รู้จักกับ เชื้อไวรัสโรต้า ให้มากขึ้น
เชื้อไวรัสโรต้าส่วนมากพบในเด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ขวบเกือบทุกคน จะติดเชื้อไวรัสนี้อย่างน้อยสักครั้งหนึ่ง การติดต่อของโรคนี้ เกิดจากการกินสิ่งปนเปื้อนอุจจาระที่มีเชื้อนี้ เช่น เด็กมือเปื้อนแล้วอมหรือดูดนิ้ว หรือเชื้อ/อุจจาระติดกับของเล่น หรือเครื่องใช้ จึงเป็นโรคป้องกันค่อนข้างยาก ดังนั้นจึงมักมีการระบาดของไวรัสโรตาในโรงเรียนเด็กเล็ก หรือสถานเลี้ยงเด็ก เด็กเล็กโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่อายุน้อยกว่า 3 เดือน จะมีภูมิคุ้มกันต้านทานต่อ เชื้อไวรัสโรต้า ที่ผ่านรกมาจากแม่ตั้งแต่อยู่ในครรภ์และเด็กที่กินนมแม่จะมีภูมิคุ้มกัน เชื้อไวรัสโรต้า
เชื้อไวรัสโรต้าที่อยู่ในตัวเด็กที่เป็นโรค จะแพร่ไปให้ผู้อื่นทางอุจจาระได้ ตั้งแต่ประมาณ 1-2 วันก่อนมีอาการท้องร่วงจนกระทั่งประมาณ 10 วันหลังจากเริ่มมีอาการ ในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง จะพบเชื้อในอุจจาระนานกว่า 30 วันหลังจากการติดเชื้อ ทั้งนี้ เชื้อที่ออกจากร่างกาย ไปติดตามสิ่งของต่างๆ จะคงทนอยู่นานหลายเดือน หากไม่เช็ดออกด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ ซึ่งเชื้อเหล่านี้สามารถก่อให้เกิดการติดโรคได้เช่นกัน
วิธีสังเกตอาการ ลูกติดเชื้อไวรัสโรต้า
เมื่อได้รับเชื้อไวรัสโรต้าเข้าสู่ร่างกาย จะมีระยะฟักตัวสั้น คือส่วนใหญ่น้อยกว่า 48 ชั่วโมง (ระยะเวลาตั้งแต่ 1-7 วัน) เชื้อเมื่อเข้าสู่ทางเดินอาหารที่ลำไส้เล็กจะทำลายผนังลำไส้เล็ก ทำให้การดูดซึมน้ำและเกลือแร่ลดลง และเอนไซม์ สำหรับย่อยคาร์โบไฮเดรตผิดปกติ ทำให้มีอาการท้องร่วง/ท้องเสีย/ท้องเดิน ถ่ายเป็นน้ำ ไม่มีมูกหรือเลือดปน เด็กอาจจะมีไข้ มีน้ำมูกและไอเล็กน้อยนำมาก่อนคล้ายการติดเชื้อไวรัสอื่นๆ แต่จะมีอา การช่วงสั้นๆแล้วมีอาการทางเดินอาหารตามมา มักมีอาเจียนมากใน 1-2 วันแรก และท้องร่วงเป็นน้ำพุ่งหลายครั้ง หากไม่ได้รับเกลือแร่เพียงพอจะท้องอืดมาก อาจถ่ายอุจจาระมากจนก้นแดง อาการอาเจียนจะเป็นในช่วงสองวันแรกแล้วดีขึ้น แต่ท้องร่วงจะอยู่นานประมาณ 5-7 วัน
รีบพาลูกน้อยพบแพทย์ด่วน หากมีสัญญาณเตือน ต่อไปนี้
- เด็กมีอาการซึมลง
- ปัสสาวะน้อยหรือไม่ปัสสาวะเลยใน 4-6 ชม.
- ตัวเย็นหรือมีไข้สูง
- มีอาการหอบเหนื่อย
- มีอาการชัก
- อาเจียนมาก ไม่สามารถให้กินได้
- เชื้อไวรัสโรต้า ป้องกันไว้ ดีกว่ารักษา
วิธีป้องกันเชื้อไวรัสโรต้า
ปัจจุบันไวรัสโรต้าเป็นเชื้อไวรัสที่ไม่มียารักษา ดังนั้น การรักษาจึงสามารถทำได้โดยรักษาตามอาการเท่านั้น วิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือ การล้างมือบ่อยๆ ก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง หมั่นดูแลทำความสะอาดสิ่งของเครื่องใช้ พร้อมเสริมภูมิคุ้มกันด้วยนมแม่ และหลีกเลี่ยงการพาเด็กไปในสถานที่แออัด โดยเฉพาะช่วงที่มีการระบาดของโรค ซึ่งในปัจจุบันพ่อ-แม่สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสโรต้าได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ด้วยการรับวัคซีนเสริมภูมิคุ้มกัน โดยเริ่มหยอดวัคซีนได้ตั้งแต่อายุ 6 สัปดาห์
ที่มา : http://www.siphhospital.com / www.haamor.com
อ่านต่อ บทความน่าสนใจอื่นๆ
รู้จัก ไวรัสโรต้า ต้นเหตุลูกน้อยท้องร่วง พร้อมราคาวัคซีน
เสียหลานชายวัย 1 ขวบ เพราะ โรต้าไวรัส
แพ็คเกจวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้า ประจำปี 2560
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่