้ำยาซักผ้าขาวที่มีส่วนผสมของ Sodium Hypochlorite โดยผสมกับน้ำในอัตราส่วนที่ถูกต้อง เช็ดทำความสะอาดบริเวณดังต่อไปนี้
- พื้นผิวบริเวณที่มีการใช้ร่วมกันทุกวันและบริเวณที่มีการสัมผัสบ่อย เช่น ผ้าปูโต๊ะ ลูกบิดประตู มือจับประตู เก้าอี้ สวิตช์ไฟ รีโมทคอนโทรล เครื่องใช้ไฟฟ้า หน้าต่าง โต๊ะ ห้องน้ำ อ่างล้างมือ เป็นต้น
- บริเวณที่สกปรกได้ง่าย เช่น โต๊ะเปลี่ยนผ้าอ้อม โต๊ะอาหาร
- พื้นผิวบริเวณที่เด็กสัมผัสบ่อยๆ เช่น ขอบเตียงนอน โต๊ะวางของเล่น หรือของเล่นต่างๆ โดยเฉพาะของเล่นเด็กชนิดที่เด็กอาจหยิบใส่ปากได้ ให้ทำความสะอาดโดยใช้สบู่และน้ำสะอาด และระวังอย่าให้มีคราบสบู่ตกค้าง
- ในกรณีที่จำเป็นจะต้องดูแลเด็กที่ติดเชื้อ COVID-19 ให้พ่อแม่ผู้ปกครองล้างมือทุกครั้งหลังจับต้องสิ่งของและของเล่นที่เด็กใช้ รวมถึงหลังเปลี่ยนผ้าอ้อมหรือผ้าปูเตียงเด็ก เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสเชื้อ และควรรักษาระยะห่าง ใส่หน้ากากอนามัยอยู่เสมอ
การสวมใส่หน้ากากอนามัย (Wear Face Mask)
- แนะนำให้สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อออกนอกบ้าน หรือไปในที่สาธารณะ หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดบุคคลอื่น
- แนะนำให้เด็กอายุ 2 ขวบขึ้นไปสวมหน้ากากอนามัย เมื่อต้องอยู่ท่ามกลางบุคคลอื่นที่ไม่ใช่คนในครอบครัว
- ไม่แนะนำให้เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ หรือเด็กที่มีปัญหาด้านการหายใจ รวมถึงเด็กที่อยู่ในสภาพที่ถอดหน้ากากเองไม่ได้ สวมหน้ากากอนามัย เนื่องจากระบบทางเดินหายใจของเด็กยังพัฒนาไม่เต็มที่ เด็กอาจขาดออกซิเจนและเป็นอันตรายได้ ควรใช้การเว้นระยะห่างอย่างต่ำ 2 เมตร หรือเอาผ้าคลุมรถเข็นที่มีเด็กนอนอยู่แทน
ที่สำคัญที่สุดคือ ควรพาเด็กไปรับการตรวจสุขภาพ และรับวัคซีนตามนัด โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ โดยเลือกรับบริการเฉพาะสถานพยาบาลที่แยกบริเวณเด็กป่วยกับเด็กไม่ป่วยออกจากกัน ไม่ให้ปะปนกันอย่างชัดเจน
ข้อมูลอ้างอิงจาก www.samitivejhospitals.com
ติดเชื้อซ้ำ!! เรื่องน่ากังวลของโอไมครอน
ในการให้สัมภาษณ์ หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของ WHO Soumya Swaminathan กล่าวว่าความเป็นไปได้ที่จะติดเชื้อ Omicron ของ COVID เพียง 90 วันหลังจากติดเชื้อ COVID-19 นั้นสูงกว่าตัวแปร Delta ถึงสามเท่า ซึ่งหมายความว่าความเสี่ยงของการติดเชื้อซ้ำอาจสูงกว่าที่เคย
สำหรับข่าวการอัปเดตข้อมูลของ โอไมครอน ในประเทศไทยนั้นก็มิได้นิ่งนอนใจ มีการติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด
อัปเดต “โอไมครอน”
ข้อมูลจากการติดตามสายพันธุ์ที่ระบาดในแอฟริกาใต้ของ GISAID สะท้อนภาพที่ชัดเจนว่า “โอไมครอน” นั้น ครองการระบาดแทนที่เดลต้าอย่างรวดเร็ว การติดตามลักษณะการติดเชื้อนั้น
ชี้ให้เห็นสอดคล้องกับคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ว่า มีการติดเชื้อ “โอไมครอน” ในผู้ที่เคยมีประวัติติดเชื้อโรคโควิด-19 มาก่อน หรือที่เรียกว่า การติดเชื้อซ้ำ (Reinfection) มากกว่าการระบาดของสายพันธุ์ก่อน ๆ ไม่ว่าจะเป็นเบต้า หรือเดลต้าก็ตาม ถึงประมาณ 2.4 เท่า
ข้อมูลจาก Trevor Bedford, FHCRC และทีมนักวิชาการอื่น ๆ ชี้ให้เห็นว่า การระบาดในแอฟริกาใต้ของ “โอไมครอน” นั้น เดิมเดลต้าครองพื้นที่อยู่ แต่อยู่ในช่วงขาลงก็จริง แต่การที่ “โอไมครอน” ระบาดขยายวงอย่างรวดเร็ว ก็แสดงถึงศักยภาพการแพร่เชื้อของมันที่เหนือกว่าเดลต้า
โดยจะเกิดจากคุณสมบัติในการแพร่ง่ายขึ้น (R0 มากขึ้น) หรือจะมาจากความสามารถในการดื้อต่อภูมิคุ้มกัน (ไม่ว่าจะจากวัคซีน และ/หรือจากที่เคยติดเชื้อมาก่อน) ก็ตาม ซึ่งคงต้องรอผลการวิจัยว่าจะมาจากเหตุใดกันแน่ และเหตุใดมากว่ากัน
ข้อมูลอ้างอิงจาก www.tnnthailand.com
ถึงอย่างไรแม้ว่าจะมีความเชื่อในเรื่องที่เชื้อไวรัสที่กลายพันธุ์ สามารถส่งผลกระทบที่รุนแรงกว่าเชื้อเดิมในเด็ก แต่ก็อยากให้คุณแม่ทั้งหลายอย่าเพิ่งวิตกกังวลมากเกินไป เพราะไม่ว่าเชื้อไวรัสจะกลายพันธุ์ไปกี่แบบ แต่หากเราทำการป้องกัน ระวัง หมั่นทำตามคำแนะนำที่คุณหมอได้แนะนำวิธีปฎิบัติตัวแล้ว ก็จะเพิ่มโอกาสให้เราห่างไกลเจ้าเชื้อร้ายนี้ไปได้มากพอสมควร นอกจากนั้นควรคอยติดตามข่าวสารจากทางการ จากแหล่งที่เชื่อถือได้อย่างใกล้ชิด แล้วเราจะผ่านพ้นไปด้วยกัน
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
งานวิจัยชี้! เด็กป่วยโควิด ส่วนใหญ่หายเป็นปกติได้ภายในหนึ่งสัปดาห์
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่