ฝุ่น pm 2.5 กับปัญหาที่ประชาชนไทยต้องเผชิญ นับวันมีแต่หนักขึ้นโดยไร้มาตรการแก้ไข หมอวอนเร่งแก้ไข เพราะพบสถิติ ฝุ่นพิษ กระทบพัฒนาการสมองเด็ก
ฝุ่น pm 2.5 ไทยอ่วม ซ้ำร้ายหมอพบกระทบพัฒนาการสมองเด็ก!!
แพทย์ศิริราชฯ เผยฝุ่น PM2.5 ส่งผลกระทบเด็กตั้งแต่ในครรภ์จนถึงวัยเด็กเล็ก และผู้ป่วยโรคปอด-หัวใจ-ไต-สมองเรื้อรัง ล่าสุดเช้านี้ กทม. อากาศแย่ ฝุ่นพิษเกินค่ามาตรฐาน 70 พื้นที่ และ 17 จังหวัดภาคเหนืออากาศวิกฤต
กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ รายงานผลการคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กวันที่ 9 มี.ค. 2566 พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลอาจมีแนวโน้มฝุ่นละอองขึ้นสูงได้ในบางพื้นที่ หลังวันที่ 9 มี.ค. 2566 เป็นต้นไป สถานการณ์ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีแนวโน้มที่ดี เนื่องจากลมทางใต้ช่วยพัดพาฝุ่นละอองออกจากพื้นที่
พื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือมีแนวโน้มฝุ่นละอองขึ้นสูงในพื้นที่ภาคเหนือทั้งตอนบนและล่างระหว่างวันที่ 9-14 มี.ค. 2566 ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ รายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ ประจำวันที่ 8 มีนาคม 2566 ณ 07:00 น สรุปดังนี้
ภาพรวมปริมาณ PM2.5 ในประเทศพบเกินค่ามาตรฐานใน จังหวัดปทุมธานี, กรุงเทพฯ, นนทบุรี, นครปฐม, สมุทรสาคร, สมุทรปราการ, เชียงราย, เชียงใหม่, น่าน, แม่ฮ่องสอน, พะเยา, ลำพูน, ลำปาง, แพร่, อุตรดิตถ์, สุโขทัย, ตาก, พิษณุโลก, กำแพงเพชร, พิจิตร, เพชรบูรณ์, นครสวรรค์, อุทัยธานี, สิงห์บุรี, ลพบุรี, สระบุรี, อ่างทอง, สุพรรณบุรี, พระนครศรีอยุธยา, กาญจนบุรี, ราชบุรี, สมุทรสงคราม, ประจวบคีรีขันธ์, ปราจีนบุรี, สระแก้ว, ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, ระยอง, จันทบุรี, ตราด, บึงกาฬ, หนองคาย, เลย, อุดรธานี, นครพนม, หนองบัวลำภู, สกลนคร, ขอนแก่น, กาฬสินธุ์, ร้อยเอ็ด, ชัยภูมิ, อุบลราชธานี, ศรีสะเกษ, นครราชสีมา และจังหวัดบุรีรัมย์
ที่มา : https://workpointtoday.com
องค์กรอนามัยโลก (WHO) ตั้งค่าเฉลี่ยฝุ่นละออง PM 2.5 ในอากาศ ว่าหากมีเกินกว่า 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ถือเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ขณะที่ประเทศไทยกำหนดอันตรายของฝุ่น PM 2.5 อยู่ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
ภัยร้ายของฝุ่นจิ๋ว ที่ก่อปัญหาสุขภาพไม่จิ๋ว…สักนิด!!
ทำไมเราถึงต้องกลัว และเฝ้าระวังปัญหาของ ฝุ่น pm 2.5 กัน เมื่อฝุ่นก็อยู่คู่กับมนุษย์มาเป็นเวลานานแล้ว ดังนั้นมันไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เราจะต้องมาตื่นเต้นป้องกัน กันมิใช่หรือ
แต่ในความเป็นจริงแล้ว คุณรู้หรือไม่ว่าเจ้าฝุ่นจิ๋วตัวร้ายนี้ สามารถทำลายสุขภาพของคุณได้อย่างมากมาย
ปัญหาสุขภาพทางเดินหายใจ และปอด จาก ฝุ่น pm 2.5
ฝุ่น pm 2.5 ซึ่งเป็นมลพิษทางอากาศ จึงส่งผลโดยตรงกับระบบทางเดินหายใจ และปอด โดยเฉพาะฝุ่นที่มีขนาดเล็กที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เมื่อเราสูดดมเข้าไปสู่ทางเดินหายใจได้ง่าย และรวดเร็ว จะยิ่งส่งผลให้กระทบต่อปัญหาสุขภาพได้ง่ายยิ่งขึ้นไปอีก หากไม่รีบแก้ไข หรือไม่รู้ตัวว่าได้สูดเอามลพิษขนาดเล็กเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ และปอดจนสะสมเป็นเวลานาน อาจเป็นปัจจัยให้เกิดมะเร็งปอดได้ในที่สุด
ปัญหาฝุ่น ต่อภัยร้ายโรคหัวใจ
การสูดหายใจเอาฝุ่นละอองพิษเล็กจิ๋วติดต่อกันระยะหนึ่ง ส่งผลให้เกิดการตะกอนภายในหลอดเลือด จนทำให้เกิดหัวใจวาย หรือหลอดเลือดสมองตีบได้ ทั้งนี้การสัมผัสมลพิษทางอากาศยังมีผลต่อเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้เต้นผิดจังหวะ และอาจรุนแรงจนส่งผลให้หัวใจวายเฉียบพลัน
ฝุ่น pm 2.5 กับภัยร้ายต่อสมอง
เมื่อฝุ่นผงขนาดเล็กสามารถผ่านเข้าสู่กระแสเลือดและเกิดการสะสมขึ้น ส่งผลให้ความดันโลหิตสูง และเลือดมีความหนืด ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดลิ่มเลือดในสมอง รวมถึงหลอดเลือดแดงในสมองแข็งตัว ทำให้เส้นเลือดในสมองตีบ หรือแตก เป็นสาเหตุของโรคอัมพฤกษ์อัมพาตและเสียชีวิตได้
พบข้อมูลเพิ่มเติม … ฝุ่นpm 2.5 กระทบพัฒนาการสมองเด็ก
จากการติดตามเด็กอนุบาลจำนวน 115,023 คน จาก 551 เมืองในประเทศจีน พบว่าการสัมผัสฝุ่น PM2.5 ที่สูงตั้งแต่ในครรภ์จนถึงวัยเด็กเล็ก สัมพันธ์กับการมีคุณภาพการนอนในวัยเด็กที่แย่ลง โดยเฉพาะถ้าสัมผัสกับฝุ่นที่สูงในช่วงอายุ 0-3 ปีจะเกิดมากกว่าถ้าสัมผัสในช่วงที่ยังไม่คลอดออกมา ความผิดปกติที่เกิดขึ้นทำให้เด็กมีปัญหาการหายใจผิดปกติระหว่างการนอน และภาวะง่วงนอนมากตอนกลางวัน เด็กที่แรกคลอดไม่แข็งแรงต้องเข้าไอซียูจะพบความผิดปกติได้มากขึ้น ที่น่าแปลกใจคือเด็กที่กินนมแม่จนถึง 6 เดือน ก็พบความผิดปกติมากขึ้นด้วย
วางแผนกิจวัตรประจำวันอย่างไร? เมื่อพบค่าฝุ่นพิษ สูงเกินเกณฑ์
ในสภาพการณ์ในปัจจุบันที่พบว่ามีประเทศไทยมีค่าฝุ่น pm 2.5 สูง และสูงเกินเกณฑ์ในบางจังหวัด บางพื้นที่ ในขณะที่ทางภาครัฐยังไม่มีมาตรการใด ๆ ที่จะสามารถแก้ไขได้ในเร็ววัน เราประชาชนคงต้องมาวางแผนกิจวัตรประจำวันของเรากันเองเสียก่อน ว่าควรปฎิบัติตัวอย่างไร เมื่อต้องเผชิญกับฝุ่นพิษจิ๋ว
โดยให้เราหมั่นตรวจสอบคุณภาพอากาศจากแหล่งข้อมูลของรัฐและเอกชน หรือใช้เครื่องวัดปริมาณฝุ่นแบบพกพา หากพบว่าเกินเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
- สูงกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร กลุ่มเสี่ยง (เด็ก คนท้อง ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคปอด-หัวใจ-ไต-สมองเรื้อรัง) งดทำกิจกรรมกลางแจ้ง คนทั่วไปลดและปรับเวลาทำกิจกรรมกลางแจ้ง โดยใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา
- พบค่าสูงกว่า 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทุกคนต้องงดทำกิจกรรมกลางแจ้ง ยกเว้นคนที่ต้องทำหน้าที่บริการสาธารณะ ให้ใส่หน้ากาก N95 ตลอดเวลา
- สูงกว่า 150 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทุกคนควรอยู่ในตัวอาคารซึ่งติดตั้งระบบระบายและฟอกอากาศที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ยกเว้นคนที่ต้องทำหน้าที่บริการสาธารณะ ให้ใส่หน้ากาก N95 ตลอดเวลา และจำกัดช่วงเวลาปฏิบัติงานไม่ให้เกินครั้งละ 60 นาที
ขณะที่ปริมาณฝุ่นภายนอกขึ้นสูง ภายในตัวอาคารควรจัดให้มีระบบระบายและฟอกอากาศที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ปริมาณฝุ่นขึ้นสูง การออกกำลังกายสม่ำเสมอจะช่วยให้ร่างกายเกิดพิษภัยได้น้อยลง หลีกเลี่ยงหรือลดเวลาการออกกำลังกายกลางแจ้งตามระดับเตือนภัย
ข้อมูลจาก รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
อ่านต่อ >> ฝุ่นpm2.5 ฝุ่นพิษจิ๋ว อันตรายร้ายใกล้ตัวคุณ คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่