ทุกบ้านต้องระวัง! เชื้อก่อโรคใน ข้าวมันไก่
หนึ่งในอาหารยอดนิยมของหลาย ๆ บ้าน แน่นอนว่าต้องมี ข้าวมันไก่ อยู่ในนั้นแน่ ๆ ไม่ว่าจะไปที่ไหน เราก็จะเห็นร้านข้าวมันไก่เสมอ ทั้งในรูปแบบร้านนั่งกิน ร้านรถเข็น ในตลาดสด ห้างสรรพสินค้า แต่ข้าวมันไก่ก็มีเชื้อที่ก่อโรคให้เราต้องระวังเหมือนกันนะคะคุณพ่อคุณแม่ จะป้องกันและระวังอย่างไรมาดูกันค่ะ
เชื้อก่อโรคใน ข้าวมันไก่
ช่วงหน้าร้อนนี้การเลือกทานอาหารจะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะอากาศที่ร้อนจะทำให้อาหารเน่าเสียง่าย และทำให้มีเชื้อก่อโรคปนเปื้อน เช่น สแตปฟิโลค็อคคัส ออเรียส
เชื้อโรคมาจากไหน
เชื้อชนิดนี้พบได้ในอากาศ ฝุ่น ขยะ น้ำ อาหารที่ทำจากเนื้อสัตว์ สัตว์ปีก ไข่ และพบอยู่ตามทางเดินหายใจ ลําคอ เส้นผมและผิวหนังของคน ฉะนั้น อาหารที่ต้องสัมผัสมือผู้ปรุงหลังปรุงสุกและเก็บไว้ในอุณหภูมิที่ไม่เหมาะสมเป็นเวลานาน ๆ อาจทำให้มีเชื้อชนิดนี้ปนเปื้อนได้ อย่างเช่น ข้าวมันไก่ที่ขณะรอขาย ผู้ขายมักวางเนื้อไก่ต้มและข้าวมันไว้ที่อุณหภูมิห้องเป็นเวลานานและไม่อุ่นให้ร้อนก่อนเสิร์ฟหรือขายให้ลูกค้า
พบสารปนเปื้อนเกินมาตรฐาน
สถาบันอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้เก็บตัวอย่างข้าวมันไก่จำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 5 ร้าน ในเขตกรุงเทพฯ เพื่อนำมาวิเคราะห์เชื้อ สแตปฟิโลค็อคคัส ออเรียส ปนเปื้อน ผลปรากฏว่ามีข้าวมันไก่ 1 ตัวอย่าง พบเชื้อ สแตปฟิโลค็อคคัส ออเรียส ปนเปื้อนเกินเกณฑ์มาตรฐานของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่กำหนดให้อาหารพร้อมบริโภคทั่วไปพบเชื้อ สแตปฟิโลค็อคคัส ออเรียส ปนเปื้อนได้ไม่เกิน 100 ซีเอฟยู/กรัม
อาการเมื่อได้รับเชื้อจาก ข้าวมันไก่
เมื่อเราได้รับเชื้อสแตปฟิโลค็อคคัส ออเรียส เข้าสู่ร่างกาย จะทำให้เกิดอันตรายคือ เกิดโรคอาหารเป็นพิษ ทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง อ่อนเพลีย รายที่รุนแรงจะมีอาการปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ความดันเปลี่ยนแปลง อาการจะดีขึ้นภายใน 3 วัน
อาการโรคอาหารเป็นพิษ
- อาเจียนรุนแรง หรือถ่ายมากผิดปกติ (มากกว่า 8-10 ครั้งต่อวัน)
- มีไข้
- ซึม ไม่มีแรง อ่อนเพลีย มือเท้าเย็น
- ปัสสาวะสีเข้ม ปัสสาวะน้อย หรือไม่ปัสสาวะเกิน 6 ชั่วโมง
- หากเป็นเด็กเล็ก อาจมีอาการปากแห้ง ตาโหล ร้องไห้แบบไม่มีน้ำตา
อาหารเสี่ยงต่อการเกิดอาหารเป็นพิษ
- อาหารสด สุก ๆ ดิบ ๆ หรือผ่านความร้อนไม่เพียงพอ
- อาหารที่มีรสจัด เผ็ดจัด เปรี้ยวจัด หรือเค็มจัด
- อาหารหมักดอง อาหารกระป๋อง ที่พบว่ามีรอยบุบ รอยรั่ว หรือขึ้นสนิม
- อาหารที่ผลิตหรือปรุงไม่สะอาดเพียงพอ เช่น ใช้เขียงหั่นเนื้อสัตว์สดกับผักลวกร่วมกัน
- อาหารที่มีแมลงวันตอม
- อาหารที่ปรุงสุกตั้งแต่เช้า โดยไม่มีการอุ่นร้อน
- อาหารที่มีกะทิเป็นส่วนผสมแล้วปรุงทิ้งไว้นานหลายชั่วโมง
- น้ำแข็งที่ผลิตไม่ได้มาตรฐาน
วิธีดูแลตนเองเมื่อมีอาการอาหารเป็นพิษ
- ปกติสามารถหายได้เองภายใน 24-48 ชั่วโมง โดยให้รักษาตามอาการคือ รับประทานเกลือแร่ทดแทนและยาแก้คลื่นไส้ อาเจียน
- งดรับประทานอาหารประเภทนม ผลไม้ อาหารรสจัด อาหารสุก ๆ ดิบ ๆ อาหารหมักดอง
- พักผ่อนให้มากขึ้น ดื่มน้ำมาก ๆ งดการทำกิจกรรมหนัก ๆ เช่น ออกกำลังกาย ทำงานบ้านหนัก ๆ
- ไม่จำเป็นต้องรับประทานยาปฏิชีวนะ หากอาการไม่ดีขึ้นให้รีบพบแพทย์
การรักษาอาหารเป็นพิษ
เนื่องจากผู้ที่ป่วยเป็นอาหารเป็นพิษส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง และไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะในการฆ่าเชื้อ จึงเป็นการรักษาตามอาการของผู้ป่วยแต่ละคน ซึ่งมีแนวทางดังนี้
- หากมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ให้รับประทานยาบรรเทาอาการคลื่นไส้
- หากมีอาการท้องเสีย ให้ดื่มน้ำเกลือแร่เพื่อทดแทนน้ำที่สูญเสียไป โดยค่อย ๆ จิบ จนกว่าอาการท้องเสียที่เป็นอยู่จะดีขึ้น
- หากมีไข้ ให้รับประทานยาลดไข้ เช่น พาราเซตามอล
ในกรณีที่ต้องรักษาด้วยการให้ยาปฏิชีวนะ แพทย์จะพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะกับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง หรือภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เพื่อช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่มีอยู่ในร่างกาย
ขอบคุณข้อมูลจาก
ไทยรัฐออนไลน์,โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก