หมอเตือน ลูกไอบ่อย อันตรายเสี่ยงเป็น ไอกรน
ไอ คือ อาการที่ร่างกายพยายามกำจัดสิ่งที่กีดขวางระบบทางเดินหายใจ เช่น มูก เสมหะ หรือสิ่งต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดการระคายเคืองภายในลำคอ เช่น ละอองฝุ่น หรือควัน เพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งแปลกปลอมเข้าไปในปอด อาการไอนับเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้กับเด็กทุกคน แต่หากลูกไอบ่อย ๆ อาจไม่ใช่อาการไอธรรมดา เพราะลูกของเราอาจกำลังเป็น ไอกรน ค่ะ
อาการไอโดยทั่วไป
อาการไอแบ่งได้ 2 แบบ
- ไอแห้ง เป็นอาการไอจากอาการคันและระคายเคืองภายในลำคอ โดยไม่มีเสมหะหรือมูกหนาเกิดขึ้น
- ไอแบบมีเสมหะ เป็นอาการไอพร้อมกับมีเสมหะภายในลำคอ ซึ่งร่างกายสร้างขึ้นเพื่อช่วยกำจัดสารหรือสิ่งสกปรกที่ติดค้างภายในลำคอ
สาเหตุของการไอ
- การรับสารที่ทำให้เกิดการระคายเคืองหรือสารก่อภูมิแพ้เข้าสู่ร่างกาย
สารก่อความระคายเคือง เช่น ฝุ่น ควัน มลภาวะในอากาศ ขนสัตว์ เชื้อรา ละอองเกสร ไอระเหยจากสี น้ำหอม ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่มีกลิ่นฟุ้ง การสูบบุหรี่ หรือการหายใจสูดเอาควันบุหรี่ที่ผู้อื่นสูบเข้าไปในปอด - การใช้ยาบางชนิด
ยารักษาบางโรคบางอาการอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงเป็นการไอได้ เช่น กลุ่มยาต้านเอซีอี อินฮิบิเตอร์ (ACE Inhibitors) เป็นยาลดความดันโลหิตและช่วยการทำงานของหัวใจ ใช้รักษาผู้ป่วยความดันโลหิตสูงและภาวะอาการที่เกี่ยวกับหัวใจ และกลุ่มยาปิดกั้นเบต้า (Beta Blockers) ที่ทำให้ชีพจรเต้นช้าลงทำให้ความดันโลหิตลดต่ำลง ใช้รักษาผู้ป่วยความดันโลหิตสูง หลอดเลือดหัวใจตีบ หัวใจเต้นผิดจังหวะ และมีผลข้างเคียงทำให้หลอดลมตีบแคบลง ส่งผลให้เกิดอาการไอได้ อาการจะหมดไปด้วยเมื่อผู้ป่วยหยุดการใช้ยา - โรคและภาวะอาการป่วย
ปัญหาสุขภาพสามารถทำให้เกิดการไออย่างเฉียบพลัน กึ่งเฉียบพลัน หรืออย่างเรื้อรังได้ ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายและความรุนแรงของโรค
โรคที่มักเป็นสาเหตุของอาการไออย่างเฉียบพลัน คือ โรคที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เช่น หวัด ไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม หากไม่มีอาการป่วยหรือภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง จะฟื้นตัวและหายจากอาการไอภายในเวลาประมาณ 3 สัปดาห์
ส่วนอาการไอที่เกิดขึ้นกึ่งเฉียบพลัน คือ โรคที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจเช่นเดียวกัน แต่ฟื้นตัวช้า หรือมีการติดเชื้อที่รุนแรงกว่าอาการไอแบบเฉียบพลัน เช่น โรคหวัด ซึ่งอาการจะทุเลาลงและฟื้นตัวภายใน 3-8 สัปดาห์ และอาการไอเรื้อรังที่มีอาการยาวนาน ติดต่อกันเกินกว่า 8 สัปดาห์ เกิดจากการอักเสบและติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคหอบหืด โรคภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบ ถุงลมโป่งพอง หลอดลมอักเสบเรื้อรัง ปอดอุดกั้นเรื้อรัง กรดไหลย้อน มะเร็งปอด หรือน้ำท่วมปอด เนื่องมาจากหัวใจล้มเหลว
ไอกรน มีสาเหตุจากอะไร
พญ.นวลนภา อนันตสิทธิ์ กุมารแพทย์เฉพาะทางโรคภูมิแพ้ และภูมิคุ้มกัน ศูนย์แม่และเด็ก โรงพยาบาลหัวเฉียว กล่าวไว้ว่า โรคไอกรนเป็นโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ มีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งชื่อว่า Bordetella pertussis เป็นโรคที่ติดต่อกันได้ง่ายจากการไอ หรือจามรดกันโดยตรง
ส่วนใหญ่เด็กจะติดเชื้อมาจากคนในครอบครัว เกิดขึ้นได้ตั้งแต่ทารกแรกเกิดที่ยังไม่ได้รับภูมิคุ้มกัน หรือในคนที่ไม่ได้รับภูมิคุ้มกันมาก่อน ในวัยผู้ใหญ่เมื่อติดเชื้อนี้แล้วอาจไม่มีอาการ แต่สามารถแพร่เชื้อไปให้ผู้อื่นได้
ลักษณะเฉพาะของ ไอกรน
ลักษณะเฉพาะของโรคไอกรน คือ
- ไอซ้อนติดกัน 5 – 10 ครั้ง
- ในเด็กอาจไอจนหายใจไม่ทัน หรือไอจนหยุดหายใจได้
- นอกจากนี้จะมีอาการหายใจเข้าลึก ๆ เป็นเสียง วู๊ป (Whooping cough) สลับกับไอเป็นชุด ๆ
- บางครั้งอาการไออาจเรื้อรังเป็นระยะเวลานาน 2 – 3 เดือน
โรคนี้จะมีอันตรายและอัตราตายสูงในเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี หรือเด็กที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกัน จึงมีความสำคัญต้องพาเด็กไปรับวัคซีนตั้งแต่อายุ 2 เดือน ซึ่งวัคซีนไอกรนจะรวมอยู่กับวัคซีนคอ ตีบ และบาดทะยัก
โรคแทรกซ้อน
1. โรคแทรกซ้อนทางระบบทางเดินหายใจ ที่พบบ่อย คือ ปอดอักเสบซึ่งเป็นสาเหตุของการตายที่สำคัญของโรคไอกรนในเด็กเล็กโรคในปอดที่อาจพบได้อีกจะเกิดจากการมีเสมหะเหนียวไปอุดในหลอดลมและถุงลม ทำให้เกิด atelectasis
2. จากการไอมากๆทำให้มีเลือดออกในเยื่อบุตา
3. ระบบประสาทอาจมีอาการชัก พบบ่อยในเด็กเล็ก เนื่องจากขาดเลือดไปเลี้ยงสมองในขณะที่ไอถี่ๆและอาการชักอาจเกิดจากมีเลือดออกในสมอง
การรักษา
เนื่องจากเชื้อ B. pertussis จะมีอยู่ในลำคอของผู้ป่วยในช่วงระยะแรก ดังนั้นถ้าให้ยาปฎิชีวนะที่ได้ผลเฉพาะคือ erythromycin ในขนาด 50 มก./กก./วันเป็นระยะเวลา 14 วัน ในระยะนี้จะช่วยให้ความรุนแรงของโรคลดลงได้ แต่ถ้าพบผู้ป่วยระยะที่มีการไอเป็นชุด ๆ แล้วการให้ยาจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความรุนแรงของโรคได้ แต่จะสามารถฆ่าเชื้อโรคที่อาจจะยังมีอยู่ให้หมดไปได้ในระยะ 3-4 วันเป็นการลดการแพร่กระจายของเชื้อได้
การรักษาตามอาการให้เด็กได้พักผ่อน ดื่มน้ำอุ่น อยู่ในห้องที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี หลีกเลี่ยงสาเหตุที่จะทำให้เด็กไอมากขึ้น เช่น การออกแรง ฝุ่นละออง ควันไฟควันบุหรี่ อากาศที่ร้อนหรือเย็นจัดเกินไป
การป้องกันไอกรน
ป้องกันโรคไอกรน ด้วยการพาเด็กไปรับวัคซีนตามอายุ ดังนี้
- ครั้งที่ 1 อายุ 2 เดือน
- ครั้งที่ 2 อายุ 4 เดือน
- ครั้งที่ 3 อายุ 6 เดือน
- ครั้งที่ 4 อายุ 18 เดือน
- ครั้งที่ 5 ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เมื่ออายุครบ 4 ปี
ขอบคุณข้อมูลจาก
สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย, pobpad
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก