ทำให้เกิดโรคร้ายเหมือนกันแต่ Rhinovirus แตกต่างจาก RSV มาดูความเหมือนและความต่างของ 2 ไวรัสร้ายที่ทำให้ลูกน้อยเกิดโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ
Rhinovirus แตกต่างจาก RSV อย่างไร
อากาศเปลี่ยนมักจะเชื้อเชิญโรคร้ายให้มาเยือน โดยเฉพาะอากาศหนาวในเมืองไทย ที่มีฝนตกบ้างเป็นบางวัน อากาศเย็น ๆ แบบนี้ จะพบผู้ป่วยโรคระบาดเกี่ยวกับทางเดินหายใจมากเป็นพิเศษ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ย้ำเตือนเรื่องโรคภัยมาโดยตลอดในเพจ Yong Poovorawan โดยได้กล่าวถึงการระบาดของโรคทางเดินหายใจว่า มีการระบาดโรคทางเดินหายใจพบจากไวรัส 2 ตัว Human Rhinovirus (HRV) และ Respiratory Syncytial Virus (RSV)
- Human Rhinovirus พบมากกว่า เป็นได้ทุกช่วงอายุ ตั้งแต่เด็กเล็กจน เด็กโตและผู้ใหญ่
- RSV พบมากในเด็กเล็ก พบได้ เท่า ๆ กันกับ Rhinovirus
ศ.นพ.ยง ได้อธิบายถึง Human Rhinovirus เพิ่มเติมว่า Rhinovirus จะมี 3 กลุ่ม คือ A B และ C โดย Rhinovirus C จะมีอาการมากวาง A และ B กลุ่ม C บางรายลงหลอดลมจะมีหายใจเร็วและหอบ คล้าย RSV ทั้งนี้ Rhinovirus อาการจะมีไข้ต่ำ ๆ เท่านั้น แล้วตามมาด้วย หวัดและไอ
เชื้อร้ายทั้ง 2 ไวรัส อาจมีความเหมือนกันอยู่ แต่ก็มีข้อแตกต่างกันอยู่บ้าง มารู้จักไวรัสทั้ง 2 ชนิดนี้ได้ในบทความนี้ค่ะ
ไรโนไวรัส (Human Rhinovirus:HRV)
ไรโนไวรัส (Human Rhinovirus:HRV) เป็นสาเหตุหลักของอาการป่วยโรคหวัด (common cold) ซึ่งจะติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนบริเวณโพรงจมูกและอาจลามมาถึงช่องปาก อาการส่วนใหญ่ของผู้ป่วยมักจะไม่รุนแรงมาก โดยไรโนไวรัสจะเป็นเชื้อที่พบบ่อยที่สุดในผู้ป่วยทุกอายุ มักจะพบในช่วงที่มีอากาศเย็นหรือฤดูหนาว เพราะอุณหภูมิพอเหมาะต่อการเติบโตของไวรัส
ระยะฟักตัว Rhinovirus ที่ทำให้เกิดโรคหวัด
ปกติแล้ว Rhinovirus จะฟักตัวประมาณ 1-4 วัน และเกิดอาการต่าง ๆ ภายหลังการสัมผัสเชื้อ 1-3 วัน อาการเด่น ๆ ของโรคหวัด ในวันแรก ๆ น้ำมูกใส วันถัดไปน้ำมูกเปลี่ยนเป็นสีเขียว นอกจากนี้ อาจมีอาการเยื่อบุจมูกบวมแดง เยื่อบุตาแดง หรือต่อมน้ำเหลืองที่คอโตได้ สำหรับอาการของโรคหวัดในเด็กเล็กและโรคหวัดในเด็กโต จะแตกต่างกันนิดหน่อย ดังนี้
โรคหวัดในเด็กเล็ก
- มีไข้
- น้ำมูกไหล
โรคหวัดในเด็กโต
- เจ็บคอหรือระคายคอ
- ต่อมามีน้ำมูก คัดจมูก ไอ
HRV-A และ HRV-B จะเป็นไวรัสที่ทำให้เกิดหวัดธรรมดา พบบ่อยในเด็ก เพราะชอบอยู่ในที่ที่อุณหภูมิต่ำจึงอยู่ที่จมูก เมื่อเข้าหลอดลมที่อุณหภูมิสูงจะอยู่ไม่ได้ ทำให้เกิดเป็นหวัดธรรมดา โดยทั่วไปอาการของโรคหวัดธรรมดาจะเกิดขึ้น 7-14 วัน และมักจะหายได้เอง หมออาจจะให้ยาพาราเซตามอลและเช็ดตัวเพื่อลดไข้ เพื่อบรรเทาอาการ
แม้จะเริ่มด้วยอาการของโรคหวัด แต่ในผู้ป่วยเด็ก โรคหวัดมักจะเป็นการเริ่มต้นของโรคติดเชื้อทางเดินหายใจทั้งหมดที่เกิดจากเชื้อไวรัส โดย HRV-C เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ลงหลอดลมได้ ทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจ เช่น โรคปอดบวม โรคหลอดลมอักเสบ มักเกิดกับทางเดินหายใจส่วนล่างอักเสบ
อาการอันตรายหากติดเชื้อ HRV-C
เชื้อ HRV-C อาจทำให้เกิดโรคปอดอักเสบติดเชื้อได้ จึงมักมีอาการอื่นเพิ่มเติม เช่น ไอหอบ เหนื่อย เมื่อเกิดอาการปอดอักเสบติดเชื้อจึงก่อให้เกิดอันตรายได้มากขึ้น เพิ่มความเสี่ยงเสียชีวิตในเด็กเล็ก แต่เด็กโตและผู้ใหญ่ก็อันตราย อาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้ ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที จึงต้องคอยสังเกตอาการ ไข้สูง ไอมาก ไอปนเลือด มีเสมหะข้น หายใจหอบ ควรรับการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด
การรักษาการติดเชื้อ HRV แพทย์จะพิจารณาตามอาการและความรุนแรงของโรค โดยเฉพาะทารก เด็กเล็ก คนท้อง และผู้สูงอายุ ซึ่งถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดอันตรายร้ายแรงได้ และในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันไวรัสตัวนี้ได้
อาร์เอสวี (Respiratory Syncytial Virus:RSV)
อาร์เอสวี (Respiratory Syncytial Virus:RSV) มักจะเกิดการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง ประกอบด้วย หลอดลม หลอดลมส่วนปลาย และถุงลม โดยมีอยู่สองสายพันธุ์ คือ RSV-A และ RSV-B เป็นไวรัสก่อการติดเชื้อทางเดินหายใจของเด็กทั่วโลก โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี และมีการระบาดเกือบทุกปี
ระยะฟักตัว RSV
หลังรับเชื้อ RSV โดยเฉลี่ยจะมีระยะฟักตัวอยู่ที่ 4-6 วัน แสดงอาการได้เร็วที่สุดหลังติดเชื้อ 2 วัน และช้าที่สุดราว ๆ 8 วัน อาการของการติดเชื้อ RSV มีความใกล้เคียงกับการติดเชื้อไวรัส HRV โดยช่วงแรก ๆ มีอาการคล้ายไข้หวัดธรรมดา เช่น ไข้ ไอ จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล เด็กโตและผู้ใหญ่อาการมักไม่รุนแรงและหายได้เอง แต่ทารกหรือเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี ต้องระวัง เพราะร้อยละ 20-30 เมื่อมีการติดเชื้อเป็นครั้งแรกจะลุกลามไปยังทางเดินหายใจส่วนล่าง เกิดเป็นโรคหลอดลมใหญ่อักเสบ หลอดลมฝอยอักเสบและปอดอักเสบ ซึ่งสามารถสังเกตสัญญาณอันตรายได้ในอาการ ดังนี้
- ไข้สูง
- ไอแรง
- หอบเหนื่อย
- หายใจมีเสียงหวีดหวิว
- มีเสียงครืดคราดในลำคอ
เด็กที่อายุน้อยกว่า 1-2 ปี เด็กที่ภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรง เด็กที่คลอดก่อนกำหนด หรือผู้ที่มีโรคหัวใจหรือโรคปอดเรื้อรัง จะเพิ่มความเสี่ยง ภาวะแทรกซ้อน เช่น หูอักเสบ ไซนัสหรือปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน จนอาการรุนแรงขึ้นได้
อันตรายของไวรัส RSV
RSV สามารถก่อให้เกิดอาการรุนแรงในทารกและเด็กเล็ก ถึงขั้นเสียชีวิตได้ จึงต้องหมั่นสังเกตอาการของลูก หากพบว่ามีอาการผิดปกติอย่านิ่งนอนใจ เพราะ RSV ยังไม่มียารักษาโดยตรง ทำได้เพียงรักษาและให้ยาตามอาการ เช่น
- ยาลดไข้
- ยาแก้ไอละลายเสมหะ
- ในเด็กที่เสมหะเหนียวมาก ต้องพ่นยาขยายหลอดลมหรือน้ำเกลือผ่านทางออกซิเจนละอองฝอย เคาะปอดและดูดเสมหะออก
อาการสำคัญที่ต้องนอนโรงพยาบาล หากติดเชื้อไวรัส RSV ได้แก่ ไข้สูง ไม่กิน ไม่เล่น หายใจเร็วกว่าปกติ หายใจมีเสียงหวีด หงุดหงิดง่าย หรือเซื่องซึม และ RSV ก็ยังไม่มีวัคซีนป้องกันเช่นเดียวกับไวรัส HRV
ความแตกต่าง Rhinovirus และ RSV
- HRV หรือที่คุ้นเคยกันว่า Rhinovirus โดยปกติแล้วจะเกิดเป็นโรคหวัดธรรมดา หากพบว่าเป็นกลุ่ม HRV-A และ HRV-B อาการจะเบาบางกว่า แต่ถ้าติดเชื้อ HRV-C อาจก่อให้เกิดอาการที่รุนแรงได้ HRV พบได้ทุกเพศทุกวัย ทั้งทารก เด็กเล็ก เด็กโต และผู้ใหญ่ กลุ่มเสี่ยงที่อันตรายจะเป็นทารกและเด็กเล็ก คนท้อง ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว
- RSV พบมากในทารกและเด็กเล็ก โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี จะยิ่งเสี่ยงอันตรายร้ายแรง เพราะมักจะพบการรติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนล่างได้มาก RSV ยังแพร่ระบาดได้บ่อย พบเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะในช่วงหน้าฝนตลอดจนหน้าหนาว
วิธีป้องกันไวรัส HRV และ RSV
ทั้งสองไวรัสติดต่อได้ง่าย ผ่านทางน้ำมูก น้ำลายหรือสัมผัสสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่ง จึงติดกันได้ง่ายโดยเฉพาะเด็กวัยเรียน ตั้งแต่ศูนย์เด็กเล็ก เตรียมอนุบาล โรงเรียนอนุบาล หรือโรงเรียนประถม สำหรับวิธีป้องกันไวรัสร้ายทำได้ง่าย ๆ ดังนี้
- ล้างมือให้ถูกวิธี ทุกคนในครอบครัวต้องล้างมือให้บ่อยจนเป็นนิสัย โดยจะใช้สบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ก็ได้ และต้องคอยดูแลความสะอาดของทารกหรือเด็กเล็กมากเป็นพิเศษ เพราะวัยนี้ชอบหยิบ ชอบจับ ชอบสัมผัส แล้วเอามือเข้าปาก อมมือ ดูดนิ้วเป็นประจำ การล้างมือบ่อย ๆ ยังช่วยป้องกันโคโรนาไวรัส 2019 (โควิด-19) ได้อีกด้วย
- หลีกเลี่ยงการพาทารกหรือเด็กเล็ก ไปยังสถานที่ที่มีคนแออัด พื้นที่ที่คนพลุกพล่าน เพราะเสี่ยงต่อการรับโรคร้ายได้หลายโรค
- หมั่นทำความสะอาดบ้านเป็นประจำ อาจใช้น้ำยาฆ่าเชื้อที่ปลอดภัยกับลูกน้อยคอยถูบ้าน ทำความสะอาดของเล่น ของใช้ เป็นประจำ
- เปิดหน้าต่าง เปิดประตูบ้าน ในช่วงกลางวัน เพื่อให้อากาศถ่ายเท และรับแสงแดดเข้ามา
- คนในครอบครัวควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เพราะทารกหรือเด็กเล็กที่สูดดมควันบุหรี่ หรือแม้แต่บุหรี่ติดเสื้อ ก็สามารถทำให้เด็กเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อทางเดินหายใจมากขึ้น โดยเฉพาะการจะติดเชื้อไวรัส RSV เด็กที่ใกล้ชิดกับควันบุหรี่จะพบอาการรุนแรงมากกว่า
- ทารกที่อายุต่ำกว่า 6 เดือนควรได้รับนมแม่ที่เต็มไปด้วยสารอาหาร ภูมิคุ้มกัน และภูมิต้านทานโรค เมื่อลูกพ้น 6 เดือน ก็ยังสามารถเสริมน้ำนมแม่ไปได้เรื่อย ๆ
- ในเด็กเล็กต้องดูแลเรื่องสารอาหารให้ครบถ้วน ดูแลสุขอนามัย ให้ลูกดื่มน้ำและพักผ่อนอย่างเพียงพอ อาจพาลูกไปเดินเล่น สัมผัสอากาศนอกบ้านบ้างในวันที่อากาศดี
- เมื่อลูกในวัยเรียนเจ็บป่วย ไม่สบาย ควรให้เด็กหยุดอยู่บ้านเพื่อสังเกตอาการ ทั้งยังเป็นการลดการติดเชื้อได้ด้วย และหากพบสัญญาณอันตราย มีอาการหายใจเหนื่อย หอบ มีไข้สูง หรือมีไข้นานติดต่อกันหลายวัน ควรรีบไปพบแพทย์
ช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ๆ โดยเฉพาะหน้าฝนและหน้าหนาว พ่อแม่ต้องดูแลลูกอย่างใกล้ชิด คอยสังเกตความผิดปกติของลูกสม่ำเสมอ เมื่อลูกไม่สบายจะได้รักษาอย่างทันท่วงที
อ้างอิงข้อมูล : Yong Poovorawan, pidst, chulalongkornhospital และ car.chula.ac.th
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม
หมอเผยภาพ! ปอดเด็กที่ติด เชื้อไวรัส RSV พร้อมแนะวิธีป้องกันลูกจากโรค RSV
ภูมิแพ้ หวัด ไข้หวัดใหญ่ ต่างกันอย่างไร แยกให้ออกลูกเป็นโรคอะไรกันแน่!